วิธีคิด Phed Phed ขายอาหารอีสานยังไง ให้รายได้ทะลุ 100 ล้าน

ร้านอาหารอีสานแบบใหม่แบบสับ ไปกี่สาขา เมนูไม่ซ้ำ แต่จำสูตรได้นะ ขอดักไว้ก่อน

Phed Phed

Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู’ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Phed Phed’ ร้านอาหารอีสานรสชาติจัดจ้านจากวัตถุดิบโฮมเมด เลยอยากแบ่งปันมาให้ทุกคนได้อ่านเรื่องราวความสำเร็จว่าจะเผ็ดแซ่บสมชื่อแค่ไหน มาดูกันเลย

เปิดมา 9 ปี ยอดขายทะลุ 100 ล้านบาท

Phed Phed
ภาพจากงาน LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2025

ณัฐพงศ์เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ Phed Phed มาจากตอนที่ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วพบว่าไม่มีร้านส้มตำเจ้าไหนที่ทำได้ถูกใจเลย จึงเกิดเป็นแรงบันดาลให้เปิดร้านอาหารอีสานในแบบที่ตนเองชอบ

“อยากได้เป็นร้านที่บรรยากาศสบาย เย็น ไม่ร้อน อยู่ในห้องแอร์ อยากลบคำสบประมาทที่คนชอบบอกว่า ส้มตำในห้างเป็นรสแบบผู้ดี ไม่ค่อยจัดจ้าน” และนั่นคือเรื่องราวของก่อนจะมาเป็น Phed Phed ส้มตำรสชาติบ้านๆ ที่จัดจ้าน แต่ยังอยู่ในบรรยากาศร้านที่ดี

Phed Phed กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว โดยเมื่อปี 2024 สามารถทำยอดขายกว่า 100 ล้านบาทเลย ซึ่งถ้ามาดูรายได้ย้อนหลังของ ‘บริษัท รสเผ็ดดี จำกัด’ หรือ Phed Phed จะเห็นเลยว่ามีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้

  • 2023: 117 ล้านบาท
  • 2022: 81 ล้านบาท
  • 2021: 37 ล้านบาท
  • 2020: 36 ล้านบาท
  • 2019: 34 ล้านบาท

ขายดีแบบนี้ มีสูตรลับอะไรหรือเปล่า?

ณัฐพงศ์ตอบว่า Phed Phed ทำวัตถุดิบทุกอย่างเอง แม้กระทั่งน้ำปลาร้า ทำให้มีเอกลักษณ์สูง ซึ่งเป็นรสชาติที่ลูกค้าอาจจะไม่เคยทาน โดยเมนูที่ขายดีที่สุดคือ ‘ตำคั่วเส้นเล็ก’ เพราะเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำขายในกรุงเทพฯ 

พอทำวัตถุดิบเองเกือบทั้งหมดแบบนี้ Phed Phed จึงไม่หยุดแค่การเป็นร้านอาหาร แต่ยังเปิดขาย ‘เผ็ดดี’ น้ำพริกโฮมเมด ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำอย่าง Tops, Gourmet Market และ Villa Market ด้วย

แตกแบรนด์ ‘ครวญ’ ขายได้เดือนละ 6 แสน

Phed Phed
ภาพจาก Facebook: Phed Phed – ร้านเผ็ดเผ็ด

ปัจจุบัน Phed Phed มีหน้าร้านอยู่ 8 สาขาทั่วกรุงเทพมหานคร และยังมีร้านในเครืออีกแห่งหนึ่งชื่อว่า ‘ครวญ’

ณัฐพงศ์เผยว่า สาเหตุที่ต้องทำร้านครวญแยกออกมาก็เพราะ เดิมที Phed Phed ได้โลเคชันใหม่ในตึกมหานคร เป็นร้านคล้ายๆ กับฟู้ดคอร์ท ซึ่งมีพื้นที่จำกัด เลยสามารถทำแค่ส้มตำ ยำ และลาบ แต่ทำของย่างของทอดไม่ได้ 

ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจเปิดแบรนด์ครวญขึ้นมาใกล้ๆ เพื่อเมนูเหล่านี้โดยเฉพาะ 

ครวญถือเป็นอีกหนึ่งร้านอาหารในเครือที่ทำได้ดี เพราะสามารถทำยอดขายราวๆ 6 แสนบาทต่อเดือน แต่ก็ยังไม่มีแพลนที่จะขยาย เนื่องจากณัฐพงศ์มองว่า เป็นแค่การทดลองเฉยๆ

8 สาขา เมนูไม่ซ้ำ ลูกค้าจะได้ไม่ถาม “ทำไมรสชาติไม่เหมือนกัน”

Phed Phed
ภาพจาก Facebook: Phed Phed – ร้านเผ็ดเผ็ด

ขณะเดียวกัน สำหรับ Phed Phed ณัฐพงศ์เผยว่าในปีนี้ จะเน้นขยายสาขาให้ใหญ่ขึ้นอย่างเดียว แต่คงไม่เปิดที่อื่นเพิ่ม

“เราเคยคิดเสมอว่าอยากจะทำร้านแค่ 10 สาขา แต่อยากมีแบรนด์อื่นที่มันแมสขึ้นกว่าเดิม ก็คืออยากหาธุรกิจร้านอาหารอีกแบบหนึ่ง ที่สามารถ Copy+Paste ได้ เพราะ Phed Phed ปัจจุบัน เอกลักษณ์ทุกสาขาคือเมนูไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็อปวางไม่ได้” ณัฐพงศ์อธิบาย

เขายังพูดเพิ่มเติมว่า แพลนขยายให้ถึง 10 สาขานี้ น่าจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 2 ปีเลย เพราะอยากวางแผนให้ชัดเจน และส่วนตัวก็อยากทำธุรกิจที่ใช้คนน้อย ขยายได้เร็ว แต่ Phed Phed ใช้ปริมาณบุคลากรค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเป็นเมนูคราฟต์

ส่วนสาเหตุที่แต่ละสาขาเมนูไม่เหมือนกัน ณัฐพงศ์เล่าว่า “ผมเป็นคนเครียดมากถ้าลูกค้ามาคอมเพลนว่ารสชาติสาขานี้ไม่เหมือนอีกสาขา ลูกค้าเราเป็นลูกค้าประจำ 90% ไม่ค่อยมีขาจร พออะไรเปลี่ยนนิดหน่อย ก็อาจทักมาทันที และถ้ายิ่งอาหารทุกสาขาเหมือนกัน ผมว่าลูกค้ามีการคอมเพลนมากกว่าเดิม เลยทำให้ทุกสาขาไม่เหมือนกัน จะได้ไม่เกิดการเปรียบเทียบ”

ด้วยเหตุนี้ Phed Phed เลยยังเน้นรักษาลูกค้าเดิม เพราะเป็นเอกลักษณที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของแบรนด์ แต่ถ้าในอนาคตมีธุรกิจอื่นๆ เพิ่ม ณัฐพงศ์ก็เชื่อว่าคงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท

Phed Phed เป็นตัวอย่างความสำเร็จของคนที่มีความฝันและกล้าที่จะลงมือทำ ดังนั้น เราหวังว่าเรื่องราวของ ต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู คงเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยได้เดินตามเป้าหมายของตนเองไม่น้อยนะ

ที่มา: Corpus X

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา