ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ทำอะไร ทำไมปอดประชาชนยิ่งพัง?
วันนี้ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีที่ 3 ในปี 2566
รายงานจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW ระบุว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ทางภาคเหนือมีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤติระดับสูงสุด มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมกว่า 2 ล้านคน
โดยเฉพาะจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน มีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่องกันนานนับสัปดาห์ เป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงและถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน
โดยเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ภาคเหนือ และประชาชนจึงได้ร่วมกันยื่นฟ้อง ดังนี้
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
- คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
- คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
- คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
จากเหตุที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบายและแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤตฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย 7-9 เมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้อง มีประชาชนร่วมลงชื่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญาจำนวนกว่า 980 คน
ยังมีภาคประชาสังคมอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เช่น กลุ่ม สม-ดุลเชียงใหม่, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น – CPCR, Greenpeace Thailand, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW และเครือข่ายอื่นๆ
การฟ้องคดีนี้ มีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
1) ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
2) ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวด้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปี ในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้าและปัญหายังคงความรุนแรงอยู่
3) ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลซึ่มีหน้าที่ครองคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน อันเกี่ยวเนื่องกับแแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
ฝุ่นควันหนักหน่วงเกินปอดคนจะรับไหว ไม่ควรมีใครต้องรับมลพิษอันตรายขนาดนี้
ด้านชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่แถลงผ่านเพจสภาลมหายใจเชียงใหม่ ระบุว่าสถานการณ์ฝุ่นควันหนักหน่วงเกินกว่าปอดคนจะรับไหว ทุกคนไม่ควรต้องรับมลพิษที่อันตรายขนาดนี้ ภาคประชาชนรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกมาตลอด 3-4 ปี สภาลมหายใจเชียงใหม่ยังเคยร่วมฟ้องกับกรีนพีซและ Enlaw (มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม) เรื่องลดคุรค่ามาตรฐานคุณภาพอากากาศจาก 50 มก./ลบ.ม. ให้ลดลงเหลือ 25 มก./ ลบม. ส่งผลให้ลดลงเหลือ 37 มก./ ลบม. สำเร็จ
ครั้งนี้ก็มีคณะนิติศาสตร์ มช เป็นหลัก ร่วมกับ Enlaw กรีนพีซร่วมฟ้องนายกที่มีอำนาจตาม ม.9 พรบ. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ แต่ไม่ได้ทำแะไรที่แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษฝุ่นควันภาพรวม คณะกรรมการฝุ่นชาติที่ไม่มีประสิทธิภาพและ กลต. ที่ไม่กำกับบริษัทที่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม
การร่วมฟ้องเป็นการยกระดับจากการแก้ปัญหาฝุ่นควันเฉพาะ จ. เชียงใหม่เป็นการแก้ในภาพรวม ที่ต้องมีกฎหมาย มีนโยบาย มีแผน มีงบประมาณการแก้ปัญหาเชิงรุกเชิงป้องกันทุกสาเหตุ ยั่งยืน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการแก้แบบเดิมๆ มา 16 ปี ปีหน้าจะยิ่งหนัก หากทำเช่นเดิม เราจะเจอวิกฤติแบบเดิม
เสี่ยงเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 1.7 เท่า
ด้าน นพ. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปสาระสำคัญจากการรายงานการวิจจัยผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวของ PM 2.5 ประชาชนที่อาศัยอยู่ ในเมืองที่ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ต่อปี อยู่ที่ราว 50 mcg/m3 อย่างเชียงใหม่ เสี่ยงต่ออะไรบ้าง
1. ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดโดยรวมเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า แต่เสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดชนิด EGFR mutation ที่มักพบในคนไม่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 7 เท่า
2. เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 1.7 เท่า
3. เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1.5 เท่า
4. อายุขัยสั้นลง 4 ปี
ที่มา – Greenpeace, Breath Council, Rungsrit Kanjanavanit
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา