Perfectionist: รักความสมบูรณ์แบบมากไป อาจเป็นนิสัยที่สร้างความอึดอัดให้เพื่อนร่วมงาน

Perfectionist เป็นคำที่ใช้เรียกคนที่รักความสมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านการทำงาน และชีวิตส่วนตัว คนเหล่านี้จะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดความผิดพลาด และอยากให้ทุกๆ สิ่งที่ตัวเองทำมีความสมบูรณ์แบบเสมอ

ภาพจาก Unsplash โดย Sebastian Herrmann

แม้ว่าคนที่เป็น Perfectionist หลายคนจะใช้ความพยายามที่จะทำทุกงานให้มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดให้เป็นประโยชน์จนประสบความสำเร็จในสายอาชีพของตัวเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าความจริงแล้ว Perfectionist ไม่ได้มีแต่ข้อดีเท่านั้น โดยเฉพาะหากต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเจ้านาย หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานในทีม

Emily Kleszewski และ Kathleen Otto นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Philipps University of Marburg ในประเทศเยอรมันนี เล่าว่า Perfectionist หลายคนไม่ใช่คนประเภทที่เพื่อนร่วมงานอยากทำงานด้วยมากนัก เพราะถ้าถามเพื่อนร่วมงานว่าอยากทำงานกับใคร เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่มักตอบว่าอยากทำงานกับคนที่มีนิสัยกลางๆ ยอมรับความจริงมากกว่าคนที่เป็น Perfectionist

ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็น Perfectionist มักนำนิสัยรักความสมบูรณ์แบบมาใช้กับการทำงานมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเพื่อนร่วมงานจึงไม่เต็มใจที่จะทำงานกับ Perfectionist เพราะบางครั้งอาจถูกกดดันมากจนเกินไป จนส่งผลต่อบรรยากาศในการทำงาน

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1950 ในขณะนั้น Perfectionist ถูกมองในแง่ลบเพียงอย่างเดียว และถูกจัดให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบประสาท ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความคิดในอุดมคติของตัวเอง ต้องสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ มีการตั้งความหวังกับตัวเองที่มากเกินไป แต่ในยุคถัดมามีการเปลี่ยนมุมมองต่อ Perfectionist จากอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิต ประเภทเดียวกับความเครียด ความหดหู่ และอาการหมดไฟ ที่เกิดจากการตั้งความหวังกับตัวเองมากเกินไป

Perfectionist ควรระวัง กระทบความสัมพันธ์คนรอบข้าง

Kleszewski และ Otto เคยทำการสำรวจสภาพการทำงานโดยให้เพื่อนร่วมงานทั้งที่เป็นและไม่ได้เป็น Perfectionist ตอบคำถามเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ผลสำรวจพบว่าคนที่เป็น Perfectionist มักถูกมองว่าเป็นคนที่ทำงานเก่ง มีความสามารถ แต่ยากที่จะเข้าหา เพราะนิสัยเย็นชาในบางครั้ง เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ จึงรู้สึกว่าไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีม ส่วนคนที่ไม่ได้เป็น Perfectionist จะถูกมองว่ามีทักษะในการเข้าสังคมเก่งกว่า คนอื่นอยากทำงานด้วย แม้จะไม่ได้เก่งมากก็ตาม

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่า Perfectionist ทุกคนจะต้องส่งพลังในแง่ลบไปหาคนอื่น จนเพื่อนร่วมงานไม่อยากทำงานด้วย เพราะในความจริงแล้ว Perfectionist มีหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีลักษณะที่ต่างกันออกไป

Perfectionist มี 3 ประเภท

Perfectionist ประเภทแรกคือ Self-oriented Perfectionist คือ Perfectionist ที่ตั้งมาตรฐานความสมบูรณ์แบบให้กับตัวเอง คาดหวังว่าตัวเองจะต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แต่ไม่ได้ไปกดดันคนอื่นให้ทำตามมาตรฐานของตัวเอง

ภาพจาก Unsplash โดย Headway

ประเภทที่สองคือ Socially Prescribed Perfectionist คือ Perfectionist ที่เชื่อว่าคนอื่นๆ ในสังคมจะยอมรับถ้าตัวเองมีความสมบูรณ์แบบ และประเภทสุดท้ายคือ Other-oriented Perfectionist คือ Perfectionist ที่ตั้งความหวังกับคนรอบตัวว่าจะต้องสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ ไร้ข้อผิดพลาด ซึ่งแน่นอนว่า Perfectionist ประเภทนี้ย่อมส่งพลังในแง่ลบสู่คนอื่นได้ง่าย

แม้ว่าหลายคนอาจไม่อยากร่วมงานกับคนที่เป็น Perfectionist เพราะกลัวความกดดันนอกจากนี้นักจิตวิทยายังแนะนำด้วยว่าหากจำเป็นต้องร่วมงานกับคนที่เป็น Perfectionist ว่า ต้องพยายามอย่าปล่อยให้ Perfectionist ทุ่มเทพลัง และตั้งความหวังกับงานที่ทำมากเกินไป เพราะมันอาจกลายเป็นการส่งพลังในแง่ลบออกมาสู่คนอื่น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อความสัมพันธ์ในการทำงาน หัวหน้าทีมควรให้ความสนใจกับความเป็นอยู่และสุขภาพจิตที่ดีของคนในทีมเช่นกัน

ที่มา – BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา