ขยะพลาสติกไทย ติดอันดับ 12 ของโลก ปริมาณ 4.8 ล้านตันต่อปี หลักๆ จากความนิยม Food Delivery

k research
ภาพจาก Shutterstock
  • ขยะพลาสติก กำลังเป็นปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากการจัดการที่ไม่ถูกต้องในการกำจัด เช่น การเผา หรือฝังกลบ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั่วโลกมีการปล่อยขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน และไทยอยู่อันดับ 12 ยิ่งบริการ Food Delivery และ Online Shopping เพิ่มขึ้น ขยะพลาสติกยิ่งสูง
  • ไทย พยายามลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว เปลี่ยนใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ.2565 และตั้งเป้าขยะพลาสติก 7 ชนิดนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2570 ขณะที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) เพิ่งบรรลุข้อมติเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมขยะพลาสติกซึ่งจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2567
  • ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกจะต้องเจอกับมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีหลักการจัดการพลาสติกตลอด Life Cycle ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การใช้งานและการจัดการหลังการใช้งานเสร็จแล้ว
k research
ภาพจาก Shutterstock

ขยะพลาสติกมาพร้อมกับ Food Delivery และ Online Shopping

พลาสติกนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ถุงพลาสติก ขวดน้ำ หลอด ของเล่น จาน บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้การใช้พลาสติกนั้นก่อให้เกิดปริมาณขยะมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการศึกษาของ Ocean Conservancy พบว่าในปี 2016 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน โดยประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา (34 ล้านตัน) สหภาพยุโรป (30 ล้านตัน) อินเดีย (26 ล้านตัน)

ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 (4.8 ล้านตัน) แต่พลาสติกที่มีการใช้ทั่วไปนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเองจึงมีการจัดการโดยการเผาหรือฝังกลบซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ ดิน อากาศได้ โดยจากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 3,440 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2562 ถึงร้อยละ 62 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้บริการ Food delivery และ Online Shopping ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพลาสติกที่ Recycle ได้เพียง 19% นอกนั้นเป็นพลาสติกปนเปื้อน

k research
ภาพจาก Shutterstock

ลด เลิก ใช้พลาสติก 7 ชนิด นำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%

ประเทศไทยเองมีความพยายามเข้ามาจัดการปัญหาขยะพลาสติดแบบใช้ครั้งเดียวโดยรัฐบาลได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด (ภายในปี พ.ศ. 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี พ.ศ. 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 

นอกจากนี้ในเวทีระดับนานาชาติเอง ณ การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) สมัยที่ 5 ช่วง 2 (UNEA 5.2) ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ได้บรรลุข้อมติ End Plastic Pollution Resolution เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (Intergovernmental negotiating committee: INC) จัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากพลาสติกและจัดการขยะทางทะเล โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลาสติกทั้งวงจรชีวิต รวมถึงให้มีมาตรการการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) โดยมี 175 ประเทศให้การสนับสนุนรวมถึงประเทศไทย

k research
ภาพจาก Shutterstock

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก ต้องปรับตัวโดยเร็ว

ในปี พ.ศ. 2563 อุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.4 ของ GDP ในจำนวนดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกมีมูลค่า 8.5 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในอนาคตผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกจะเผชิญกับมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยหลักการการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต (Life Cycle) ตั้งแต่การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการออกแบบและการผลิต โดยการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และการจัดการพลาสติกหลังการบริโภค

นอกจากนี้สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีอยู่ ได้แก่ นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้ BCG Model ซึ่งกิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 – 8 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา