โรงพยาบาลพระรามเก้าถึงเวลาทรานส์ฟอร์มสู่ Digital Hospital

จากการแข่งขันอันดุเดือดในธุรกิจโรงพยาบาล อีกทั้งการเติบโตของประชากรผู้สูงอายุ ทำให้โรงพยาบาลพระรามเก้าต้องลุกขึ้นมารีแบรนด์ครั้งใหญ่ ทรานส์ฟอร์มสู่ Digital Hospital วางภาพลักษณ์ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้แม้ไม่ต้องเจ็บป่วย

รีแบรนด์ครั้งใหญ่ และครั้งแรก

ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีการเคลื่อนไหวค่อยข้างสูงในยุคนี้ มีปัจจัยเสริมหลายอย่างทั้งจากเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนไทยมากขึ้น การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุที่คาดว่ามีสัดส่วน 20% ของจำนวนประชากรในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้มีผู้สูงอายุเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นอีกแน่นอน

อีกทั้งนโยบายการผลักดันให้เมืองไทยเป็น Medical Hub ของภาครัฐ ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยมากขึ้น ยิ่งส่งเสริมให้ธุรกิจโตมากขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันก็ทำให้การแข่งขันในตลาดสูงมากขึ้นด้วย เพราะต่างคนต่างต้องงัดหมัดเด็ดของตัวเองออกมา

จึงทำให้โรงพยาบาลพระรามเก้า อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวในการรีแบรนด์ปรับภาพลักษณ์แบรนด์แบบยกเครื่องครั้งใหญ่ตั้งแต่เปิดให้บริการมา 26 ปี มีการใช้โลโก้ใหม่ และใช้สีที่ดูอ่อนโยน เข้าถึงได้มากขึ้น 

นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า บอกว่า

จุดอ่อนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็คือคนรู้จักน้อย เพราะที่ผ่านมามุ่งแต่เรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ทำการตลาด ส่วนใหญ่เป็นปากต่อปากกันว่าที่นี่เด่นเรื่องอะไร ตอนนี้ต้องการให้คนรับรู้มากขึ้น จึงต้องลุกขึ้นมาทำตลาด รอปากต่อปากอย่างเดียวไม่ได้

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โรงพยาบาลพระรามเก้าต้องสร้างแบรนด์มากขึ้นก็คือ ทำเลที่ตั้งกำลังจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ เพราะย่านพระรามเก้ารัชดา จะเป็น CBD แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ มีศูนย์การค้า ออฟฟิศ มีประชากรหนาแน่น ทำให้ต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

5 กลยุทธ์ ปรับทัพสู้ศึกในตลาด

ในการรีแบรนด์ครั้งนี้ ได้เปิดแผนการตลาดโดยมี 5 กลยุทธ์หลักได้แก่

  1. ขยายเครือข่ายพันธมิตร
    ด้วยความที่โรงพยาบาลพระรามเก้าเป็นรูปแบบ Stand Alone จำเป็นต้องสร้างพันธมิตร มีส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโต ปัจจุบันมีโรงพยาบาลพันธมิตรทั้งหมด 9 แห่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี จันทบุรี ตรัง อุบลราชธานี ชุมพร และนครสวรรค์ โดยแต่ละแห่งจะส่งต่อผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนอย่างโรคไตมาให้โรงพยาบาล การมีพันธมิตรทำให้แข่งขันในตลาดได้ดีมากขึ้น
  2. ทุ่มงบ 2,000 ล้าน สร้างอาคารใหม่
    อาคารใหม่สูง 16 ชั้น พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร มีศูนย์ดูเรื่องการเจ็บปวด หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ภายใต้แนวคิด Co-Healthy Space สร้างแนวคิดว่าไม่ต้องป่วยก็มาได้ เน้นดูแลสุขภาพรักษาพยาบาล และบริการด้านไลฟ์สไตล์ คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
  3. Digital Hospital นำเทคโนโลยีมาช่วย
    เอาเทคโนโลยีเข้ามาสร้างบริการใหม่ๆ พัฒนาเทคโนโลยีมาสนับสนุนบริการรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ป่วย และลดภาระการทำงานของพนักงานได้
  4. ขยายขอบเขตการให้บริการในการส่งเสริมสุขภาพ
    จากเดิมที่หลายคนมีความคิดว่ามาโรงพยาบาลก็เพื่อมารักษาอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนแนวคิด และเพิ่มบริการให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การตรวจหาโรค ประเมินความเสี่ยงสุขภาพ รวมถึงบริการด้านสุขภาพ
    อื่นๆ เช่น ศูนยสุขภาพเส้นผม ศูนย์ผิวหนัง และศัลยกรรมความงาม ศูนย์รักษาอาหารปวด และเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น
  5. การตลาดเชิงรุก ปรับภาพลักษณ์องค์กร
    เป็นครั้งแรกที่มีการทำการตลาดชัดเจนมากที่สุด ปรับภาพลักษณ์ให้เป็น Professtional Healthcare Community หรือศูนย์รวมเพื่อสุขภาพในการใช้ชีวิต และใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารมากขึ้น 

เป้าหมายต้องเป็น Digital Hospital ใน 3 ปี

การทรานส์ฟอร์มของโรงพยาบาลพระรามเก้าในครั้งนี้มีเป้าหมายคือต้องเป็น Digital Hospital ภายใน 3 ปีให้ได้ มีการลงทุนด้านไอทีปีละ 50 ล้านบาท มีการเตรียมอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆ รวมถึงวางระบบปฏิบัติการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน

ปัจจุบันกำลังทดลองใช้โปรแกรม Digital Health มีแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วย ห้องระบบศูนย์บัญชาการควบคุม อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถติดตัวได้ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพแก่ผู้ป่วยที่อยู่ทางไกล (Telemedicine)

นายแพทย์สุธร ชุตินิยมการ รองกรรมการผู้อำนวยการ (ฝ่ายบริหาร) และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการ (ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ) โรงพยาบาลพระรามเก้า บอกว่า

การจะเป็น Digital Hospital มีการเอาเทคโนโลยีมาใช้ครอบคลุม เช่น ให้คนไข้ทำการดำเนินการด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ใช้เทคโนโยีมาช่วยลดระยะเวลา พัฒนาแอพในการสั่งการรักษาพยาบาล สร้างความถูกต้อง ลดข้อผิดพลาด เพิ่มความปลอดภัย คุณภาพการสั่งยา มองภาพจะสมบูรณ์ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

มีการวางแผนออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน ได้แก่ เฟสแรกคือช่วงวางระบบอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆ เฟสที่สองเริ่มเอาเทคโนโลยีอย่างแอพพลิเคชั่นมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนไข้ และให้พนักงานปฏิบัติงานได้ดีขึ้น และในเฟสสุดท้ายคือจะต้องเป็นองค์กรที่มีการทำงานแบบ Paperless ทุกอย่างทำผ่านระบบหมด

สรุป

การแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลดุเดือดมากขึ้น เห็นได้จากเครือข่ายรายใหญ่ๆ ต่างทุ่มงบทำการตลาดอย่างหนัก ต้องมีการแย่งฐานลูกค้ากันยกใหญ่ การที่โรงพยาบาลพระรามเก้าขึ้นมาปรับตัวก็เป็นผลดีต่อแบรนด์ และอุตสาหกรรม พัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา