อินโทรเวิร์ตพูดน้อย เอ็กโทรเวิร์ตพูดไม่หยุด ทำไมเราถึงยึดติดกับการนิยามตัวตน?

ช่วงหลังมานี้ Buzzword อย่าง Introvert และ Extrovert กลายมาเป็นคำใหม่ที่เอาไว้นิยามนิสัย การเข้าสังคมของแต่ละคน (ถ้าเป็นแต่ก่อนที่คุ้นหูกันคงเป็น เด็กแนว เด็กอินดี้) เป็นอันเข้าใจกันอย่างคร่าว ๆ ว่า Introvert จะเป็นคนไม่นิยมการเข้าสังคม เติมพลังให้ชีวิตด้วยการอยู่กับตัวเอง ส่วน Extrovert จะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน รักการเข้าสังคมแบบเต็มหลอด ยิ่งได้เจอผู้คน เหมือนได้ฮีลใจมีพลังใช้ชีวิตในวันนั้นต่อไปแบบไร้ขีดจำกัด แม้จะเป็น Buzzword ที่เราเพิ่งมาได้ยินในวงกว้างในช่วงนี้ แต่จริง ๆ คำนิยามเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1920 โดย Carl Jung นักจิตวิทยาชื่อดัง 

แต่คนเรามีนิสัยแค่ 2 แบบนี้หรอ? แน่นอนว่าไม่ เลยไม่ Buzzword ใหม่ที่ตามมาอย่าง Ambivert เอาไว้นิยามคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนสองแบบ เป็นบุคลิกที่ยืดหยุ่น สามารถเข้าสังคมได้และชาร์จแบตกับตัวเองได้เช่นกัน หรือว่าเราไม่อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ทั้งหมด ในเส้นของการเข้าสังคมและการเก็บตัวนี้ สามารถมีได้หลายเฉดมากกว่าการระบุไปที่ปลายด้านใดด้านหนึ่งหรือเปล่า?

งานวิจัยจาก University of Amsterdam โดย Michael Cohen ได้ให้ผู้เข้าร่วมทดลอง เล่นเกมการพนันระหว่างสแกนสมองไปด้วย ก่อนเข้าเครื่องสแกน ผู้เข้าร่วมแต่ละคนต้องกรอกประวัติบุคลิกภาพและเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในช่องปากเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางพันธุกรรม จากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายสมอง แสดงให้เห็นว่าการทำงานของสมองแตกต่างกันอย่างไรระหว่างอาสาสมัคร Introvert และ Extrovert 

ผลปรากฎว่า เมื่อการพนันเริ่มขึ้น พวกเขาได้ผลตอบแทน กลุ่ม Extrovert แสดงการตอบสนองที่เข้มข้นขึ้นในสองบริเวณสมองที่สำคัญ ได้แก่ amygdala ที่ทำหน้าที่ด้านการประมวลผลสิ่งเร้าทางอารมณ์ และ nucleus accumbens เป็นส่วนสำคัญของวงจรการให้รางวัลของสมองและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ dopamine ผลลัพธ์ที่ได้ ยืนยันทฤษฎีนี้ว่า Extrovert มีกระบวนการรับรางวัลที่แตกต่างออกไป

นั่นหมายความว่าความแตกต่างระหว่างคนสองแบบนี้เนี่ย มีจริง แต่เราก็จะย้อนกลับมาประเด็นที่ว่า มันมีแค่บุคลิกขี้อายกับเข้าสังคมเก่งและยืดหยุ่น แค่นั้นหรือ? อีกหนึ่งการนิยามบุคลิกที่โด่งดังจนหลายคนหยิบมานิยามตัวเองแบบจริงจังอย่าง MBTI (Myers–Briggs Type Indicator) แบบสอบถามทางจิตวิทยาที่ออกแบบมาเพื่อสำรวจวิธีรับรู้และตัดสินใจต่อโลก โดยอ้างอิงจากทฤษฎีของ Carl Jung อีกเช่นกัน 

เราเลยได้เห็นรหัสตัวอักษร 4 ตัว บน Bio บัญชี social media ของใครหลายคน เพื่อนิยามตัวตน แสดงความเป็นตัวเองกันตั้งแต่ยังไม่รู้จักกัน ทำไมคนเราถึงชอบการนิยามตัวตนมากขนาดนั้น?

  • ได้เข้าใจตนเอง
    เดิมทีอัตลักษณ์และบุคลิกภาพของมนุษย์มีความซับซ้อน หลากหลาย เกินกว่าจะนิยามได้ง่าย ๆ แต่ MBTI มาตีกรอบนิยามที่ตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย ทำให้ผู้คนเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ว่าบุคลิกของเรานั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร อยู่ในประเภทไหน เหมือนได้เข้าไปสำรวจตัวตนของตัวเองได้มากขึ้น เพราะเรามักสงสัยใคร่รู้เรื่องของตัวเองอยู่เสมอ 
  • เธอกับฉันเหมือนกันไหม?
    เมื่อได้นิยามแล้วว่าแต่ละคนเป็นแบบไหน สิ่งที่จะตามมาคือความสนใจในตัวตนของผู้อื่น ว่าใครกันนะที่จะมีนิสัยเหมือนกับเรา คล้ายกับเราในด้านไหนบ้าง ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะมองหาคนที่มีความคล้ายคลึงกับเรา เพื่อรวมกลุ่มกันและรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ว่ากันง่าย ๆ คือ คอเดียวกันคุยกันง่ายนั่นแหละ
  • ไม่ตัดสินว่าใครดี-ไม่ดี
    ไม่ว่าจะคนเข้าสังคมหรือคนเก็บตัว หรือหนึ่งใน 16 ประเภท ของ MBTI ทั้งหมดนี้ไม่มีการชี้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่ช่วยให้เราตระหนักรู้ในตนเองมากขึ้น รู้จักบุคลิกภาพหลักที่ทำให้เราคล้ายกัน แตกต่าง และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง 

 

อ้างอิง

What makes us extroverts and introverts? – BBC Future

Why is The MBTI Popular | Career and Personality Assessments (careerassessmentsite.com)

Why Do We Like Personality Tests, Even the Bad Ones? | Psychology Today

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา