เคล็ดลับบริหารคนจาก 3 บริษัทที่พนักงานมีความสุขติดอันดับโลก

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรดีจะดึงดูดให้คนเก่งๆ อยากสมัครมาร่วมงาน และส่งผลให้ผลประกอบการเหนือกว่าคู่แข่งได้ในที่สุด 

how to create happy workplace
เคล็ดลับบริหารคนจาก 3 บริษัทที่พนักงานมีความสุขติดอันดับโลก

Brand Inside ขอชวนคุณผู้อ่านมาเรียนรู้เคล็ดลับการเป็นองค์กรแห่งความสุข ผ่านกรณีศึกษาของ Zoom Microsoft และ Linkedln ซึ่งเป็น 3 องค์กรที่ติดอันดับของบริษัทที่พนักงานมีความสุขที่สุดในปี 2020 จากผลสำรวจของเว็บไซต์ Comparably 

Zoom

Eric Yuan ซีอีโอคนปัจจุบันทำอย่างไรให้ Zoom ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ขององค์กรที่พนักงานมีความสุขที่สุดในปี 2020 

Eric Yuan เชื่อว่าลูกค้าจะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อดูแลให้พนักงานมีความสุขในทุกๆ วันก่อน แล้วลูกค้าจะสัมผัสได้เองว่าบริการของบริษัทเรานั้นแตกต่างและโดดเด่นกว่าที่อื่นโดยสิ้นเชิง

วิธีคัดเลือกคนเข้าทำงานของบริษัทนี้ก็น่าสนใจ เพราะทางบริษัทไม่ได้คัดเลือกจากการดูว่าคนนั้นเคยทำงานในบริษัทใหญ่ๆ มาก่อนหรือเปล่า แต่จะมองว่าคนนั้นมีศักยภาพที่จะเติบโตในบริษัท Zoom หรือไม่แทน 

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการให้พนักงานในบริษัทแนะนำคนรู้จักให้เข้ามาทำงานที่ Zoom หรือเรียกอีกอย่างว่าการรีเฟอร์นั่นเอง เพราะ Eric Yuan เชื่อว่าพนักงานในบริษัทจะแนะนำคนที่มีความสามารถและมีลักษณะนิสัยเหมาะสมกับบริษัทมาให้อย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่เขามองหาในตัวพนักงานทุกคนก็คือการมีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากประสบความสำเร็จ และความขยันในการศึกษาเรียนรู้เรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง

Microsoft

Microsoft ก็ติดอันดับ 3 ของบริษัทที่พนักงานมีความสุขที่สุดในปี 2020 เพราะ Satya Nadella ซีอีโอคนปัจจุบันทราบดีว่า พนักงานทุกคนต้องการรู้สึกว่าตัวเองสำคัญต่อบริษัท ซึ่งก็เคยมีผลสำรวจออกมาแล้วว่าคนส่วนใหญ่ลาออกจากบริษัทเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่สำคัญอีกต่อไป มากไปกว่าปัญหาเรื่องเงินเดือนหรือวันลาน้อยเสียอีก ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นผู้บริหาร เป็นหัวหน้าหรือเป็นพนักงานทั่วไปก็ตาม เราก็ควรให้ความสำคัญกับคนที่เราทำงานด้วยเสมอ 

นอกจากนั้น Microsoft ยังไม่สนับสนุนให้พนักงานทำงานล่วงเวลาวันละหลายชั่วโมงอีกด้วย เพราะทางบริษัทเชื่อว่าถ้าคนทำงานติดๆ กันหลายชั่วโมงจะส่งผลให้มีความสุขลดลง ที่สำคัญสิ่งที่บริษัทนี้ไม่เห็นด้วยที่สุดก็คือการเสียเวลาประชุมไปหลายชั่วโมงแต่ไม่ได้ผลลัพธ์อะไรกลับมาเท่าที่ควร

มีผลวิจัยออกมาแล้วว่าพนักงานที่ประชุมเฉลี่ย 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะไม่ค่อยมีความสุข ดังนั้น ที่ Microsoft จึงไม่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบบางบริษัทที่ประชุมครั้งละ 20-30 คน แต่กลับมีคนพูดเสนอความคิดเห็นกันจริงๆ เพียง 2-3 คนเท่านั้น 

ดังนั้น ทาง Microsoft จึงสนับสนุนว่าพนักงานแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทุกการประชุม แต่ให้เข้าแค่การประชุมที่สำคัญ แล้วหันมาโฟกัสกับงานของตัวเองแทนจะดีกว่า แต่หากจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้จำกัดเวลาการประชุมและจำกัดจำนวนคนเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญ ทางบริษัทย้ำว่าเราไม่จำเป็นต้องกำหนดวันประชุมเป็นวันเดิมประจำทุกสัปดาห์ แต่ให้จัดประชุมแค่ตอนมีเรื่องที่ต้องมาระดมความคิดเห็นกันก็เพียงพอแล้ว

Linkedln

Linkedln บริษัทจัดหางานระดับโลกก็ติดอันดับ 17 ของบริษัทที่พนักงานมีความสุขที่สุดในปี 2020 เช่นเดียวกัน

Jeff Weiner ซีอีโอของ Linkedln เล่าว่า พนักงานที่บริษัทขยันทำงานกันมาก เพราะพวกเขารู้ดีว่างานที่ทำมีคุณค่าต่อสังคมอย่างไร ทำให้พวกเขามีความสุขในการมาทำงานแต่ละวัน และพวกเขาก็ชื่นชอบที่จะเฉลิมฉลองความก้าวหน้าและความสำเร็จต่างๆ ในระหว่างการทำงานด้วยเช่นกัน

ทุกๆ 2 สัปดาห์ Jeff Weiner จะมาพูดคุยกับพนักงานว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับบริษัทบ้าง และเขาก็มักจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ในแง่มุมที่พนักงานหลายคนอาจจะยังไม่เคยทราบ สิ่งนี้เองทำให้พนักงานรู้สึกเชื่อมั่นในผู้บริหาร และรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นเจ้าของในบริษัทนี้ด้วย

นอกจากนั้น ที่บริษัทยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจคือวัน InDay ซึ่งในวันนั้นพนักงานทุกคนต้องรีบจัดการงานของตัวเองให้เสร็จแล้วมาทำกิจกรรมพัฒนาตัวเองร่วมกับคนอื่นๆ ในทีม ที่สำคัญพนักงานแต่ละฝ่ายจะต้องแข่งขันกันว่าทีมไหนได้เรียนรู้มากที่สุด 

พนักงานมีความสุข
ความสุขคือเป้าหมายขององค์กร

หลังจากได้เรียนรู้เคล็ดลับการเป็นองค์กรแห่งความสุขของทั้ง 3 บริษัทไปแล้ว Brand Inside ก็ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมาเรียนรู้อีก 11 เคล็ดลับที่จะช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรของเราก่อตัวเป็นองค์กรแห่งความสุขได้เช่นเดียวกัน

1. ความสุขคือเป้าหมายขององค์กร

แน่นอนว่าคนเราต้องเจอความเครียดระหว่างการทำงานบ้างอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรคาดหวังให้พนักงานมีความสุขอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ควรทำคือการอธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าทุกงานที่ท้าทายและทุกปัญหาล้วนทำให้พวกเขาสามารถดึงจุดแข็งออกมาใช้และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ในที่สุด

2. ความสุขเป็นสิ่งที่ส่งต่อกันได้

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ถ้าเราอยู่ใกล้พี่น้องหรือเพื่อนที่เป็นคนมีความสุขง่ายก็มีแนวโน้มว่าเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นถึง 42% เช่นเดียวกัน ถ้าคนส่วนใหญ่ในองค์กรยิ้มแย้มหรือมองโลกในแง่บวกอยู่เสมอ เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย กล้าพูดคุยปรึกษากัน ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำงานลงลงตามไปด้วย

3. รับคนที่มีความสุขง่ายเข้าทำงาน

ยิ่งบรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความสุข องค์กรของเราก็จะยิ่งดึงดูดให้คนที่มีความสุขและมีความสามารถอยากมาร่วมงานด้วย ดังนั้น เวลาสัมภาษณ์รับคนเข้าทำงานเราก็ควรประเมินด้วยว่าอีกฝ่ายมีทักษะความสุขไหม เพราะถ้าเราให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคนลักษณะนี้ คนในบริษัทของเราก็จะภูมิใจกับการมีเพื่อนร่วมงานที่ดี 

4. ถามเป้าหมายการพัฒนาตัวเองของพนักงานแต่ละคน

การถามพนักงานว่าในแต่ละปีหรือแต่ละเดือนเขาอยากพัฒนาตัวเองด้านการทำงานอย่างไรบ้างจะช่วยให้เราสนับสนุนทั้งเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาวของเขาได้ดีขึ้น ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นพูดคุยเรื่องนี้ด้วยวิธีง่ายๆ คือให้พนักงานลองเล่าเป้าหมายด้านการทำงานที่อยากทำให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้มาสัก 3-4 ข้อ 

5. ชื่นชมพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าเราชมคนที่ตั้งใจทำงานบ่อยๆ เขาจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองและอยากพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นไปอีก เราสามารถชมเขาได้ทั้งระหว่างการประชุมและการพูดคุยแบบตัวต่อตัว สิ่งสำคัญคือเราควรชมพนักงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงโอกาสสำคัญอย่างการนัดพูดคุยช่วงกลางปีหรือท้ายปี

ระดมสมอง brainstorm
ให้ฟีดแบคกันอย่างสม่ำเสมอ

6. ให้ฟีดแบคกันอย่างสม่ำเสมอ

เราควรให้ฟีดแบคการทำงานกับพนักงานทั้งเรื่องที่เขาทำได้ดีอยู่แล้วและเรื่องที่เขาพัฒนาได้อีก รวมถึงควรเน้นย้ำเสมอว่างานของแต่ละคนสำคัญต่อองค์กรอย่างไร ที่สำคัญคืออย่าลืมจัดกิจกรรมให้ฟีดแบคกันอย่างเป็นประจำ เช่น เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเราก็ควรเปิดโอกาสให้พนักงานถามคำถามต่างๆ ในกิจกรรมการให้ฟีดแบคด้วย

7. พูดคุยเรื่องชีวิตส่วนตัวกับพนักงานบ้าง

ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะไม่อยากก้าวก่ายหรือสอบถามเรื่องชีวิตส่วนตัวของพนักงาน อย่างไรก็ตาม การทำความรู้จักกันให้มากขึ้นนอกเหนือจากเรื่องงานนั้นจะช่วยส่งเสริมให้บรรยากาศการทำงานขององค์กรมีความสุขมากขึ้น ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นทำสิ่งนี้ได้ง่ายๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าในแต่ละวันหรือแต่ละอาทิตย์เราอยากรู้จักเรื่องราวชีวิตของพนักงานหรือเพื่อนร่วมงานคนไหนเพิ่มบ้าง เป็นต้น

8. อย่าลืมเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์

องค์กรต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ของพนักงานเป็นลำดับแรกๆ เช่น อาจจะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ทุกวันศุกร์หรืออาจจะให้วันลาไม่จำกัด เพราะเมื่อเราสนับสนุนให้ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของพนักงานมีความสมดุลกันแล้ว พนักงานก็จะมีแรงกายแรงใจพร้อมลุยกับงานมากขึ้น

การผ่อนคลายในที่ทำงาน
ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพดี – credit ProxyClick

9. ส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพดี

เราสามารถสนับสนุนให้พนักงานมีสุขภาพดีได้ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ในบริษัท เช่น หาครูมาสอนโยคะหรือสอนนั่งสมาธิ ต่อรองส่วนลดสำหรับฟิตเนสที่อยู่ไม่ไกลจากบริษัทให้ จ้างพนักงานนวดหลังคอบ่าไหล่มาอาทิตย์ละครั้ง หรือจัดอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพฟรี ถ้าเราทำได้แบบนี้พนักงานก็จะรู้สึกดีที่บริษัทให้ความสำคัญกับพวกเขามากๆ 

10. จัดกิจกรรมให้พนักงานสนิทกันมากขึ้น

ถ้าเราจัดกิจกรรมให้พนักงานใช้เวลาร่วมกันนอกเวลางาน พวกเขาก็จะสนิทกันและอยากมาทำงานด้วยกันมากขึ้น ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการจัด Happy Hour ขึ้นมาเดือนละ 1 วันหรือแบบง่ายที่สุดคือจัดให้ครึ่งเช้าหรือครึ่งบ่ายของทุกวันศุกร์เป็น Happy Hour เป็นต้น

11. พูดคำว่าขอบคุณเสมอ

การพูดขอบคุณเพื่อนร่วมงานในเรื่องต่างๆ เสมอจะช่วยให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเราไม่จำเป็นต้องเสียเงินเลยสักบาทเดียว เราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการพูดขอบคุณอีกฝ่ายในเรื่องเล็กๆ น้อย เช่น ขอบคุณในความพยายามหรือความตั้งใจของเขา ขอบคุณที่เขาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเราสามารถขอบคุณได้ทุกเรื่อง ยิ่งคนขอบคุณกันมากเท่าไหร่ บรรยากาศการทำงานก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น

ที่มา : Inc, thefutureorganization, qualitance, insights, businessnewsdaily, snacknation, articulatemarketing, businessinsider, 15five

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา