เมื่อประกันภัยสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยมีขายถึง 4 เจ้าแต่ความคุ้มครองก็ไม่เหมือนกันทั้งหมดต้องเลือกแบบไหนดี?
ปัจจุบันในไทยมี 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ออกแบบประกันภัยสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัข และแมวมาขายลูกค้า ได้แก่ บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.ฟอลคอนประกันภัย บมจ.เมืองไทยประกันภัย และ บมจ.มิตรแท้ประกันภัย อายุสัตว์เลี้ยงที่รับประกันส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3 เดือน – 7 ปี
โดยความคุ้มครองพื้นฐานทั้ง 4 บริษัท ได้แก่ ความคุ้มครองกรณีสัตว์เลี้ยงเสียชีวิต (ของทิพยประกันภัยต้องซื้อแพ็กเกจเสริมถึงจะมี) ค่ารักษาสัตว์เลี้ยงกรณีเจ็บป่วย ค่ารักษาจากอุบัติเหตุ ความคุ้มครองบุคคลภายนอก (เช่น สุนัขกัดขาผู้อื่น หรือกัดรองเท้าขาด ก็เคลมได้)
นอกจากนี้ยังมีความคุ้มครองเพิ่มเติมที่แต่ละบริษัทมีไม่เหมือนกัน เช่น มีค่าวัคซีน ค่าพิธีงานศพของสัตว์เลี้ยง ค่าโฆษณาเมื่อตามหาสัตว์เลี้ยงหายไป และค่าฝากเลี้ยงกรณีเจ้าของเดินทางไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามก่อนจะเลือกซื้อแบบประกันต้องดูวงเงินความคุ้มครอง เบี้ยประกัน เพราะแต่ละบริษัทให้วงเงินจำกัดในการคุ้มครองแต่ละอย่างไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับแผนที่เลือก
ที่จริงแล้วแบบประกันสัตว์เลี้ยงวิธีการเลือกจะคล้ายกับประกันของคน คือ ดูเงื่อนไขของตนเอง (หรือสัตว์เลี้ยงก่อน) และเลือกความคุ้มครองที่อยากได้ ตามด้วยเลือกวงเงินความคุ้มครองที่อยากจะซื้อ ส่วนใหญ่แผนที่สูงขึ้นความคุ้มครองมากขึ้น ค่าเบี้ยประกันก็สูงขึ้นไปด้วย
จุดเด่น-จุดอ่อนของแบบประกันทั้ง 4 บริษัท
บมจ.ทิพยประกันภัย
จุดเด่น – รับประกันสัตว์เลี้ยงสูงสุดอายุ 9 ปี (สัตว์เลี้ยงต้องตรวจสุขภาพก่อน), ไม่บังคับฝัง Microchip, เบี้ยประกันเริ่มต้น 500 บาทต่อปี (แต่ความคุ้มครองน้อย), มีค่าฝากเลี้ยงเมื่อเจ้าของเดินทางไปต่างประเทศ
จุดอ่อน – หากต้องการความคุ้มครองให้เท่าเทียมบริษัทอื่นต้องซื้อแพ็กเกจเสริม (แต่ซื้อได้เฉพาะแพ็กเกจ S ขึ้นไป)
บมจ.ฟอลคอนประกันภัย
จุดเด่น – ไม่บังคับฝัง Microchip, มีความคุ้มครองค่อนข้างครบ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าพิธีศพ ค่าโฆษณาตามหาสัตว์เลี้ยง
จุดอ่อน – จำกัดวงเงินการเคลมเมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยจาก พยาธิ เห็บ หมัด ไร เรื้อน โรคผิวหนัง (ซึ่งเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดได้บ่อย)
บมจ.เมืองไทยประกันภัย
จุดเด่น – มีแพ็กเกจทั้งสัตว์เลี้ยงที่ไม่ฝัง Microchip และฝัง Microchip (ค่าเบี้ยถูกกว่าแบบไม่ฝังชิป 200 บาท), มีค่าวัคซีน
จุดอ่อน – ไม่มีค่าพิธีศพ
บมจ.มิตรแท้ประกันภัย
จุดเด่น – ขอวงเงินเอาประกันที่สูงขึ้นได้ (ค่าเบี้ยก็แพงขึ้น) เหมาะสำหรับสุนัข แมวที่ชนะประกวด หรือซื้อขายด้วยมูลค่าสูง
จุดอ่อน – เบี้ยประกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สัตว์เลี้ยง, ต้องยื่นเอกสารการฝัง Microchip, ไม่คุ้มครองกรณีสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตหรือต้องค่ารักษาพยาบาล ถ้าได้รับอุบัติเหตุจากยานพาหนะ
ประกันสัตว์เลี้ยงไม่จ่ายเรื่องอะไรบ้าง?
กรณีที่บริษัทประกันภัยจะไม่ให้ความคุ้มครอง (ไม่จ่ายเคลม) มักจะมีเงื่อนไขคล้ายกัน ได้แก่
- สัตว์เลี้ยงถูกฆ่าโดยเจตนา เช่น ถูกวางยา ถูกแกล้ง ฯลฯ
- กรณีเสียชีวิตจากการเลี้ยงไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ภาวะขาดอาหาร เสียชีวิตจากความร้อน
- กรณีเสียชีวิตจากโรคระบาด หรืออยู่ในภาวะสงคราม
- ไม่คุ้มครองสัตว์เลี้ยงจากโรคที่ป่วยก่อนทำประกัน
- ไม่เสียชีวิตหรือป่วยภายใน 60 วันแรก (waiting Period ลักษณะเดียวกับคนที่จะไม่คุ้มครองภายใน 60 วันแรก โดยจะจ่ายเบี้ยประกันภัยคืนให้ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุยังคุ้มครอง)
บางบริษัทจะมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น สิ้นสุดความคุ้มครองเมื่อขายสัตว์เลี้ยงให้คนอื่น หรือ บริษัทรู้ว่าเลี้ยงผิดวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้กับบริษัท
เงื่อนไขพื้นฐานในการรับทำประกันภัยสัตว์เลี้ยง
- สัตว์เลี้ยงต้องสุขภาพดีสมบูรณ์ ไม่ป่วย ไม่บาดเจ็บ ไม่พิการ
- สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ในประเทศไทย
- 1 ตัว ซื้อได้ 1 กรมธรรม์ (ต่อ 1 บริษัท)
- มีเอกสารทางการแพทย์ หรือ การตรวจสุขภาพ (บางที่บอกว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ต้องมีเอสารการฉีดวัคซีนตามที่สัตวแพทย์นัด เช่น โรคไข้หัด (สุนัข/แมว) โรคหวัด โรคฉี่หนู โรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ
สรุป
การทำประกันภัยสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันยังมีแพ็กเกจให้สุนัขและแมว หากเป็นสัตว์ประเภทอื่นต้องติดต่อกับบริษัทให้ทำกรมธรรม์พิเศษให้ ) ซึ่งวิธีการรับประกันยังเหมือนคนเพราะ ต้องทำประกันก่อนเป็นโรค ทำประกันตอนสุขภาพดีถึงจะคุ้มครองครบถ้วน
ที่มา เมืองไทยประกันภัย, PetInsure 1 (ทิพยประกันภัย), 2 (Falcon), มิตรแท้ประกันภัย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา