ไปต่อไม่หยุด!! ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่อง สูงสุดในรอบ 9 ปี วางแผนยังไงต่อดี

ตอนนี้ Topic การเงิน ที่เป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดของบ้านเราคงหนีไม่พ้นเรื่องดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจริงไหมครับ

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 4/2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที 

จากตัวเลขที่เห็นต้องบอกว่าวันนี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยปรับขึ้นมาทำจุดสูงสุดในรอบ 9 ปีเลยครับ มีการทยอยขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ตั้งแต่ 0.5% จนมาปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.25% (+1.75%) ดังนั้นจึงไม่แปลกครับที่ทุกๆคนจะรู้สึกเหมือนกันว่าดอกเบี้ยตอนนี้ “แพงเหลือเกิน” (Credit: https://tradingeconomics.com/thailand/interest-rate)

หลายๆคนอาจจะยังสงสัยกันใช่ไหมครับว่าดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้วทำไม เราถึงจ่ายพวกดอกเบี้ยสินเชื่อต่างๆเพิ่มขึ้นด้วย 

ดอกเบี้ยนยโบบาย คือดอกเบี้ยกลางที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งถือว่าเป็นดอกเบี้ยกลางที่ธนาคารต่างๆใช้อ้างอิงในการกำหนดดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ครับ ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นจึงส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีการปรับขึ้นตามไปด้วยครับ

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ภาระดอกเบี้ยสินเชื่อต่างๆที่เรามีอยู่ล้วนพากันปรับขึ้นกันหมดครับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้ก้อนใหญ่ที่คนส่วนมากมีกันนั่นคือ หนี้บ้าน มีหลายคนเลยครับที่พอเห็นยอดค่างวดที่ผ่อนไปแต่ละเดือนแล้วถึงกับ ช๊อคไปตามๆกันเลยครับ เพราะเงินที่ส่งไปตัดเงินต้นน้อยมาก จ่ายเป็นดอกเบี้ยเสียส่วนใหญ่เลยครับ

ดังนั้นในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงต่อเนื่องแบบนี้ผมมีวิธีง่ายๆที่จะช่วยให้ทุกคนวางแผนบริหารจัดการเงินให้ผ่านช่วงเวลาแบบนี้ไปได้ครับ

  1. จัดลำดับภาระหนี้สิน

เรื่องแรกที่อยากให้ทุกคนทำกันคือให้มา List รายการหนี้สินที่เรามีปัจุบันก่อนครับว่าตอนนี้เรามีหนี้สินอะไรบ้าง แนะนำว่าให้ List ทั้งรายการหนี้สินและอัตราดอกเบี้ยเลยนะครับเช่น

  • หนี้บัตรกดเงินสด   ยอดค้างชำระ 40,000 บาท  ดอกเบี้ย 27% ต่อปี
  • หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล   ยอดค้างชำระ 20,000 บาท  ดอกเบี้ย 22% ต่อปี
  • หนี้บัตรเครดิต   ยอดค้างชำระ 10,000 บาท  ดอกเบี้ย16% ต่อปี
  • หนี้บ้าน  ยอดค้างชำระ 2,100,000 บาท  ดอกเบี้ย 5% ต่อปี

2. วางแผนจัดการหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงก่อนเสมอ

หลังจากเราทำการ List รายการหนี้สินทั้งหมดแล้ว ต่อมาที่ต้องทำเลยคือ ทยอยรีบโปะ รีบปิด หนี้ที่ภาระดอกเบี้ยสูงๆก่อนเป็นอันดับแรกๆเลยครับ เพราะแน่นอนถ้าวันนี้เรามีหนี้สินอยู่หลายรายการ การทยอยจ่ายอย่างละนิดอย่างละหน่อยทุกๆเดือนอาจทำให้ ภาระที่เรามีไม่จบไม่สิ้นเสียที ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ รีบโปะรีบเคลียร์หนี้ที่ดอกเบี้ยสูงๆก่อนเป็นอันดับแรกครับ

3. ทำงบรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ

และข้อสุดท้ายที่อยากแนะนำอาจดูน่าเบื่อหน่อยนะครับ นั่นคืออยากให้ทุกคนกลับมาทำงบรายรับรายจ่ายกันอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนเชื่อไหมครับว่าเรื่องเบสิคมากๆอย่างการทำรายรับรายจ่าย เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากๆที่จะช่วยให้เราจัดการชีวิตการเงินของเราได้ดีขึ้น 

เราจะรู้ว่าเงินของเรา เข้าและออก จากเรื่องอะไรบ้างจากงบรายรับรายจ่ายนี่แหละครับ โดยแผนการปิดยอดหนี้ที่เรากำลังจะทำถ้ามีงบรายรับรายจ่ายมาช่วยแทรคด้วยแล้ว มันจะทำให้เราบริหารจัดการเงินได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอน  ผมแนะนำมากๆนะครับถ้าวันนี้ใครยังไม่เคยทำงบรายรับรายจ่ายลองไปทำกันนะครับ แล้วชีวิตการเงินของเราจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเลยครับ

อยากให้ทุกคนเอา 3 ข้อที่ผมแนะนำไปลองไปปรับใช้กับแผนการเงินของตัวเองนะครับ ผมเชื่อว่าต้องเป็นประโยชน์กับทุกคนที่กำลังปวดหัวเรื่องดอกเบี้ยที่ขึ้นต่อไปหยุดแบบนี้แน่นอนครับ

สุดท้ายผมอยากบอกว่าเรื่องการขึ้นการลงดอกเบี้ย มันเป็นเรื่องของ Macro Economic หรือเศรษฐกิจมหภาค ครับนั่นหมายความว่ามันเป็นกลไกของระบบเศรษฐกิจที่เราไม่สามารถไปบังคับ ควบคุมอะไรได้ครับ  วันนี้ดอกเบี้ยขึ้นสูงจริงครับแต่วันนึงมันก็จะมีช่วงที่ดอกเบี้ยปรับลงเช่นกัน

ดังนั้นถึงแม้ว่าเศรษฐกิจมหภาคจะหมุนไปในทิศทางไหนแต่ผมเชื่อว่าเราทุกคนสามารถวางแผนเตรียมพร้อม รับมือในทุกๆภาวะเศรษฐกิจได้ ถ้าเรามีความรู้ที่ถูกต้อง+การวางแผนที่ดีครับ

เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา