รู้จัก Peloton หนึ่งใน Startup ที่จะมาทำลายล้าง Fitness และ Studio ออกกำลังกายให้สิ้นซาก

Startup ที่เอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการออกกำลังกายนั้นมีจำนวนมาก แต่หนึ่งในรายที่โดดเด่นในตอนนี้ก็คือ Peloton ที่จำหน่ายเครื่องปั่นจักรยาน, ลู่วิ่งไฟฟ้า รวมบริการสอนเล่นโยคะ เรียกได้ว่ากินทุกวงการทีเดียว

เครื่องปั่นจักรยาน Peloton

เริ่มปี 2555 ด้วยเครื่องปั่นจักรยานล้ำๆ

Peloton นั้นเกิดจากความมุ่งมั่นในการจะปฏิวัติอุตสาหกรรมการออกกำลังกายของ John Foley หนึ่งในผู้ก่อตั้งของธุรกิจนี้ ผ่านการออกแบบอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีรูปลักษณ์ทันสมัย และมีเทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านั้นกับคลาสออกกำลังกายต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานที่บ้านรู้สึกเหมือนออกกำลังกายอยู่ที่คลาสออกกำลังกายจริงๆ

แนวคิดดังกล่าวนั้นเริ่มต้นปี 2555 ก่อนที่ทีมงานจะตัดสินใจทำ Crowdfunding ในปี 2556 เพื่อนำเงินก้อนแรกไปสร้างเครื่องปั่นจักรยานที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย พร้อมเทคโนโลยีข้างต้น ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาค่อนข้างดี เพราะสามารถส่งมอบเครื่องปั่นจักรยานนั้นได้ในปี 2557 และปีนั้นก็ได้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในระดับ Series B ด้วย

อย่างไรก็ตามเครื่องปั่นจักรยานนั้นไม่ได้ราคาถูกเลย เพราะมีราคาถึงเครื่องละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 65,600 บาท) แต่ที่แพงขนาดนั้นก็มาจากเทคโนโลยีล้ำๆ ที่ใส่เข้าไป เช่นหน้าจอสัมผัสขนาด 22 นิ้วที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Android ไปด้วย แต่ด้วยสิ่งที่ให้มากกว่าแค่เครื่องปั่นจักรยาน ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่ก็ยอมซื้อกัน

เป็น Class ออกกำลังกายที่ขายอุปกรณ์ด้วย

สำหรับสิ่งที่แตกต่างก็คือ Class ออกกำลังกายที่ Peloton สร้างไว้ที่เมือง New York และภายใน Class ออกกำลังกายนั้นก็ส่งภาพคุณครูที่สอนปั่นจักรยาน พร้อมบรรยากาศใน Class ไปให้กับผู้ใช้เครื่องปั่นจักรยานที่บ้านด้วย โดยสามารถเลือกได้ว่าจะปั่นไปแบบ Live Stream ไปพร้อมกัน หรือ On-Demand เมื่อสะดวกก็ได้

Class ออกกกำลังกายของ Peloton

เรียกได้ว่า Peloton เป็น Startup ที่จำหน่ายอุปกรณ์ และทำ Class ออกกกำลังกายไปพร้อมกัน ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็ทำให้ธุรกิจของ Startup รายนี้โตขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2561 ก็เปิดตัวลู่วิ่งไฟฟ้าที่มีหน้าจอสัมผัส และเชื่อมต่อกับ Class ออกกำลังกาได้ แถมด้วย Application ที่ให้ผู้ใช้จ่ายเงินสมัครเพื่อเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวได้เช่นกัน

ทั้งนี้ราคาของลู่วิ่งดังกล่าวก็ไม่ได้ถูก เพราะอยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์ (ราว 1.31 แสนบาท) แต่ก็ยังมีผู้สนใจซื้ออยู่ดี และช่วงเดียวกันนี้บริษัทก็ตัดสินใจเปิด Studio ออกกำลังกายแห่งที่ 2 เพื่อรับกับเนื้อหาใหม่ๆ ซึ่งการเติบโตนี้เองก็ทำให้ Peloton ระดมทุนได้ถึง Series F แถมมีมูลค่ากิจการอยู่ที่ 4,150 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.36 แสนล้านบาท)

มากกว่าลู่วิ่ง และเครื่องปั่นจักรยาน เพราะมันคือโยคะ

ล่าสุดในสิ้นปี 2561 ทาง Peloton ก็ประกาศกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ นั่นก็คือการรุกตลาดโยคะเต็มตัว ถือเป็นการต่อยอดจากหน้าจอสัมผัสที่ปกติจะสอนปั่นจักรยาน หรือวิ่งออกกำลังกาย รวมถึงการออกกำลังกายแบบ Weight Training เบื้องต้น เพราะตัวหน้าจอนั้นจะแสดงคุณครูสอนโยคะ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการออกกำลังกาย

“เราอยากเป็นเหมือนอุปกรณ์ที่ติดตั้ง Class ต่างๆ ของ Studio Fitness เอาไว้ โดยก่อนหน้านี้เป็นเครื่องปั่นจักรยาน ต่อมาคือลู่วิ่ง และล่าสุดคือโยคะ เรียกว่าไม่ต้องออกจากบ้านก็ออกกำลังกายได้เหมือนไป Class จริงๆ และมันน่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายได้ในอนาคต” John Foleyประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Peloton กล่าว

จากการเติบโตนี้ Peloton ก็ต้องสร้าง Studio แห่งที่ 3 เพื่อรองรับเนื้อหาใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีหน้าร้านกว่า 30 แห่งในสหรัฐอเมริกา และกำลังเริ่มทำตลาดในสหราชอาณาจักร กับแคนาดา ก่อนที่จะขยายไปในบางเมืองของพื้นยุโรปเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หลังแข็งแกร่งในสหรัฐฯ แล้ว

ใครๆ ก็อยากเป็น Peloton แต่มันไม่ง่าย

มูลค่าตลาดอุปกรณ์ออกกำลังกายภายในบ้านที่สหรัฐอเมริกานั้นอยู่ที่ 14,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ทำให้หลายคนเริ่มรวมกลุ่มกันทำ Startup ที่คล้ายกับ Peloton แต่มันก็ใช่ว่าจะสำเร็จกันง่ายๆ เพราะสิ่งที่ทำให้ Peloton เติบโตได้ก็คือบริการทางการเงินที่สามารถผ่อนจ่าย 39 เดือนไม่มีดอกเบี้ยโดยไม่ต้องวางเงินดาวน์

บริการทางการเงินของ Peloton

ส่วนปีงบประมาณนี้ Peloton ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ารายได้ที่ทำได้ในปีงบประมาณก่อน 100% และสามารถทำทุกอย่างได้ตามเป้าหมายที่สัญญาไว้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวบริการใหม่ต่อเนื่อง และการสร้างบริการทางการเงินที่ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกระดับ รวมถึงมีผู้สมัครใช้งานกว่า 1 ล้านคน

เมื่อเติบโตขนาดนี้ John Foley ก็เปรยออกมาว่า มีแผนนำ Peloton จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2562 ด้วย เพราะจากผลสำรวจพบว่าประชากรในสหรัฐนั้นมีเพียง 16% ที่มีสมาชิกกับศูนย์ออกกำลังกาย และ 54% ของชาวสหรัฐฯ ที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน มีความสนใจซื้อบริการเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่บ้าน

สรุป

ตลาดอุปกรณ์ออกกำลังายนั้นยังไม่มีใครเข้ามา Disrupt นัก แสดงให้เห็นโอกาสของ Startup ที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะในแต่ละตลาดก็มีความต้องการที่ต่างกัน ดังนั้นต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Peloton จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยหรือไม่ และจะมี Startup ไทยเข้าถึงโอกาสนี้อย่างไร

อ้างอิง // Fast Company, Peloton

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา