“สุรศักดิ์ อารีย์สว่างกิจ” กับภารกิจปั้น Power Plus ธุรกิจให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ให้เติบโตในไทย

ธุรกิจให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ในไทยอาจค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งมีให้บริการกันจริงๆ เมื่อปี 2562 แต่ภาพรวมธุรกิจนี้มีอะไรมากกว่าแค่ให้เช่าเพาเวอร์แบงค์หรือไม่ ลองมาทำความเข้าใจผ่านมุมมองของผู้บริหาร Power Plus กัน

power plus

จุดเริ่มต้นคือโอกาสที่เปิดกว้าง

ธุรกิจให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ในประเทศจีนมีมา 3-4 ปีแล้ว ผ่านการเข้ามาตอบโจทย์เหตุการณ์แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือใกล้หมด และต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปี ผู้บริโภคถึงเริ่มเปิดใจใช้งาน ผ่านการไม่พกเพาเวอร์แบงค์อีกต่อไป เพราะมีความสะดวกในการหาเช่าเพาเวอร์แบงค์ที่ใดก็ได้ ทั้งยังนำไปคืนในจุดใดก็ได้เช่นกัน

สุรศักดิ์ อารีย์สว่างกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โน เรส ไอที จำกัด เจ้าของแบรนด์ Power Plus เล่าให้ฟังว่า แม้บริษัทจะไม่ใช่ผู้ให้บริการเช่าเพาเวอร์แบงค์รายแรกในไทย แต่ด้วยโอกาสที่ยังเปิดกว้าง ผ่านการเรียนรู้การใช้งานเพาเวอร์แบงค์ให้เช่าของคนไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจนี้ตั้งแต่กลางปี 2562

power plus

“ก่อนหน้า Power Plus มีแบรนด์ให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ หลายรายเริ่มต้นไปก่อนเรา แต่ด้วยเรามี การเรียนรู้รูปแบบธุรกิจนี้จากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน เราจึงนำความสำเร็จของบริการนี้ในประเทศจีนมาต่อยอด และปรับให้เข้ากับการใช้งานของคนไทยมากที่สุด ทำให้ Power Plus เริ่มวางตู้เช่าเพาเวอร์แบงค์ในช่วงปลายปี และขยายตัวต่อเนื่อง”

แตกต่างด้วยความเข้าใจผู้ใช้งาน

สำหรับ Power Plus ปัจจุบันให้บริการตู้ให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ 2 แบบคือ ตู้ขนาดเล็กที่มีเพาเวอร์แบงค์ให้เช่า 8 ชิ้น กับตู้ขนาดใหญ่ที่มีเพาเวอร์แบงค์ให้เช่า 48 ชิ้น พร้อมหน้าจอเพื่อทำสื่อโฆษณา คิดค่าบริการให้เช่าเพาเวอร์แบงค์เริ่มต้น 10 บาท/ชม. ถึง 45 บาท/วัน

ส่วนกลยุทธ์ธุรกิจของ Power Plus จะดำเนิน 2 รูปแบบไปพร้อมๆ กันคือ รายได้จากการให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ โดยบางตู้จะแบ่งรายได้ให้กับผู้นำตู้ไปตั้ง และอีกช่องทางคือรายได้จากการทำสื่อโฆษณา แบรนด์สินค้าที่สนใจสามารถลงสื่อโฆษณา พร้อมระบุแหล่งที่พบเห็นโดยอ้างอิงจากตู้เช่าเพาเวอร์แบงค์ขนาดใหญ่ได้

“Power Plus ต้องการทำราคาออกมาให้เข้าถึงง่าย เพื่อช่วยเปิดใจให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้ แต่อย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่า บริการเช่าเพาเวอร์แบงค์ในไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งผู้บริโภคถึงจะเปิดใจ เราจึงเน้นในเรื่องของการสร้างการรับรู้ เพื่อให้ลูกค้ารับทราบถึงบริการนี้”

power plus

พาร์ทเนอร์ที่ดีย่อมช่วยสร้างการเติบโต

อย่างไรก็ตามการเดินหน้าธุรกิจของ Power Plus จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่เชื่อใจ โดยทางบริษัทได้เจรจากับร้าน ร้านสะดวกซัก Otteri, ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต, MBK, อีสพาร์ค และเกตเวย์เอกมัย รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ มหาวิทยาลัยหอการค้า โดยสถานที่ดังกล่าวจะมีตู้เช่าเพาเวอร์แบงค์ขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมากไปติดตั้งไว้

นอกจากนี้บริษัทยังสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในงานอีเวนท์ต่างๆ เช่นคอนเสิร์ต, งานจำหน่ายสินค้า หรืออื่นๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานกรณีที่โทรศัพท์มือถือของผู้ร่วมงานแบตเตอรี่ใกล้หมด ซึ่งทั้งสองกลยุทธ์นี้ทำให้ Power Plus มียอดดาวน์โหลดใช้งานกว่า 50,000 ครั้ง

“ถึงตอนนี้เรามีตู้ให้บริการมากกว่า 500 จุดทั่วกรุงเทพ และปริมณฑล โดยตั้งเป้าหมายในการขยายตู้ให้บริการไว้ที่ 8,000 แห่งภายในปีนี้ ถือเป็นอีกความท้าทายของเราในช่วงที่สถานการณ์ประเทศไทยยังไม่ปกติ ผ่านการระบาดของ COVID-19”

เดินหน้าเหมือนเดิมแม้เจอ COVID-19

การเดินหน้าธุรกิจของ Power Plus ค่อนข้างมีปัญหาไม่น้อย เพราะหลังจากเปิดให้บริการไม่นาน โรค COVID-19 เกิดการระบาดในไทย ถึงขั้นห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร และสถานที่อื่นๆ ต้องปิดบริการ ซึ่งตู้เช่าเพาเวอร์แบงค์ของ Power Plus ต่างอยู่ในที่ดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องปรับตัวในเรื่องต่างๆ

power plus
การพัฒนาแอปพลิเคชั่น Power Plus ให้มีบริการอื่นๆ

การพัฒนาแอปพลิเคชั่น Power Plus ให้มีบริการอื่นๆ

“เราให้พนักงาน Work form Home ตั้งแต่เดือนมี.ค. และเข้าไปเจรจากับร้านค้าต่างๆ เพื่อให้พวกเขานำตู้ให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ไปติดตั้ง รวมถึงหาพาร์ทเนอร์รายใหม่เพื่อมาทำโปรโมชั่นร่วมกัน เช่นส่วนลดร้านอาหาร หรือบริการออนไลน์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ Power Plus เดินหน้าได้ทันทีหลังการผ่อนคลายล็อคดาวน์จากภาครัฐ”

ทั้งนี้ในมุมของรายได้ Power Plus จะมีอยู่ทั้งหมด 2 ส่วน คือจากการเช่า Power Bank และ การขายหน้าจอโฆษณา โดยเป้าหมายของเราในตอนนี้คือการขยายจำนวนตู้ให้เช่าเพาเวอร์แบงค์ออกไปให้มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือการร่วมมือติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PT ทุกสาขา เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภคให้เหมือนกับการมีเพาเวอร์แบงค์ติดตัวอยู่ตลอดเวลา

สรุป

เมื่อธุรกิจให้เช่าเพาเวอร์แบงค์เป็นเรื่องใหม่ การสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการพยายามสื่อสารด้วยการไปร่วมอีเวนท์, อยู่ในห้างสรรพสินค้า และจุดที่ลูกค้าต้องไปใช้ชีวิต คือสิ่งที่ Power Plus ต้องเร่งทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ต้องติดตามกันว่า Power Plus จะรักษาอัตราการขยายตัวได้ตามเป้าหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา