วางแผนเกษียณ ต้องเตรียมตัวยังไงตั้งแต่วันนี้ ให้ไม่ลำบากในตอนนั้น

Source: pixabay

ชีวิตของคนเรามีช่วงที่พลังงานเหลือล้น ช่วงที่ต้องการพักจากความยุ่งเหยิง ช่วงที่เก็บเกี่ยวความสุขให้ได้มากที่สุด และช่วงที่ต้องการใช้ชีวืตบั้นปลายอย่างมีความสุขโดยที่ไม่ขัดสน ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราได้วางแผนเตรียมพร้อมอะไรหรือยัง ไม่ว่าจะทั้งสุขภาพและสภาพการเงิน ถ้ายัง มาเตรียมตัววางแผนเกษียณไปพร้อมกันกับบทความนี้ได้เลย 

เริ่มต้นวางแผนการเงินหรือยัง

แม้จะเกษียณก็ต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับคนรักและลูกหลาน แต่เพื่อให้ชีวิตเกษียณของเราไม่ขัดสนจึงจำเป็นจะต้องวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจะขอแยกเป็น 3 ก้อนเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพง่ายขึ้น 

คำนวณเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ

เกษียณแล้วอยากมีเงินใช้กี่บาท” “เกษียณแล้วอยากใช้เงินวันละกี่บาท” “เกษียณแล้วต้องมีอะไรที่ต้องจ่ายอีกไหมนะ” คำถามเหล่านี้น่าจะวนเวียนในหัวของหลายคนมาบ้างไม่มากก็น้อย บางคนตอบได้เลย บางคนต้องคิดแล้วคิดอีก แต่สิ่งแรกที่ต้องคิดเลยก็คือจำนวนเงินที่วาดหวังไว้นั้นจริงๆ แล้วมันกี่บาทกันแน่ วิธีคำนวณแบบง่ายๆ เลยก็คือ

ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คิดว่าจะใช้ชีวิตต่อหลังเกษียณ 
=
จำนวนเงินที่ควรจะมี ณ วันเกษียณ

** ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณแนะนำว่าให้คิดจาก 70% ค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ส่วนจำนวนปีที่คิดว่าจะใช้ชีวิตต่อหลังเกษียณเอาคร่าวๆ ก็ได้**

จำนวนเงินที่ควรมีหลังเกษียณเหล่านี้อย่าลืมว่าจะต้องครอบคลุมหลายค่าใช้จ่ายหลายๆ ประเภทด้วยนะ เช่น ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุข ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน 

เงินออมเพื่อสานฝันวัยเกษียณ

เงินออมอาจจะเป็นเรื่องที่ใครๆ ต่างคิดว่าจะเริ่มออมตอนไหนก็ได้ แต่อย่าลืมว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ การเลย์ออฟ การถูกเลิกจ้าง หรือเหตุอื่นๆ อาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่อยากให้มันเกิดก็ได้ เช่นกันกับการออมเงินเพื่อวัยเกษียณที่แสนสุขถ้าหากวางแผนเงินออมไม่ดี อาจทำให้ไปไม่ถึงจุดนั้นก็ได้ ดังนั้นควรเริ่มออมเงินตั้งแต่วันนี้ แบ่งเงินเล็กน้อยในแต่ละเดือนเพื่อการออม ซึ่งการออมเงินนั้นไม่ได้มีเพียงการเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยรายปีอย่างเดียว แต่ยังมีการออมในกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  หรือแม้แต่ประกันสังคมที่เราจ่ายกันทุกเดือนก็เป็นหนึ่งในเงินที่เราออมไว้เพื่อใช้ในวัยเกษียณได้ รวมถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็เป็นการออมเงินในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน 

เงินออมที่ต้องออมเพิ่มนอกเหนือจากที่คำนวณไว้

หากลองวางแผนตาม 2 ข้อด้านบนแล้วพบว่ายังไปไม่ถึงเป้าหมาย ให้เช็คดูว่าเราขาดเงินอีกเท่าไหร่ และทำอย่างไรเพิ่มได้บ้าง อย่างเช่นลงทุนเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยนการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น หรือแม้แต่การขยับขยายทางหน้าที่การงาน เบี้ยขยัน หรือความก้าวหน้าทางอาชีพที่จะช่วยสร้างรายได้ต่อเดือนให้มากขึ้น เข้าใกล้ฝันที่วาดไว้มากขึ้น 

ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันต่างๆ ที่เราอาจจะไม่รู้ว่าผลตอบแทนดีเกินคาด

ประกันเหล่านี้ไม่ได้รับเงินเราไปอย่างเดียวในแต่ละเดือน แต่ประกันเหล่านี้ยังให้ผลตอบแทนเป็นเงินก้อนในวันที่เราเกษียณอีกด้วย รวมถึงประกันสุขภาพที่แม้เราคิดว่าจะสุขภาพดีแค่ไหน ก็อาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งถ้ามาเป็นตอนเราอายุมากแล้วค่ารักษาก็ยิ่งสูงขึ้น หากไม่ได้ทำประกันไว้รับรองว่ารบกวนเงินออมที่เราเก็บมาตลอดชีวิตแน่นอน รวมถึงหากวันใดจากไปก่อนวัยอันควรก็อาจจะทำให้คนข้างหลังต้องลำบาก ดังนั้นการมีประกันสักกรมธรรม์ก็คงเป็นเรื่องที่ดีกว่าไม่มีหลักประกันวัยเกษียณใดๆ เลย

ไม่ว่าคุณจะอ่านบทความนี้ในอายุเท่าไหร่ก็ตาม อยากให้ลองประเมินตัวเองหลังได้อ่านแล้วว่าตัวเองนั้นได้เตรียมพร้อมไว้หรือยัง เริ่มต้นเร็วก็สามารถควบคุมทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว หวังว่าทุกคนจะวางแผนการใชัชีวิตวัยเกษียณอย่างรอบคอบกันนะ

Source: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, เมืองไทยประกันชีวิต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา