เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ได้ออกมาให้การสนับสนุน “Council for Inclusive Capitalism with the Vatican” (INC-CAP) ซึ่งเป็นความร่วมมือของบริษัทข้ามชาติระดับโลกเพื่อผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สมเด็จพระสันตปาปาได้อวยพระพรให้กับองค์กรดังกล่าว และทรงได้ให้ถ้อยแถลงไว้ว่า “โลกนี้ต้องการระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมโดยเร่งด่วน เราจะต้องแก้ไขให้ทุนนิยมกลายเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมโดยรวมและไม่ทอดทิ้งใครไว้ได้หลัง”
น่าสนใจว่าองค์กรดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนและใช้ชื่อของ “วาติกัน” ต่อท้ายชื่อองค์กร คือ Council for Inclusive Capitalism with the Vatican
พระสันตปาปาฟรานซิสเคยวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจ
พระสันตปาปาฟรานซิสเองก็ทรงเคยให้ถ้อยแถลงเกี่ยวกับทุนนิยมไว้ในที่ประชุมเศรษฐกิจระดับโลก ณ เมืองดาวอส ปี 2016 ว่า “เราต้องการแนวคิดทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างความมั่งคั่งของบริษัทไปพร้อมๆ กับการพัฒนาโลกนี้ ไม่ใช่ทำลาย และนั่นก็คือทุนนิยมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นอกจากนี้พระองค์ยังเคยวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจไว้ใน TED Talk ปี 2017 ซึ่งจุดประกายนักเคลื่อนไหวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
ทุนนิยม วายร้ายตัวหลักของโลก และความพยายามจะแก้ไขนิยามทุนนิยมของกลุ่มธุรกิจระดับโลก
ทุนนิยมเป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างแสลงหูอย่างมากในฐานะที่เป็นวายร้ายผู้ให้กำเนิด “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมหาศาล” ไปจนถึง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
การจัดตั้ง INC-CAP จึงเป็นเหมือนความพยายามของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในการแก้ไขนิยามของทุนนิยม และชี้ให้เห็นว่าทุนนิยมสามารถที่จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้
องค์กรดังกล่าวจัดตั้งจากความร่วมมือของฝ่ายธุรกิจและการเงินขนาดใหญ่ระดับโลก เช่น มาสเตอร์การ์ด วีซ่า เซลส์ฟอร์ซ ธนาคารแห่งอเมริกา และบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงองค์กรที่ดำเนินการเพื่อการกุศลอยู่แล้วอย่าง มูลนิธิฟอร์ด มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ และสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ เครือข่ายสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังให้ความสนับสนุนองค์กรดังกล่าวอีกด้วย
ยังมีข้อกังขาว่าองค์กรดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริงหรือไม่
Council for Inclusive Capitalism with the Vatican ประกาศใน เว็บไซต์ ว่า มีโครงการมากกว่า 230 โครงการเพื่อการปรับเปลี่ยนตัวแบบทางธุรกิจให้มีความเป็นธรรมต่อสังคมมากยิ่งขึ้นตามที่ประกาศใน เช่น การที่ Mastercard บอกว่าจะจ้างพนักงานแอฟริกัน-อเมริกันมากขึ้น หรือ DuPont ที่จะกำหนดเกณฑ์ให้ซัพพลายเชนของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภายในปี 2030
Lynn Forester de Rothschild ผู้บริหารระดับสูงของ E.L. Rothschild และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง INC-CAP กล่าวว่า “บริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมไม่จำเป็นต้องทำตามที่บริษัทอื่นๆ ทำ พวกเขาเพียงสามารถจัดทำโครงการตามความสมัครใจ” จึงมีข้อสงสัยว่ามาตรการณ์ตามความสมัครใจดังกล่าวจะแก้ไขความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างได้จริงหรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา