ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยความพยายามที่จะลดปริมาณขยะพลาสติก โดยวางแผนลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ 30% ในปีนี้
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยทั้งสิ้น 27.8 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน (แบ่งเป็นถุงพลาสติก 1.2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นพลาสติกชนิดอื่นๆ เช่น กล่อง ถาด ขวด และฝาจุก) แต่สามารถนำขณะพลาสติกนี้ไปรีไซเคิลได้เพียง 5 แสนตันเท่านั้น (อ่านข้อมูลทั้งหมดได้ที่นี่)
ส่วนปริมาณขยะที่ถูกทิ้งในทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า ในปี 2560 มีขยะมูลฝอยที่ถูกทิ้งลงทะเลกว่า 57,403 ชิ้น โดยเป็นถุงพลาสติกมากที่สุดถึง 17.21% และขวดพลาสติกอีก 12.19% (อ่านข้อมูลทั้งหมดได้ที่นี่)
โควิด-19 ทำปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป
ในช่วงที่ผ่านมา แอปพลิเคชันเดลิเวอรี่อาหารมีจำนวนผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นมาก เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าบริการเดลิเวอรี่อาหารเติบโตขึ้น 33% ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 4,500 ล้านบาท
โดยแอปพลิเคชัน LINE Man และ Grab Food เป็นแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ที่คนนิยมใช้งานมากที่สุด มีสถิติการใช้งานที่เพิ่มขึ้นกว่า 300-400% เทียบกับช่วงก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การซื้ออาหารเข้ามาทานที่บ้าน หรือใช้บริการเดลิเวอรี่จากร้านอาหารต่างๆ เพราะไม่สามารถออกไปนั่งทานอาหารนอกบ้านได้ จำเป็นต้องใช้พลาสติกจำนวนมาก เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อนใส่อาหาร กล่องพลาสติก กล่องโฟม ซองใส่ซอส เครื่องปรุง รวมถึงช้อนพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นกว่า 62% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สังเกตได้จากอาหารที่สั่งจากร้านต่างๆ จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกจำนวนมาก
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีปัญหาการใช้ขยะพลาสติกจำนวนมาก เพราะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ มีสถิติการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน ตามมาด้วยอันดับ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 4 ประเทศเวียดนาม และอันดับ 6 ประเทศไทย (ดูสถิติเพิ่มเติมได้ที่นี่)
อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ การให้ความสนใจไปที่ปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่เรื่องดีมากนัก เพราะต้องไม่ลืมว่าขยะที่พลาสติกที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำให้สามารถนำอาหารกลับไปทานที่บ้านได้ ซึ่งนับเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ธุรกิจร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ อยู่รอด และหารายได้ได้บ้างในช่วงเวลานี้ แล้วหลังจากจบวิฤตโควิด-19 ค่อยพยายามดำเนินมาตรการลดการใช้ขยะพลาสติกต่อไปอีกครั้ง
แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องดีนักที่ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 แต่อย่าลืมว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรตระหนักคือการกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี ลดการทิ้งขยะมูลฝอยลงในทะเล และการแยกขยะอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้การรีไซเคิลขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากขึ้น
ที่มา – Japan Times, Straits Times, Reuters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา