‘ตลาดทุนไทย’ อาจกลายเป็น ‘ตลาดร้าง’ ไร้เสน่ห์ ไม่มีใครสนใจ เพราะปัญหาโครงสร้าง การเมือง และธรรมาภิบาล

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ใครจะไปคิดว่าชาติดาวรุ่งเนื้อหอมในสายตานักลงทุนอย่าง ‘ไทย’ จะถึงวันที่นักเศรษฐศาสตร์จะต้องออกมาวิเคราะห์เหตุผลว่าทำไม ‘ตลาดทุนไทย’ อาจกลายเป็น ‘ตลาดร้าง’ ไร้เสน่ห์ ไม่มีใครสนใจ นักลงทุนเบือนหน้าหนี

chris robert / Unsplash

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เขียนบทความเรื่อง ‘เสน่ห์ของตลาดทุนไทยหายไปไหน’ ใน Facebook ส่วนตัว โดยระบุว่า มาจาก 4 ปัจจัย ดังนี้

  1. ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขัน
  2. การเมืองไทย มีความเสี่ยงสูง วิเคราะห์และคาดเดาได้ยาก
  3. ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ
  4. ปัญหา corporate governance ที่มากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เจอปัญหาเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันร่วง

ในรายละเอียด ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่า ข้อแรก ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันนั้น ยังไม่มีทิศทางและแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวที่ชัดเจน นโยบายส่วนใหญ่เน้น quick win แต่แทบไม่เห็นแผนหรือกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ชัดเจน

ที่ผ่านมา กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ มาเลเซีย ที่อดีตนักลงทุนไม่ค่อยหยิบยกมาพูดถึง แต่วันนี้กลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง เพราะนโยบายปฏิรูปหลายเรื่องที่เริ่มทำมาหลายปี กำลังผลิดอกออกผล

โดย ‘มาเลเซีย’ กลายเป็นหนึ่งใน supply chain ที่สำคัญของธุรกิจ semiconductor แม้ไม่ได้เป็นธุรกิจต้นน้ำเช่นเดียวกับเกาหลีหรือไต้หวัน แต่ก็บริษัทใหญ่ๆหลายแห่งให้ความสำคัญและมี fdi ไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนอุตสาหกรรมใหม่ 2030

ขณะที่เวลาพูดถึง ‘ไทย’ ตอนนี้ นักลงทุนเริ่มเบือนหน้านี้ เริ่มตั้งคำถามว่า ยังมีเหตุผลที่เขาต้องลงทุนในเมืองไทยอยู่หรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีทางเลือกเยอะกว่าสมัยก่อนมาก นักลงทุนบางรายก็ยังอยากลงทุนอยู่ แต่อยากเห็นพัฒนาการที่ดีกว่านี้ก่อนจะกลับมา ก็ประมาณว่าถ้าอะไรดีขึ้นแล้วมาเรียกก็แล้วกัน

การเมืองไทยเสี่ยงสูง ยากวิเคราะห์และคาดเดา

ใน ข้อสอง ‘การเมืองไทย มีความเสี่ยงสูง วิเคราะห์และคาดเดาได้ยาก‘ ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่า เมื่อก่อนเมืองไทยถูกเรียกว่าเป็น ‘Teflon Thailand’ คือ จะวุ่นวายแค่ไหนก็ยังน่าลงทุน เหมือนใครโยนอะไรลงมาในกระทะเทฟลอนก็ไม่ติด เกิดปัญหาบ้านเมืองอะไรก็ยังน่าลงทุนอยู่

“แต่ตอนนี้ตลาดไทยไม่ได้สวยหรูแบบสมัยก่อนแล้ว ปัญหาการเมืองวุ่นวาย อธิบายตามหลักสากลไม่ได้ กำลังทำให้เกิดความไม่แน่นอนด้านนโยบายและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล”

ดร.พิพัฒน์ บอกว่า “เวลาเราพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็ถามกลับมาว่า เขาต้องพยายามเข้าใจปัญหาพวกนี้หรือ ในเมื่อเขามีทางเลือกให้ไปลงทุนตั้งมากมาย”

ยกตัวอย่างเช่นในวันนี้ศาลมีคดีการเมืองเต็มไปหมด ทำให้เกิดคำถามว่า เรามีระบบสามารถยุบพรรคการเมืองได้ และระบบที่สามารถปลดนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้ โดยข้อหาประหลาดๆ มีความเสี่ยงในการเกิดความสับสนวุ่นวายได้ตลอดเวลา

แล้วนักลงทุนจะเชื่อได้อย่างไรว่านโยบายที่พูดกันในวันนี้ จะได้รับการปฏิบัติในอีกสามเดือนข้างหน้า หรือวันนั้นนายกรัฐมนตรีจะยังอยู่หรือไม่

รวมถึงทำให้เกิดข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินโดนีเซียและอินเดีย ทำให้ความน่าสนใจของประเทศเปลี่ยนไปแบบผิดหูผิดตา ขณะที่เมืองไทยนั้น ดร.พิพัฒน์ละไว้ในตอนสุดท้ายของข้อสอง

กฎระเบียบนโยบายไม่แน่นอน ปัญหาขาดธรรมาภิบาลผุด

ข้อสาม คือ ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบและนโยบาย

ดร.พิพัฒน์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพด้วย ‘การขอบริจาคเงินจากบริษัทขายปลีกน้ำมันเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมัน’ หรือ ‘แนวนโยบายการปรับระบบราคาพลังงานที่สร้างภาระให้กับเอกชน’ หรือ ‘การปรับรายได้สนามบินแบบไม่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น (รายย่อย)’

จนคำว่า ‘national services’ กลายเป็นความกังวลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเกือบทุกการประชุม และนี่ไม่ใช่เคสแบบการเก็บ windfall tax ที่บริษัทได้กำไรเยอะ แล้วรัฐมาขอแบ่งด้วยซ้ำ

“แต่เป็นการสร้างความไม่แน่นอนในการประเมินผลตอบแทนของการลงทุนแบบงงๆ ประมาณว่า growth ก็ไม่ค่อยมีแล้วยังมาดูดเงินจากนักลงทุนรายย่อยไปอีก” ดร.พิพัฒน์บอก

ในข้อสี่ คือ ปัญหาขาดธรรมาภิบาลที่มากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ขาดการจัดการอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว จนกลายเป็นแบบอย่างให้ทำกันมากขึ้น เพราะ “คุ้ม” ทำแล้วโอกาสโดนจับน้อย

ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่า ยิ่งนักลงทุนต่างประเทศออกจากตลาดไป ปัญหายิ่งเพิ่มขึ้น เราเห็นเคสการปั่นหุ้นจำนวนมากค้างอยู่ในระบบ เราเห็นพฤติกรรมการสร้างราคา ลากขึ้นไปเชือดแบบนิ่มๆ เราเห็นการไซฟ่อนเงินออกจากบริษัทแบบที่ใช้เวลานานมากกว่าจะจัดการได้ หรือการสร้างบัญชีเท็จแบบหลอกตาคนทั้งอุตสาหกรรม

“จนกลายเป็นคำถามว่า ในฐานะนักลงทุน เขาจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าระบบการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกจะรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุน และเขาจะไม่ถูกหลอก หรือโดนเอาเปรียบทั้งจากรัฐ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือเมื่อเกิดการกระทำความผิดแล้ว จะมีการดำเนินคดีให้เป็นเยี่ยงอย่าง อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม”

ในตอนสุดท้ายของโพสต์นี้ ดร.พิพัฒน์ ได้สรุปทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญมากในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน แม้ว่าบริษัทในตลาดหุ้นไทยหลายๆ ตัวยังมีโอกาสและศักยภาพที่น่าสนใจในหลายๆ มิติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพใหญ่ดูน่ากังวล

เพราะถ้าดู EPS หรือกำไรต่อหุ้นเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทย จะเห็นว่าแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยในรอบสิบปีที่ผ่านมา ในขณะที่กำไรในตลาดหุ้นอื่นๆ เติบโตได้ สะท้อนให้เห็นว่า ผลตอบแทนของระดมทุนใหม่ ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า

“คงพออธิบายได้ว่าทำไมต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่องมากว่าสิบปี เป็นเงินกว่าหนึ่งล้านล้านบาท (ไม่ต้องถามนะครับว่าเขาเอาจากไหนมาขาย เพราะขายไปขนาดนี้ ต่างชาติยังถือหุ้นไทยมูลค่าอีกกว่า 4 ล้านล้านบาท) และ long sell แบบนี้ โหดร้ายกว่า short sell หลายเท่านัก เพราะเขาไม่ซื้อคืนด้วยนะครับ”

สุดท้าย ดร.พิพัฒน์ ทิ้งท้ายว่า “ถ้าเราไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ มัวแต่แก้ปัญหาแบบไม่ตรงจุด ตลาดไทยอาจจะกลายเป็นตลาดร้างที่ไม่ใครสนใจ สภาพคล่องหดหาย ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับภาคเอกชนของไทยในการระดมเงินลงทุน และเราอาจจะเห็นบริษัทดีๆ ของไทยต้องไประดมทุนในตลาดทุนต่างประเทศก็ได้”

ข่าวเกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา