ผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 สินเชื่อ SME หดตัว 1% คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองเพิ่มขึ้น สามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ สำหรับผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้น 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,738 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุนและการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่ง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.2% 

มีเงินสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 9.9 พันล่านบาท มาอยู่ที่ 6.9 แสนล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 196.3% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤตอยู่ในระดับสูงที่ 185.0% 

การชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงต่อเนื่องจาก 4.2% ในไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3.8% ดังนี้ 

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

สินเชื่อธุรกิจ 64.7% ของสินเชื่อรวม ขยายตัว 1.3% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.2% อยู่ที่ 2.6% สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 1.0% จากที่ขยายตัว 0.1% ในไตรมาสก่อน สินเชื่อลดลงในธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (35.3% ของสินเชื่อรวม) ยังเติบโตในระดับสูง มีอัตราเติบโตลดลงจากไตรมาสก่อนจาก 9.2% เป็น 8.7% เป็นผลมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนมาตรการ LTV บังคับใช้ สินเชื่อรถยนต์เติบโตลดลงตามยอดขาย สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ภาพรวมมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) หรือหนี้เสีย ต่อสินเชื่อโดยรวมเพิ่มขึ้น จาก 2.95% เป็น 3.01% ยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 4.695 แสนล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสก่อน 1.9 หมื่นล้านบาท 

ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์เพิ่มขึ้น สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ​ (Special Mention: SM) ลดลงจาก 2.74% ในไตรมาสก่อนเป็น 2.59% เนื่องจากลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น NPL

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 9.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายได้พิเศษการขายเงินลงทุนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมกำไรสุทธิ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 อยู่ที่ 2.144 แสนล้านบาท 

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา