วิกฤต Peloton จากผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมออกกำลังกาย สู่การเรียกคืนลู่วิ่งไฟฟ้านับแสนเครื่อง

หากพูดถึงธุรกิจเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่มาแรง Peloton ต้องติดอยู่ในอันดับต้น ๆ แต่จากนี้มันคงยากที่จะกลับมายืนที่เดิม เพราะลู่วิ่งไฟฟ้าตัวเองขาย ทำคนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีกนับสิบ จนต้องเรียกคืนสินค้านับแสนเครื่อง

Peloton

เรียกคืนสินค้ากระทบภาพรวมธุรกิจ

รายงานข่าวแจ้งว่า Peloton ได้ประกาศเรียกคืนลู่วิ่งไฟฟ้ารุ่น Tread และ Tread+ ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนกว่า 1 แสนเครื่อง หลังจากมีผู้ใช้คนหนึ่งเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับสิบราย โดยเจ้าของเครื่องเหล่านั้นจะนำเครื่องมาคืน หรือไม่คืนก็ได้ หากคืนจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน หรือตามสภาพของตัวเครื่อง

ราคา Tread และ Tread+ เริ่มต้นที่ 2,495 กับ 4,295 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ (ราว 78,000 บาท กับ 1.33 แสนบาท) ที่ราคาค่อนข้างสูงเพราะมีนวัตกรรมสุดล้ำ เช่นสายพานที่รองรับการกระแทกได้ดี, หน้าจอขนาดใหญ่ และการเชื่อมต่อเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ โดยผู้ใช้ต้องเสียค่าสมาชิก 39 ดอลลาร์/เดือนเพื่อใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

peloton

หลังจากการประกาศเรียกคืนสินค้า มูลค่าหุ้นของ Peloton ลดลงทันที่ 15% และทำให้มูลค่ากิจการของ Peloton หายไปทันที่ 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ และหากต้องจ่ายเงินคืนให้กับเจ้าของลู่วิ่งไฟฟ้าทั้งหมด อาจกลายเป็นรายจ่ายมหาศาลในอนาคตของบริษัท

เรื่องมันเริ่มจากความล่าช้าในการจัดการ

การประกาศครั้งสำคัญของ Peloton เกิดขึ้นตามหลังจากการหารือกับหน่วยงานคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา เพราะหน่วยงานดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากการใช้งานลู่วิ่งไฟฟ้าของ Peloton อย่างต่อเนื่อง เช่นหน้าจอหลวม หรือหลุดลงมาที่พื้น

รวมถึงเมื่อเดือนเม.ย. 2021 ทางหน่วยงานได้แจ้งให้ Peloton ทราบว่า มีเด็กคนหนึ่งต้องเสียชีวิตโดยมีลู่วิ่งของ Peloton เป็นตัวแปรสำคัญ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับสิบราย แต่ Peloton กลับเพิกเฉย และไม่รีบจัดการเรื่องนี้ มีเพียงการแจ้งให้ผู้ใช้นำเด็ก กับสัตว์เลี้ยงออกห่างเมื่อใช้งาน และล็อคเครื่องทันทีเมื่อจบการออกกำลังกาย

สุดท้ายแล้ว John Foley ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Peloton ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษที่ไม่ลงมือแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว และหลังจากนี้จะหารือกับหน่วยงานคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

peloton
เครื่องปั่นจักรยาน Peloton

การออกแบบที่แตกต่างคืออีกปัญหา

ทั้งนี้หน่วยงานคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกาชี้ว่า การออกแบบลู่วิ่งไฟฟ้าของ Peloton ที่แตกต่างจากลู่วิ่งไฟฟ้าอื่น ๆ ในตลาด เช่นสายพานที่มีลักษณะเป็นก้อน แทนที่จะเป็นสายพานเชื่อมกันทั้งหมด และการยกตัวเครื่องสูงจากพื้นค่อนข้างมาก คือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้งานได้

สำหรับ Peloton เริ่มต้นธุรกิจจากการจำหน่ายเครื่องปั่นจักรยานที่มาพร้อมหน้าจอ และการเชื่อมต่อเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ราวกับว่าผู้ใช้ปั่นจักรยานไปพร้อมกับผู้อื่นในคลาสฟิตเนสชั้นนำเมื่อปี 2017 ส่วนลู่วิ่งไฟฟ้า Peloton เริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2018

peloton
Class ออกกกำลังกายของ Peloton

ส่วนผลประกอบการของ Peloton ในปี 2020 (สิ้นสุดเดือนมิ.ย. 2020) ปิดที่ 1,800 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่ปิด 915 ล้านดอลลาร์ ขาดทุนจากการดำเนินงาน 80 ล้านดอลลาร์ ส่วนในปี 2021 นับถึงไตรมาสล่าสุด Peloton ทำรายได้ 2,954 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรจากการดำเนินงาน 159 ล้านดอลลาร์

สรุป

จะบอกว่าเป็นช่วงที่วิกฤตอย่างหนักของ Peloton ก็ไม่แปลก เพราะหลังจากเติบโตก้าวกระโดดในช่วง COVID-19 ผ่านการที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน กลายเป็นว่าอุปกรณ์ออกกำลังกายของตัวเองทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของแบรนด์ให้กลับมาดีเหมือนเดิมให้ได้

อ้างอิง // Reuters, CNBC, Peloton

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา