Play Hard, Work Harder! กรุงเทพฯ ติด Top 5 เมืองที่คนทำงานหนักที่สุดในโลก

ในยุคที่ Work-Life Balance เป็นเรื่องสำคัญ Kisi บริษัทเทคโนโลยีให้คำปรึกษาด้านการทำงานได้จัดอันดับเมืองที่มี Work-Life Balance มากที่สุดไปจนถึงเมืองที่ทำงานหนักที่สุดประจำปี 2022 กรุงเทพฯ ของไทยคว้าอันดับที่ 5 ประเทศที่คนทำงานหนักที่สุดในโลก ขณะที่เมืองในประเทศสแกนดิเนเวียคว้าอันดับต้นของเมืองที่มี Work-Life Balance มากที่สุดไปครอง

ในการจัดอันดับประกอบด้วยเมืองในสหรัฐอเมริกา 51 เมือง และเมืองอื่นในประเทศทั่วโลกอีก 49 เมือง ผลของการจัดอันดับเป็นดังนี้

ประเทศที่มี Work-Life Balance มากที่สุด

10 ประเทศแรกที่มีคะแนน Work-Life Balance สูงที่สุดจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน จากการจัดอันดับของ Kisi ได้แก่

#1 ออสโล นอร์เวย์
#2 เบิร์น สวิสเซอร์แลนด์
#3 เฮลซิงกิ ฟินแลนด์
#4 ซูริค สวิสเซอร์แลนด์
#5 โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
#6 เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์
#7 ออตตาวา แคนาดา
#8 ซิดนีย์ ออสเตรเลีย
#9 สตุทการ์ท เยอรมนี
#10 มิวนิก เยอรมนี 

5 อันดับแรกไม่แตกต่างจากในปี 2021 มากนักเพราะยังคงเป็นเมืองในสแกนดิเนเวียเช่นเดิม แต่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์พลิกโผขึ้นมาเป็นที่ 1 แทนเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ที่คว้าแชมป์ไปในปี 2021 

เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ได้คะแนนสูงเพราะผู้คนสามารถทำงานทางไกล คุณภาพของระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประชากรอยู่ในระดับสูง และมีคุณภาพอากาศดี คนในเมืองออสโลมีวันลาพักร้อนประจำปี 25 วัน และมีวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร 707 วัน หรือเท่ากับเกือบ 2 ปี 

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่เป็นประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลกจึงเป็นประเทศที่คนมี Work-Life Balance มากที่สุด เพราะการหาสมดุลในการทำงานเป็นปัจจุยสำคัญที่ทำให้คนมีความสุข

เมืองที่คนทำงานหนัก (Overworked) และขาด Work-Life Balance มากที่สุด

สำหรับเมืองที่มี Work-Life Balance รั้งท้าย ได้แก่

#91 เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา
#92 เมมฟิส สหรัฐอเมริกา
#93 ฮ่องกง ฮ่องกง
#94 มอนเตวิเดโอ อุรุกวัย
#95 บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา
#96 กรุงเทพมหานาคร ไทย
#97 เซาเปาโล บราซิล
#98 กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
#99 ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
#100 เคปทาวน์ แอฟริกาใต้

กรุงเทพฯ คว้าอันดับที่ 5 เมืองที่คนทำงานหนักและมี Work-Life Balance น้อยที่สุด โดยได้คะแนนไป 70.73 คะแนน ขณะที่คนในเมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์สามารถลาพักร้อนได้ 25 วัน คนไทยสามารถลางานได้อน่างน้อย 6 วันต่อปีเท่านั้น น้อยกว่าเมืองออสโลกว่า 4 เท่า ขณะที่ข้าราชการไทยสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วันโดยรับค่าจ้างปกติ และลาต่อได้อีก 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างปกติ

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างคือแม้ว่าการวิจัยจะประกอบด้วยเมืองในสหรัฐอเมริกา 51 เมือง แต่ไม่มีเมืองใดเลยที่ติด 10 อันดับแรกที่มี Work-Life Balance มากที่สุด เมืองของสหรัฐฯ ที่ได้อันดับสูงที่สุดคือ ซีแอทเทิลซึ่งอยู่ในอันดับที่ 32 

Work-Life Balance วัดจากอะไร ?

หากจะสำรวจระหว่างสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว คงจะวัดจากแค่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์หรือปริมาณงานไม่ได้ แต่ต้องวัดจาดแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิตด้วย เช่น การทำกิจกรรมยามว่าง คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ การเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภค

Kisi ได้เก็บข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ รายงานจากองค์กรอิสระ ฐานข้อมูลสาธารณะ แพลตฟอร์มเผยแพร่ผลสำรวจ โดยพิจารณา 3 ปัจจัยหลักดังนี้

ความเข้มข้นในการทำงาน (Work Intensity)

Kisi ได้ทำการวิเคราะห์ความเข้มข้นในการทำงานเป็นอย่างแรก โดยวัดจากสัดส่วนความเหมาะสมของงานที่สามารถทำงานนอกสถานที่หรือทำงานทางไกลได้ด้วยวิธีการคำนวณเปอร์เซ็นต์ของงานที่สามารถทำได้นอกสถานที่

นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมข้อมูลเปอร์เซ็นต์คนที่ทำงานหนัก จำนวนวันที่สามารถลาพักร้อนได้ จำนวนวันที่คนลาพักร้อนจริง และจำนวนวันที่สามารถลาได้เพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ถูกหักเงินค่าจ้าง รวมทั้งวิเคราะห์ตัวเลขการว่างงานและเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ทำงานหลายงานไปพร้อมกันเพื่อศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของแต่ละเมืองด้วย

การวิจัยให้ความสำคัญกับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละเมืองและมองว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตของคน การวิจัยจึงคิดเปอร์เซ็นต์อัตราเงินเฟ้อร่วมด้วย

บทบาทขององค์กรและสถาบันทางสังคม

การจัดอันดับพิจารณาร่วมกับความช่วยเหลือจากองค์กรและสถาบันทางสังคมในช่วงเวลาที่ท้าทายเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 และการสนับสนุนขององค์กรทางสังคมเมื่อเกิดผลกระทบดังกล่าวขึ้น ไปจนถึงคุณภาพการแพทย์และการรักษาพยาบาล การดูแลด้านสุขภาพจิต รวมถึงการสนับสนุนของสังคมที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคมและสนับสนุนความหลากหลาย เช่น ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มคนที่มีความหลากหายทางเพศ (LGBTQ+)

คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี 

ปัจจัยสุดท้ายคือการพิจารณาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนในแต่ละเมือง โดยเริ่มจากการพิจารณาอำนาจในการบริโภคของผู้คนในแต่ละเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น 

ความสุขของประชากร การเข้าถึงกิจกรรมยามว่างและกิจกรรมทางวัฒนธรรม ความปลอดภัยในแต่ละเมือง จำนวนพื้นที่สาธารณะกลางแจ้งและคุณภาพอากาศ ได้ถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย

จากผลการจัดอันดับจะเห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อชีวิตการทำงานของคนในเมือง ไม่ใช่แค่นิสัยพฤติกรรม หรือเป้าหมายการทำงานส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเท่านั้น การทำงาน เวลาว่าง และคุณภาพชีวิตของคนถูกสะท้อนออกมาผ่านโครงสร้างพื้นฐาน สภาพเศรษฐกิจ และการสนับสนุนของรัฐบาลและองค์กรทางสังคม 

ลองคิดง่าย ๆ ว่า หากเราได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจอย่างหนัก เราจะมีกะจิตกะใจออกไปทำกิจกรรมยามว่างหรือไม่? เราก็คงเลือกจะทำงานหนักขึ้นเพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นแทน จึงไม่แปลกที่ทำไมบางคนอยากมี Work-Life Balance แต่ดันกลายเป็น Work ไร้ Balance เพราะความสมดุลไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพียงแค่การเริ่มที่ตัวเอง แต่รัฐบาลและสังคมก็ต้องให้ความสำคัญด้วย

อ้างอิง – Kisi, CNBC, Business Insider

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา