อีคอมเมิร์ซจีนน้องใหม่ ผู้โค่น Alibaba
Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซน้องใหม่อายุ 5 ปีกว่า มียอดผู้ใช้งานแซงหน้า Alibaba ได้อย่างไร?
ยอดผู้ใช้งาน Pinduoduo แซงหน้า Alibaba แล้ว
ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซน้องใหม่อย่าง Pinduoduo รวมกว่า 788.4 ล้านคน ซึ่งนับว่าแซงหน้าพี่ใหญ่ในวงการอย่าง Alibaba ที่มียอดผู้ใช้งานรวมเพียง 779 ล้านคนเท่านั้น
รายได้ปีที่ผ่านมาของ Pinduoduo อยู่ที่ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท) มากกว่ารายได้ปี 2019 ถึง 2 เท่า ทำให้ในปัจจุบัน Pinduoduo ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของ Alibaba และการแข่งขันนี้คงดำเนินต่อไป
บริษัทวิจัยด้านการตลาด eMarketer คาดการณ์ว่า ในปี 2025 ตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนจะเติบโตกว่า 5.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท)
Pinduoduo สำเร็จได้ เพราะมีเกม (Gamification) เป็นจุดขาย
Colin Huang ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo อธิบายภาพของ Pinduoduo ไว้อย่างดีว่า “เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างห้าง Costco ที่ขายส่งสินค้าคุณภาพในราคาย่อมเยากับ Disney ที่ให้ความบันเทิง”
จุดเด่นของ Pinduoduo คือเปิดโอกาสให้หลายๆ คนมาซื้อของร่วมกันในราคาจับต้องได้ ทั้งยังมีเกมสนุกๆ ภายในแอปพลิเคชั่น เพื่อให้ลูกค้าลุ้นรับรางวัลพิเศษหรือคูปองส่วนลดต่างๆ
ลองดูวิดีโอด้านล่างนี้ประกอบ
หนึ่งในเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคือ Duo Duo Orchard ที่ให้ผู้เล่นปลูกต้นไม้เสมือนจริง เพื่อแลกรับบัตรกำนัลและรางวัลที่จับต้องได้ เช่น ผลไม้สด เกมนี้ได้รับความนิยมมาก ถึงขั้นที่ผู้เล่นบางคนติดเกมนี้เลยทีเดียว
Pinduoduo มองว่ากลยุทธ์นี้ช่วยให้ลูกค้าใช้เวลาในแอปพลิเคชั่นนานขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจับจ่ายสินค้าที่มากขึ้นตามไปด้วย
สินค้าเกษตรคือตัวแปรสำคัญในตลาดออนไลน์
เมื่อพบว่าในปี 2020 ลูกค้าหนึ่งคนซื้อสินค้าโดยเฉลี่ยที่ 324 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000 บาท) ทาง Pinduoduo ก็เริ่มหันมาบุกตลาดผักผลไม้สดเพื่อกระตุ้นยอดขาย เพราะผักผลไม้เป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถซื้อได้ทุกวัน
อีกทั้งยังระดมทุนกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) เพื่อช่วยให้เกษตรกรในชนบทมีรายได้จากการขายสินค้าทางการเกษตรมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรสามารถนำกำไรเหล่านั้นไปพัฒนากระบวนการผลิตไดั ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จ เพราะผลิตผลทางการเกษตรสร้างรายได้ให้ Pinduoduo กว่า 15%
หากย้อนกลับไปในฤดูร้อนปี 2015 Colin Huang ก็เริ่มต้น Pinduoduo จากการขายผลไม้ลดราคาในเมืองเซี่ยงไฮ้ และโปรโมทสินค้าครั้งใหญ่ผ่านแอปพลิเคชั่น WeChat จนทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาในระบบอย่างไม่ขาดสาย
บริการอื่นๆ ที่น่าสนใจของ Pinduoduo
อีคอมเมิร์ซน้องใหม่อย่าง Pinduoduo ยังมีความน่าสนใจอีกหลายด้าน เช่น
- การใช้โมเดลธุรกิจแบบ C2M (Consumer to Manufacturer) หรือการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคให้แก่ผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับราคาสินค้าได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
- การเปิดสอนเรื่องอีคอมเมิร์ซให้กับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อยากสร้างแบรนด์ของตัวเองผ่าน Duo Duo University เพื่อเปิดโอกาสให้แบรนด์เหล่านี้มาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Pinduoduo
- ระบบ E-Waybill ที่ช่วยให้ข้อมูลการจัดส่งสินค้ามีความโปร่งใส และอัปเดตข้อมูลกับลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ เพราะในช่วงเทศกาล 618 มีคำสั่งซื้อเข้ามามากกว่า 60 ล้านรายการต่อวัน ทำให้ทาง Pinduoduo พัฒนาระบบนี้ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Pinduoduo ประสบความสำเร็จมากๆ การตรวจสอบจากรัฐบาลก็เพิ่มขึ้น เช่นช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีข่าวว่า พนักงาน Pinduoduo เสียชีวิต เพราะทำงานหนักเกินไป หรือ ข่าว Colin Huang ลาออกจากบริษัท แล้วให้ Chen Lei อดีต CTO ขึ้นมาบริหารงานในตำแหน่ง CEO แทน
ทั้งนี้ แม้ก้าวลงจากตำแหน่งในวัย 41 ปี Colin Huang ก็ยังคงครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 3 ของจีนด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 55.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท)
ที่มา : Wsj, Pinduoduo, Forbes
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา