นายกรัฐมนตรีขอให้สหรัฐฯ ทบทวนเรื่องตัดสิทธิ GSP อีกครั้ง ก่อนมีผลบังคับใช้

นายกรัฐมนตรีได้ขอให้สหรัฐฯ ทบทวนเรื่องการตัดสิทธิ GSP ของไทยก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนปีหน้า ขณะที่สหรัฐรับปากที่จะพิจารณา

วิลเบอร์ รอสส์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี – ภาพจากเว็บไซต์ ASEAN 2019

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องในวันนี้นั้น ทางด้านของ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการหารือระหว่าง วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในเรื่องของประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP)

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงทางด้านของนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ว่า รัฐบาลไทยกังวลในเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชนและสาธารณชนในเรื่องของ GSP แต่ไทยเข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐพร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

การสั่งระงับ GSP ไทย นั้นมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 39,200 ล้านบาท (1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ) ​เนื่องจาก ไทยล้มเหลวในการจัดการสิทธิแรงงานไม่ได้ตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

ข้อมูลจากกรมการค้าระหว่างประเทศ สำหรับคุณสมบัติของประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP ได้แก่

  1. ระดับการพัฒนาประเทศ โดยสหรัฐฯ นั้นจะพิจารณาจาก GNP Per Capita ของ World Bank
  2. การเปิดตลาดสินค้าและบริการ ประเทศที่ได้รับสิทธิต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล
  3. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศผู้รับสิทธิจะต้องมีระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ
  4. การคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะต้องมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
  5. กำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจน และลดข้อจำกัดทางการค้าของประเทศที่ได้รับสิทธิ
  6. ให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย

โดยสหรัฐจะบังคับใช้การระงับสิทธิ GSP ของไทยในวันที่ 25 เมษายน 2563 นี้

ขณะที่มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐส่งผลกับไทยน้อยมาก เนื่องจากสินค้าของไทยจะได้รับผลกระทบเพียงแค่ 4.1% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดที่ไปยังสหรัฐ อย่างไรก็ดีศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการตัดสิทธิ GSP อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแรงกดดันทางการค้าต่อไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องรับมือจากความไม่แน่นอนถ้าหากสหรัฐฯ กดดันไทยในด้านการค้ามากขึ้น

ที่มา – TNN24, หนังสือพิมพ์มติชน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ