ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ หน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์, ตราสารหนี้, หรือแม้แต่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ
ที่มา Bloomberg, Data as of May 31, 2020
จากกราฟด้านบนซ้ายมือ (สีเหลือง) แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวลงที่ลึกที่สุด (Draw down) ของสินทรัพย์ต่างๆ และการจัดพอร์ตโฟลิโอระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 สิ่งที่เราสังเกตได้ชัดเจนก็คือสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นจะมีการปรับตัวลงที่รุนแรงโดยลดลงไปประมาณ -30% โดยเฉพาะ SET Index ของไทยเราปรับตัวลดลงค่อนข้างลึกถึง -35.99% สำหรับสินทรัพย์อื่นๆ ตราสารหนี้ทั่วโลก และทองคำ ก็มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน -8.77% และ -12.45% แต่ก็ยังไม่หนักเท่ากับสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตามเมื่อมองข้อมูลด้านขวา (สีม่วง) ที่เป็นการปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ราคาลดลงไปในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคมจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมจะเห็นได้ว่าราคาหุ้นนั้นสามารถดีดตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นนั้น จะมีความผันผวนที่สูง สามารถปรับตัวลงได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันนั้นหากตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น ตลาดหุ้นก็สามารถที่จะกลับตัวฟื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน คุณลักษณะเช่นนี้อาจจะดีกับนักลงทุนบางกลุ่ม ผู้ที่ชอบการซื้อ-ขายระยะสั้นๆหรือผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูง แต่ถ้านักลงทุนที่ไม่ได้ต้องการความผันผวนขนาดนั้นหรือผู้ที่ไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงสูงจะทำอย่างไร?
การกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์หรือ Asset Allocation จะสามารถเข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ กล่าวคือหากไม่สามารถลงทุนในหุ้นที่ผันผวนได้มาก ก็ให้เลือกลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนที่ตนเองยอมรับไหว ในขณะเดียวกันก็ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาฯ ด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกราฟแท่งด้านบนจะพบว่าการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอนั้นมีการปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดหุ้นเมื่อตลาดเป็นขาลง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอก็จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่าเช่นกัน
และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขความผันผวนย้อนหลัง 1 ปี ก็จะสอดคล้องกับตัวเลขข้างต้นของหลักการกระจายความเสี่ยงที่ว่า การลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอราคาปรับตัวลงน้อยกว่าและขึ้นน้อยกว่าตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอ(สีม่วง) จะมีความผันผวนที่น้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวอย่างหุ้น (สีเหลือง)
กราฟแสดงความผันผวนของสินทรัพย์และพอร์ตโฟลิโอระดับความเสี่ยงต่างๆ (1ปี)
ที่มา Bloomberg, Data as of May 31, 2020
ประโยชน์ของการลงทุนแบบพอร์ตโฟลิโอที่มีความผันผวนต่ำจะช่วยให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่ผันผวนมากซึ่งเหมาะกับการวางแผนลงทุนในระยะยาว และประโยชน์อีกอย่างหนึ่งการลงทุนลักษณะนี้ เมื่อลงทุนแล้วการขาดทุนที่น้อยกว่าจะทำให้การกลับมาอยู่ที่จุดเดิมก่อนราคาเริ่มปรับตัวลงไปนั้นง่ายกว่า เช่น หากเราลงทุน 100บาท แล้วขาดทุน 10% เงินต้นเราจะเหลือ 90 บาท ในกรณีแรกหากต้องการให้พอร์ตลงทุนกลับไปที่จุดเดิม 100 บาท เราต้องลงทุนให้ได้กำไร 11% จึงจะกลับไปที่เดิมได้ แต่หากพอร์ตลงทุนเราขาดทุนถึง 50% คือมูลค่าลดลงเหลือ 50 บาท ในกรณีนี้เราจะต้องลงทุนให้ได้กำไรถึง 100% จึงจะกลับไปที่ 100 บาทได้ และหากเราเลือกลงทุนผิดเวลา เข้าไปลงทุนในวันที่ราคาสูงสุดก่อนเจอวิกฤติ ในพอร์ตลงทุนแบบยอมรับความเสี่ยงการลงทุนได้ต่ำ ณ สิ้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาพอร์ตการลงทุนก็แทบจะไม่ขาดทุนแล้ว หรือพอร์ตลงทุนยอมรับความเสี่ยงสูงก็ขาดทุนอยู่เพียง 10% ซึ่งการกลับไปอยู่ที่เดิมก็อยู่ในวิสัยที่จะสามารถแก้ไขได้ ดังนั้นการวางแผนจัดพอร์ตลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการลงทุน
จากวิกฤติหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาในอดีตจนถึงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะเห็นได้ว่าการจัดพอร์ตโฟลิโอลงทุนจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ดี การปรับตัวลดลงของพอร์ตลงทุนโดยรวมในช่วงวิกฤติทำได้ดีกว่า ดังนั้นการจัดพอร์ตโฟลิโอลงทุนก็จะเป็นเหมือนภูมิต้านทานที่ช่วยทำให้มีความมั่งคั่งอย่างมั่นคง สำหรับบล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) มีบริการ ROBO ADVISOR ซึ่งเป็นบริการวางแผนลงทุนและจัดพอร์ตการลงทุนอัตโนมัติ ท่านสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนได้ง่ายๆโดยมีผู้เชี่ยวชาญและระบบ AI ช่วยจัดพอร์ตให้ สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCBS Call Center 02 949 1999 หรือ www.scbs.com/roboadvisor
ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ที่มา: SCBS, Bloomberg
คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุนและผลการดำเนินงานของกองทุน ผลการดำเนินงานในอดีตและผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต สามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บล.ไทยพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา