Peer group fund performance จัดอันดับกองทุน อย่างไรถึงเรียกว่าน่าสนใจ?

ภาพจาก Pixabay.com

กองทุนรวมถือเป็นทางเลือกในการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาในการติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด และต้องการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ (พันธบัตร หุ้นกู้) ตราสารทุน (หุ้น) และ ตราสารชนิดอื่น  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กองทุนรวมที่ขายในประเทศไทยมีให้เลือกอยู่มากมายเกือบ 1,500 กองทุน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานดีโดดเด่น หรือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า กองทุนรวมที่ลงทุนอยู่เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

คุณสมบัติของกองทุนที่น่าสนใจ

คุณสมบัติของกองทุนที่ผู้ลงทุนอยากได้มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อคือ

  1. อัตราผลตอบแทนสูง (High Return)
  2. ผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ เสี่ยงต่ำ ผันผวนต่ำ (Low Risk)

อย่างไรก็ตาม กองทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบโจทย์ 2 ข้อนี้พร้อมกันได้ กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง มักมีความผันผวนสูง ส่วนกองทุนที่ความผันผวนต่ำ ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำไปด้วย ดังนั้น ในการค้นหากองทุนที่มี ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับความผันผวนในระดับเดียวกัน เราจึงสร้าง Sharpe’s Ratio ขึ้นมา ถ้ากองทุนใดมีค่า Sharpe’s ratio สูงกว่าย่อมให้ผลตอบแทนดีกว่าที่ระดับความผันผวนเดียวกัน ในวันนี้เรามาทำความรู้จักกับการเปรียบเทียบกับกลุ่มกองทุนกัน

ทำความรู้จักกับ Peer group Fund Performance

ในปัจจุบันสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) มีการนำข้อมูลผลตอบแทน และ ความผันผวน ของแต่ละกองทุนมาเรียงลำดับแล้ววัดออกมาเป็นเปอร์เซ็นไทล์ เราสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการเปรียบเทียบ กองทุนที่สนใจหรือที่ลงทุนอยู่ ว่าอัตราผลตอบแทน และความผันผวนอยู่ในกลุ่มใดเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

ก่อนจะไปดูตารางเปรียบเทียบมาทำความเข้าใจกับคำว่าเปอร์เซ็นไทล์ (Percentile) กันก่อน

Percentile คือ ค่าของข้อมูลที่อยู่ในตำแหน่ง Percentile นั้น ๆ หลังจากข้อมูลถูกนำมาเรียงต่อกัน

เราสามารถหาตำแหน่ง Percentile ได้จากสูตร

ตัวอย่างข้อมูล 30, 28, 25, 25, 20, 18, 17, 16, 14, 13, 10, 8, 5, 3 มีทั้งหมด 14 ข้อมูล (n = 14)

เราสามารถหาตำแหน่ง 50th Percentile หรือ P50 =  x (14+1) = 7.5

จากนั้น ให้กลับไปดูตำแหน่งที่ 7.5 ในข้อมูลจะพบว่า ที่ตำแหน่งนี้ อยู่ระหว่างค่า 17, 16

ดังนั้น ค่าของ 50th Percentile คือ 16.5

อย่าเข้าใจผิดว่า 50th Percentile หมายถึงมีข้อมูลอยู่ในนั้น 50 ข้อมูลเชียวนะครับ

ภาพด้านล่างเป็นตัวอย่างของกลุ่ม Equity General เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

ที่มา : http://oldweb.aimc.or.th/21_infostats_mf_pfm_report.php

วิธีอ่านตาราง

1.ด้านซ้ายมือจะแสดงค่าเปอร์เซ็นไทล์(Percentile) จาก 5th Percentile ไปจนถึง 95th Percentile

โดย 5th Percentile หมายถึง ผลงานของกองทุนในกลุ่มผู้นำ (Top 5 Performance)

สำหรับ 50th Percentile หมายถึง ผลงานของกองทุนกลุ่มเฉลี่ย (Median Performance)

ส่วน 95th Percentile หมายถึงผลงานของกองทุนในกลุ่มรั้งท้าย (Bottom 5 Performance)

2.ด้านหัวตารางด้านบนจะแบ่งผลการดำเนินงานเป็น 2 ประเภท คือ ซ้ายมือเป็น Return (%) โดยผลตอบแทนที่มีอายุเกิน 1 ปี จะแสดงเป็นผลตอบแทนต่อปี ขวามือเป็น Standard Deviation (%) หรือค่าความผันผวนของผลตอบแทน

ตัวอย่างการอ่านค่าจากตาราง

สำหรับอัตราผลตอบแทน (Return) เฉลี่ย (50th Percentile) ของกลุ่มกองทุนที่เป็น Equity general ระยะเวลาการลงทุน 3 ปี อยู่ที่ 7.53% ต่อปี และความผันผวน (Standard Deviation) เฉลี่ย (50th Percentile) ของกลุ่มกองทุนที่เป็น Equity general ระยะเวลาการลงทุน 3 ปี อยู่ที่ 10.21% ต่อปี เป็นต้น

กองทุนของเราอยู่ในกลุ่มไหน

การจัดประเภทกองทุนรวมของ AIMC ข้อมูลปรับปรุงล่าสุดวันที่ 14 มี.ค.2560 สามารถ Download ดูได้จาก http://oldweb.aimc.or.th/21_infostats_mf_classification_report.php

โดยกองทุนประเภท Equity General ในปัจจุบันมีทั้งหมด 207 กองทุน ซึ่งมีทั้ง LTF RMF และกองทุนรวมปกติ ในวันนี้จะขอยกตัวอย่าง โดยใช้กองทุน T-Lowbeta กับ BTP ซึ่งทั้งคู่เป็นกองทุนหุ้นยอดนิยมที่ทำผลการดำเนินงานได้ดี

กองทุนที่ลงทุน เมื่อเทียบกับกลุ่ม

ในขั้นตอนแรกเราต้องไปหาข้อมูลอัตราผลตอบแทน และ ความผันผวนของกองทุนที่สนใจใน Fund Fact Sheet  หรือ Monthly Fund Update  วันที่ตรงกับข้อมูลที่ต้องการเปรียบเทียบ (28 กุมภาพันธ์ 2560)

ที่มา : http://www.thanachartfund.com/PDF/FFS/Thai/FFS_T-LowBeta_Thai.PDF
ที่มา : http://www.bblam.co.th/asset/mfu-btp-th.pdf

จากผลการดำเนินงานทั้งสองกองทุน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า อัตราผลตอบแทน 3 ปี ของ T-Lowbeta และ BTP ทำได้ 11.48% ต่อปี และ 10.99% ต่อปีตามลำดับ ในเรื่องของความผันผวน T-Lowbeta และ BTP ทำได้ 9.61% และ 11.89% ตามลำดับ จากนั้นลองเทียบเคียงกับกองทุนประเภทเดียวกันจะเป็นอย่างไร

ในส่วนของอัตราผลตอบแทน T-lowbeta อยู่ใน 5th Percentile สำหรับ BTP อยู่ระหว่าง 5th – 25th Percentile

ในส่วนของ ความผันผวน T-Lowbeta อยู่ระหว่าง 5th -25th Percentile สำหรับ BTP อยู่ในช่วง 75th – 95th Percentile

จะเห็นได้ว่า กองทุนที่มีอัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกัน ความผันผวนไม่จำเป็นต้องใกล้เคียงกัน และจากข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พบว่ากองทุน T-Lowbeta ทำได้ดีกว่าทั้งในเรื่องของอัตราผลตอบแทนและความผันผวนระยะ 3 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงเวลาต่างออกไป ผลที่ได้จากการเปรียบเทียบจะต่างออกไป

คำเตือน การพิจารณาอันดับของกองทุน ไม่สามารถยืนยันได้ว่า กองทุนที่ทำอันดับได้ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต เราควรพิจารณานโยบายการลงทุน ค่าธรรมเนียม รวมถึงเป้าหมายในการลงทุนประกอบการตัดสินใจทุกครั้ง

สุดท้าย ขอขอบคุณความรู้ดี ๆ จากงานสัมมนา DIY Portfolio ครั้งที่ 2 ของ A-Academy กับความรู้ดี ๆ ที่นำมาแบ่งปันนะครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

ณัฐ เลิศมงคล ที่ปรึกษาการเงินอิสระ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของแต่ละบุคคล ภารกิจของ ณัฐ ใน BrandInside.asia คือ การนำทุกท่านเข้าสู่โลกของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยการให้ความรู้พร้อมกับการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อยู่ในตลาด ให้ท่านได้เห็นถึงข้อดี โอกาส ความเสี่ยง เพื่อให้ทุกท่านได้ใช้ประกอบการพิจารณาตามความเหมาะสม