PepsiCo ขายแบรนด์น้ำผลไม้ Tropicana ทิ้ง ในวันที่ผู้คนไม่ดื่มน้ำหวานอีกต่อไป

PepsiCo ประกาศขายหุ้นของ Tropicana และแบรนด์น้ำผลไม้อื่นๆ โดยให้เหตุผลว่าอยากเน้นพัฒนาเครื่องดื่มและขนมเพื่อสุขภาพต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่บีบคั้นด้านค่าใช้จ่าย

เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ทาง PepsiCo ได้ทำการขายหุ้นของแบรนด์ Tropicana และแบรนด์น้ำผลไม้อื่นๆ ในภูมิภาคอเมริกาเหนือให้แก่ PAI Partners บริษัทลงทุนรายใหญ่จากฝรั่งเศส ด้วยมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท)

ทั้งสองบริษัทจัดตั้งบริษัทค้าร่วม (Joint Venture) ขึ้นมาใหม่ โดย Pepsico จะยังถือหุ้นอยู่ 39% และมีความเป็นไปได้ที่จะขายหุ้นของแบรนด์น้ำผลไม้ที่เจรจาไว้ในภูมิภาคยุโรปเพิ่มในอนาคต

Ramon Laguarta ประธานบริหารของ PepsiCo อธิบายว่าการขายหุ้นครั้งนี้จะ “มอบอิสระให้เราดูแล Portfolio สินค้าที่หลากหลายที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันได้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาสินค้าประเภท ขนมเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่ม 0 แคล รวมถึงสินค้าอย่าง SodaStream ที่ช่วยให้ชีวิตของลูกค้าและโลกของเราดีขึ้นอีกด้วย”

น้ำผลไม้ไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอีกต่อไป

ธุรกิจเครื่องดื่มน้ำผลไม้ของ Pepsico ดึงกำไรของเครือลง ด้วยการที่ยอดขายของน้ำผลไม้ในตลาดตกอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2020 ธุรกิจน้ำผลไม้ทำรายได้ให้ PepsiCo ได้ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท) และอัตรากำไรต่ำกว่ากำไรเฉลี่ยของธุรกิจในเครือทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ น้ำผลไม้ถูกโฆษณาว่าดีต่อสุขภาพ แต่พอภายหลังผู้คนรับรู้ว่าน้ำผลไม้มีแต่น้ำตาลและไม่ได้ให้พลังงานที่มากพอ ผู้บริโภคบางส่วนก็ไม่ดื่มน้ำผลไม้อีกต่อไป ณ ปัจจุบัน สินค้าที่เข้ามาทดแทนน้ำผลไม้คือ น้ำเปล่า เครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ และ น้ำผักสกัดเย็น (fresh-pressed green juice)

อีกทั้ง น้ำผลไม้ โดยเฉพาะน้ำส้ม ถูกโฆษณาว่าควรกินร่วมกับอาหารเช้ามาอย่างยาวนาน จึงกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกมองข้ามเมื่อผู้คนกินอาหารเช้าระหว่างการเดินทางมากขึ้น

Photo by Thought Catalog on Unsplash

สถานการณ์ของคู่แข่งอย่าง Coca Cola

ด้าน Coca Cola ต้องแบกรับความเสี่ยงที่มากกว่า PepsiCo เพราะพึ่งพารายได้จากการวางจำหน่ายเครื่องดื่มในโรงหนัง ร้านอาหาร และบาร์ต่างๆ ในสัดส่วนที่มากกว่า PepsiCo ผู้ที่เน้นการวางสินค้าตามร้านขายของชำและซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์น้อยกว่า

ทาง Coca Cola เองก็ได้ขายแบรนด์น้ำมะพร้าว ZICO ทิ้ง และเลิกธุรกิจเครื่องดื่มบางแบรนด์ไปเช่นเดียวกัน แต่เหตุผลมาจากการปรับตัวจากโควิดมากกว่า

สรุป

เห็นได้ว่าธุรกิจประเภทเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างชัดเจนและสร้างค่าใช้จ่ายจำนวนมากให้แก่ผู้ผลิตซึ่งไม่คุ้มกำไรในบางสถานการณ์ อีกทั้ง เทรนด์การดื่มน้ำผลไม้ที่น้อยลงก็น่าจับตาว่าแบรนด์จะนำเสนอเครื่องดื่มทดแทนออกมาเช่นไรบ้าง

ที่มา – CNN, Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา