รวิศ หาญอุตสาหะ: รู้หรือไม่ว่าคนไทยฟัง Podcast สูงมาก แต่ส่วนใหญ่เปิดจาก YouTube ต่างหาก

ต่อให้แอพพลิเคชั่นจะสวยแค่ไหน หรือมีประสิทธิภาพดีแค่ไหน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผู้คนก็ไม่ใช้และไม่ต้องการดาวน์โหลดใหม่ เพราะเคยชินกับของเดิมๆ

มีข้อมูลจากผู้คร่ำหวอดในวงการ Podcast ของไทยบอกว่า คนไทยนิยมฟัง Podcast บน YouTube เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว YouTube มีไว้เพื่อดูวิดีโอเป็นหลัก และเอาเข้าจริง Podcast ก็มีแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเองแยกออกมาต่างหาก

  • คำถามก็คือ เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง?
รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของเพจ Mission to the Moon และเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์
รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของเพจ Mission to the Moon และเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์

จับตาตลาด Podcast กำลังเติบโตต่อเนื่อง

ถ้าพูดถึงในประเทศไทย เราอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนนัก เพราะตัวเลขในตลาดยังไม่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

แต่ถ้าไปดูเทรนด์นี้ในต่างประเทศ Podcast ถือเป็นตลาดที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เทรนด์การฟัง Podcast มีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลวิจัยของ Edison Research และ Triton Digital ร่วมกับ Pew Research Center ระบุว่า

  • ในปี 2017 คนอเมริกันที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปฟัง Podcast สูงถึง 44%
  • ตัวเลขนี้ถ้าเทียบกับ 11 ปีก่อนหน้าคือปี 2008 เรียกได้ว่าเห็นความแตกต่างสูงมาก เพราะในช่วงเวลานั้นมีคนฟัง Podcast เพียง 18%

อัตราการเติบโตของการฟัง Podcast ในระดับโลกน่าสนใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ที่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลังมานี้ ยกตัวอย่างเช่น Spotify ที่นอกจากจะมีหมวดเพลงให้เลือกอย่างหลากหลาย ในตัวแอพพลิเคชั่นเองก็มี Podcast ให้ฟัง

แต่ถ้าถามว่าคนไทยชอบฟัง Podcast ไหม? และเขาฟังกันอย่างไร แน่นอนว่า คำตอบคงต้องมาจากปากของคนที่คลุกคลีกับการทำ Podcast อย่างเป็นล่ำเป็นสัน นั่นก็คือ “รวิศ หาญอุตสาหะ” เจ้าของเพจ Mission to the Moon และเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์

รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของเพจ Mission to the Moon และเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ และผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ในงาน The Videnovation 2018
รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของเพจ Mission to the Moon และเจ้าของแบรนด์ศรีจันทร์ และผู้ร่วมเสวนาท่านอื่นๆ ในงาน The Videnovation 2018

รวิศ ได้เผยในงาน The Videnovation 2018 โดยเล่าว่า เมื่อหลายวันก่อนได้คุยกับ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหารของ The Standard (The Standard ถือเป็นหนึ่งในสำนักข่าวของไทยไม่กี่รายที่ทำ Podcast และเป็นเบอร์ต้นๆ ของตลาด) และได้ข้อมูลเชิงลึก (Insight) อย่างหนึ่งมาว่า “มีคนจำนวนมากที่ฟัง Podcast บน YouTube”

Credit: Podcast ของ The Standard เรื่อง The Money Case EP.18 ออมอย่างมีกิมมิก แล้วชีวิตจะมีทั้งเงินและความสนุก
Credit: Podcast ของ The Standard เรื่อง The Money Case EP.18 ออมอย่างมีกิมมิก แล้วชีวิตจะมีทั้งเงินและความสนุก

“มันตลกมาก เพราะว่าที่จริงแล้ว มันมีแอพพลิเคชั่นดีๆ สำหรับ Podcast” รวิศบอก

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ช่องทางในการเสพ Podcast มีหลากหลาย

  • ถ้าคุณใช้ iOS จะมีแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ Podcast ให้ฟังได้โดยตรง
  • ถ้าคุณใช้ Android ตอนนี้ก็มีแอพพลิเคชั่น Google Podcasts รองรับแล้ว
  • ถ้าคุณใช้ PC ก็สามารถดาวน์โหลด iTunes หรือ Soundcloud มาฟังก็ได้

คนไทยฟัง Podcast บน YouTube สูงมาก เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไร?

รวิศ พยายามวิเคราะห์ว่าคำตอบของเรื่องนี้คือ “ความเคยชิน”

“ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โทรศัพท์มือถือคือสิ่งของถูกกฎหมายที่มีการเสพติดสูงมาก เรารู้กันดีว่าโทรศัพท์เป็นกระแสในโลกแน่นอน แต่คำถามคือ เมื่อคนเล่นมือถือ เขาจะเข้ามาหาเรา(ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์) ได้อย่างไร?” ตรงนี้คือประเด็นสำคัญ

รวิศ จะบอกว่า แม้โทรศัพท์จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนในยุคนี้ แต่เมื่อผู้บริโภคหยิบมือถือขึ้นมา พวกเขาเข้าแอพพลิเคชั่นใดบ้าง พวกเขาเข้าเว็บไซต์อะไรบ้าง ถ้าคุณทำให้ผู้บริโภคติดได้ ต่อให้แอพฯ หรือเพจของคุณยังไม่มีคอนเทนต์ใหม่ๆ แต่พวกเขาจะเข้าไปดูว่ามีความเคลื่อนไหวอะไรบ้างอยู่ตลอดเวลา จุดนี้คือความโดดเด่นของการทำคอนเทนต์ที่ทำแล้วคนติด มี loyalty ไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้เป็น(คนละ)เรื่องเดียวกันกับการฟัง Podcast

ชัดเจนว่า “การฟัง” เป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นอยู่แล้วของคนไทย ดังนั้นการผลิต Podcast จึงไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีคนฟัง แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ แล้วผู้บริโภคของเรา-เขาฟังกันที่ไหน เขาฟังจากแพลตฟอร์มอะไร?

รวิศ บอกว่า คนไทยดูและฟังใน YouTube จนเคยชิน ต่อให้คอนเทนต์ดีแค่ไหน แต่ฉันก็ไม่ดาวน์โหลดหรอกแอพพลิเคชั่นใหม่

“ทั้งๆ ที่การฟัง Podcast บน YouTube นั้น เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพต่ำมาก แต่คนก็ฟัง เพราะความเคยชิน อันนี้น่าสนใจศึกษาต่อว่า เอาเข้าจริงแล้ว คนที่เป็นฐานลูกค้าในยุคนี้ เขามีพฤติกรรมอย่างไร” รวิศทิ้งท้ายเหมือนจะสื่อว่า คุณต้องมองพฤติกรรมลูกค้าให้ขาดและตามเขาให้ทัน

สรุป

ฟังคุณรวิศเล่าให้ฟัง พอจะสรุปได้ว่า ถึงที่สุดแล้ว คอนเทนต์ยังเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าหรือผู้ฟัง แต่ในโลกแห่งแพลตฟอร์ม ก็ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดการรับสารของผู้บริโภค

ตอนนี้ถ้าใครที่กำลังทำ Podcast ก็น่าจะมีอย่างน้อย 3 ทางเลือกคือ

  1. ทำ Podcast ลงในแพลตฟอร์มที่ถูกเซ็ตเป็นมาตรฐาน นั่นก็คือแอพพลิเคชั่นทั้งหลายที่มีเพื่อรองรับโดยตรง
  2. ทำ Podcast ลงใน YouTube เพื่อเอาใจ “ความเคยชิน” ของตลาด
  3. หรือทำ Podcast เพื่อลงทั้งแพลตฟอร์มมาตรฐาน และนำไปลงตามแพลตฟอร์มอื่นที่รองรับพฤติกรรมความเคยชินของผู้บริโภคอย่าง YouTube

ข้อมูลบางส่วนเก็บตกจากงานสัมมนา The Videnovation 2018

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา