ขายของถูกจนเป็นเรื่อง บริษัทแม่ Temu กำลังทำเศรษฐกิจจีนย่ำแย่ลง

ใครจะไปเชื่อว่าวันนี้จะมาถึง เมื่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกำลังกลายเป็นชนวนที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเผชิญกับสภาวะเงินฝืด

Temu

ด้วยวิกฤติทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ประชาชนจีนจึงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่โดดเด่นเรื่องการซื้อสินค้าราคาถูกในจีนก็คือ ‘Pinduoduo’

Pinduoduo คือบริษัทอีคอมเมิร์ซจีน ที่คนไทยรู้จักในนามบริษัทแม่ของ ‘Temu’ แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังจากจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 และสามารถแซงหน้าคู่แข่งคนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไตรมาสล่าสุด บริษัทสามารถทำรายได้เพิ่มถึง 86%

Pinduoduo ขึ้นชื่อในเรื่องของส่วนลดและสินค้าราคาถูก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีร้านค้าลดราคา ทางแอปพลิเคชันก็จะแจ้งเตือนไปยังผู้ขายคนอื่นๆ จนเกิดเป็นการตัดราคาแข่งกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Lin Yunyun หนึ่งในแม่ค้าบน Pinduoduo เล่าว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เธอลดราคาสินค้า แพลตฟอร์มก็จะโปรโมตผลิตภัณฑ์ให้ชั่วคราว แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน มันก็จะส่งข้อความมาให้เธอลดราคาลงไปอีก

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า “Pinduoduo เป็นทั้งต้นตอและผลที่ตามมาของภาวะเงินฝืด” 

แต่จะเป็นเพราะอะไรนั้น มาดูกัน

ขายถูกจนเศรษฐกิจจีนย่ำแย่

Chinese Renminbi RMB Yuan หยวน
ภาพจาก Shutterstock

Pinduoduo ดูเหมือนจะเป็นแพลตฟอร์มที่ใส่ใจเรื่องการลดราคาเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำร้านค้าต่างๆ เข้าสู่ ‘ระบบติดตามราคาอัตโนมัติ’ ที่จะปรับราคาสินค้าแต่ละร้านให้ทันทีเมื่อเจอร้านอื่นถูกกว่า โดยไม่ต้องรอผู้ขายอนุมัติ

Pinduoduo อธิบายว่าระบบติดตามราคาอัตโนมัติจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และลูกค้าก็จะเข้าถึงสินค้าราคาย่อมเยาว์ได้มากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ของถูกลงก็ไม่เท่ากับดีเสมอไป เพราะศาสตราจารย์ Harvard Business School ท่านหนึ่งมองว่า การที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเข้ามากดราคาสินค้า จะทำให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่ลงไปอีก เพราะเดิมทีสินค้าก็ราคาถูกมากพออยู่แล้ว 

ยิ่งไปกว่านั้น จากความสำเร็จของ Pinduoduo บริษัทคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Alibaba และ JD.com ก็เริ่มหากลยุทธ์ปรับราคาลงตาม ส่งผลให้ 60% ของผู้บริโภคชาวจีนเลือกที่จะช็อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนเกิดเป็นสภาวะเงินฝืดที่หนักกว่าเดิม

ลดราคาจนแทบไม่มีกำไร แต่เลิกขายไม่ได้

Online Shopping

นอกจากเศรษฐกิจที่แย่ลงเพราะอีคอมเมิร์ซแล้ว บรรดาพ่อค้าแม่ค้าบนแพลตฟอร์มก็ต้องมาตกระกำลำบากเช่นกัน

Lulu Qi เปิดร้านขายเสื้อผ้าบน Pinduoduo มาตั้งแต่ปี 2018 และเธอเองก็ระบายออกมาตรงๆ ว่าปัจจุบันทางแพลตฟอร์มเรื่องเยอะขึ้นมาก เนื่องจากมันชอบเตือนให้เธอปรับราคาลง แลกกับการที่บริษัทจะบูสต์ยอดการเข้าถึงสินค้าให้

ทั้งนี้ Lulu และ Lin ต่างเห็นตรงกันว่า ถ้าต้องลดราคาไปมากกว่านี้ พวกเธอก็ไม่ต้องทำมาหากินอะไรแล้ว เพราะร้านคงไม่เหลือกำไรเลย

ระบบการลดราคาสุดแสนจะน่ารำคาญนี้เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางการกดขี่ร้านค้าของ Pinduoduo เพราะบริษัทยังมีนโยบายที่ไม่เป็นธรรมอีกมากมาย เช่น ในกรณีที่ลูกค้าไม่พอใจกับสินค้าที่ได้รับ พวกเขาสามารถขอเงินคืนได้ทันที โดยไม่ต้องส่งสินค้ากลับมา

ทว่า แม้ระบบจะเฮงซวยแค่ไหนในสายตาผู้ขาย แต่พวกเขาก็ยังไม่คิดจะย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากพอใจที่จะใช้ Pinduoduo ต่อไป

ท้ายสุด รัฐบาลจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจใดๆ ออกนโยบายป้องกันไม่ให้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกดขี่ร้านค้าด้านราคาอีก แต่มาตรการนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน หรือช่วยฉุดเศรษฐกิจขึ้นมาบ้างไหม คงต้องตามดูกันต่อไป

ที่มา: New York Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา