เด็กไทยและอาเซียนขาดสารอาหาร ผอมแห้ง แคระแกร็น และอ้วน เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกำลังทำให้เด็กๆ นับล้านรายในอาเซียนกลายเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียที่มีขนาดเศรษฐกิจกำลังเติบโต เด็กๆ ต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์เพราะพ่อแม่มัวแต่ทำงาน ไม่ค่อยมีเวลา ไม่ค่อยมีเงิน ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พวกเขากำลังทำร้ายลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาเอง

ภาพจาก Shutterstock

เว็บไซต์ The Star หยิบประเด็นนี้มาเล่า โดยฮัสบูลเลาะห์ ทาบรานี (Hasbullah Thabrany) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า “พ่อแม่มักจะเชื่อว่าการทำให้ลูกของตัวเองอิ่มท้องนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แต่ไม่ได้คิดจริงจังว่าควรจะมีสารอาหารอะไรที่จำเป็นและสำคัญต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน แคลเซียม หรือไฟเบอร์” 

ขณะที่ มุนนิ มูตังกา (Mueni Mutunga) ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแห่งยูนิเซฟ เผยว่า เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังก็พบว่า ครอบครัวมักจะจัดหาอาหารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่แพง และง่ายในการพร้อมกินซึ่งก็คืออาหารสมัยใหม่ (modern meals) 

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันง่าย มันมีราคาถูก พร้อมปรุงและกินได้ไว” 

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็คือ ความยากจน แต่ว่าสารอาหารมันต่ำ อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกที่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรองจากจีน 

เมื่อย้อนไปดูบทความจาก The Jakarta Post เรื่อง Indonesians & instant noodles: A love affair เขาก็บอกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “Supermi” เข้ามาในอินโดฯ ตั้งแต่ปี 1968 และก็เติบโตอย่างช้าๆ จนตอนนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของอินโดนีเซียไปแล้ว

Supermi แบรนด์ยอดฮิตที่คนอินโดนีเซียชอบกิน ภาพจาก Supermi

Supermi ถูกจัดให้เป็นอาหารง่ายๆ ที่มาทดแทนอาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารเย็น เนื่องจากสามารถเอามาต้มและปรุงรสโดยไม่ต้องใช้เวลามากก็อิ่มท้องได้ โดยมากเอามาต้มใส่ผัก ใส่ไข่ ใส่เนื้อหรือลูกชิ้นก็กินได้เลย ซึ่งก็เป็นอาหารยอดนิยมของอินโดฯ ด้วย

ข้อมูลจาก World Instant Noodles Association

แต่บริษัทที่ทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้ก็ไม่ได้มีแค่ Supermi เจ้าเดียว ยังมี Indofood ซึ่งครองสัดส่วนตลาดอินโดนีเซียมากถึง 72% Wings Food, Conscience Food, ABC, PT Jakarana Tama, Nissin ที่แข่งขันกันออกรสชาติแปลกๆ และสร้างสรรค์มาให้ผู้บริโภคได้เลือกกินกัน

กินกันทั้งโลก ไทยติดอันดับ 9 จากทั้งหมด 55 ประเทศ

เมื่อย้อนดูรายชื่อประเทศทั่วโลกที่นิยม พบว่า 10 ประเทศแรกนี้มีไทยติดอันดับด้วย อันดับ 1 คือจีน/ ฮ่องกง อันดับ 2 คืออินโดนีเซีย อันดับ 3 คืออินเดีย อันดับ 4 คือญี่ปุ่น อันดับ 5 คือเวียดนาม อันดับ 6 คือสหรัฐอเมริกา อันดับ 7 คือฟิลิปปินส์ อันดับ 8 คือเกาหลีใต้ อันดับ 9 คือไทย อยู่ที่ 3,460 ล้านซองต่อปี อันดับ 10 คือบราซิล

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมาถือว่าเป็นวัน World Food Day หรือวันอาหารโลก องค์การสหประชาชาติเคยกล่าวไว้ว่า “อาหารเป็นรากฐานของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงมีและสามารถจัดหามากินได้เอง เพราะมันเป็นสาเหตุที่เป็นฐานรากของการยุติความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติในสังคมได้”

นอกจากนี้ องค์การยูนิเซฟก็เพิ่งปล่อยรายงานเรื่อง “Children, food and nutrition Growing well in a changing world” ออกมา เนื้อหาโดยรวมระบุว่าในระดับโลกนั้น เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบในสัดส่วน 1 ใน 3 รายมีการเจริญเติบโตที่ไม่ค่อยดี ขณะที่ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น 1 ใน 5 รายนั้นมีการเติบโตที่ไม่ดีเช่นกัน

ข้อมูลจาก Unicef

ไทยกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปติดอันดับ 9 ของโลก และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีการเจริญเติบโตที่ไม่ดี ร่างกายขาดสารอาหารติดอันดับโลกด้วย

ในระดับโลกนั้น เขาก็พบว่าการที่กินอาหารที่ไม่ได้สารอาหารเพียงพอนั้น ทำให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบแคระแกร็นมากถึง 149 ล้านราย มีร่างกายผอมเกร็ง เหี่ยวแห้งอยู่ที่ 49.5 ล้านราย ขณะที่เด็กที่อ้วนมากเกินไปอยู่ที่สัดส่วน 40 ล้านราย

ในระดับเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบมีร่างกายที่แคระแกร็นมากถึง 13 ล้านราย ผอมเหี่ยวแห้ง 4.5 ล้านราย และอ้วนเกินไป 9.7 ล้านราย

เมื่อดูรายประเทศและแบ่งเป็นเปอร์เซ็น ไทยไม่เพียงติดอันดับโลกแต่ยังมีเด็กที่กินอาหารไร้สารอาหารด้วย ดังนี้ โซเมา 13% ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 17% จีน 18% มองโกเลีย 19% ไทย 23% เวียดนาม 30% เมียนมาร์ 36% วานูอาตู 37% กัมพูชา 40% ฟิลิปปินส์ 42% ลาว 49% ติมอร์ เลสเต 57% อินโดนีเซีย 59% ปาปัวนิวกินี 65%

เฮนเรียตตา เอช ฟอร์ (Henrietta H. Fore) ภาพจาก Unicef UNICEF/UN0154449/Nesbitt

เฮนเรียตตา เอช ฟอร์ (Henrietta H. Fore) กรรมการบริหารกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวสุนทรพจน์ขณะเปิดตัวรายงานเด็กโลก (World’s Children Report) มีใจความสำคัญว่า ในศตวรรษที่ 20 เราอาจจะคิดว่าผู้คนที่หิวโหย ขาดสารอาหาร ขาดโภชนาการที่ดีคือประเทศที่ยากจนข้นแค้น หรือบางทีภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวของผู้คนก็คือในบริเวณประเทศแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราหรือในพื้นที่ที่มีสงคราม

แต่โลกในศตวรรษที่ 21 นี้ ความท้าทายที่ว่ามานั้นยังคงอยู่ แต่ความหิวโหยและการขาดสารอาหารถูกเปลี่ยนโฉมให้ต่างไปจากเดิม เด็กๆ ต้องเผชิญกับสภาวะที่ทำให้ร่างกายแคระแกร็น ผ่ายผอม และตัวเล็กเกินไป รวมถึงสมองไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เพียงเพราะไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมใน 1,000 วันแรกที่พวกเขามีชีวิตอยู่บนโลก พวกเด็กๆ ไม่ได้กินอาหารประเภทนม ไข่ เนื้อปลา ผักและผลไม้อย่างเพียงพอ 

เด็กที่เข้าสู่วัยเรียนในประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือแม้แต่รายได้ระดับปานกลางเข้าถึงอาหารได้ มีอาหารกิน แต่มีสารอาหารต่ำ ผ่านกระบวนการปรุงอาหารมามาก มีทั้งน้ำตาลและไขมัน แต่ไม่มีวิตามินและสารอาหารรองที่ร่างกายและสมองต้องการ ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ 

ภาพจาก Shutterstock

ในวัยหนุ่มสาวก็ต้องเผชิญกับโรคอ้วน เพราะอาหารถูกที่มีสารอาหารต่ำ อาหารที่ดีก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะราคาแพง เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ทางยูนิเซฟก็เรียกร้องขอให้รัฐบาลควรลงทุนในโครงการด้านโภชนาการในระดับที่ยิ่งใหญ่ เรียกร้องให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ 

ยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศ ที่พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น รวันดานั้นก็มีการเติมอาหารเสริมสารอาหารลงไปเพื่อทำให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ในอินเดีย คนนับล้านๆ รายได้รับธาตุเหล็กและกรดโฟลิกกินในโรงเรียนเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง จากนั้นเธอก็ยกตัวอย่างอีกหลายประเทศขึ้นมา และทิ้งท้ายคำพูดว่าให้ประเทศต่างๆ ควรจะเรียนรู้รายงานฉบับนี้เพื่อที่จะร่วมพัฒนาแก้ไขปัญหาต่อไปได้ 

ความคิดเห็นของคนหนุ่มสาวและคุณแม่วัยสาวเกี่ยวกับอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน

หญิงสาวชาวจีน วัย 13 ปี

“อาหารราคาถูกไม่ใช่อาหารที่ทำให้สุขภาพดี อาหารที่ทำให้สุขภาพดีไม่ได้มีราคาถูก”

หญิงสาวชาวจีนวัย 27 ปี

“แม่บุญธรรมของฉันต้องการให้ฉันเตรียมโจ๊กมาให้เธอกินทุกวัน เธอบอกว่ามันเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ขณะเดียวกัน ฉันก็ต้องการให้ลูกๆ ของฉันกินอาหารที่มันหลากหลายเหมือนกัน”

ชายหนุ่มชาวอินโดนีเซียวัย 25 ปี

“ผมว่ามันยากนะ (ที่ต้องคอยเตรียมอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนตลอดเวลา) เพราะผมต้องเลี้ยงลูกและผมก็ต้องไปทำงานด้วย”

บทสรุปส่งท้าย

ในประเทศไทยและประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกมีปัญหาเรื่องเด็กๆ ได้กินอาหารขาดสารอาหาร ขาดคุณค่าทางโภชนาการที่ดี เด็กๆ ควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอเพื่อจะทำให้สมอง ร่างกายและจิตใจเติบโตอย่างสมบูรณ์ เมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศได้ ไม่ใช่ตายก่อนวัยอันควร หรือมีร่างกายอ่อนแอเพียงเพราะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีแต่คนสูงอายุเต็มเมืองและเด็กเกิดน้อยลง ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง

ประเทศไทยเป็นแชมป์ระดับโลกอันดับ 9 ที่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากมายมหาศาลในระดับหลักพันล้านห่อต่อปี และยังมีปัญหาในการเลี้ยงดูเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในการกินอาหารที่ขาดสารอาหารอีก ไทยก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่ต้องศึกษารายงานของยูนิเซฟเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน 

ที่มา – The Star Online, The Jakarta PostUnicef (1), (2), (3), (4) 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา