ประท้วงอย่างสันติไม่ใช่อาชญากรรม: การสลายชุมนุมทำให้โลกจับตาไทยมากขึ้น นักลงทุนกังวล

การรวมตัวกันชุมนุมเพื่อประท้วงของประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดทั่วไทย มีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ข้อ

  • ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพยพลาออก
  • รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
  • ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกง ทวีตข้อความตำรวจสลายการชุมนุมด้วย water cannons หรือรถฉีดน้ำแรงดันสูง โดยนำภาพเผยแพร่สถานการณ์มาจาก ThaiPBS และเรียกร้องให้โลกยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้ของคนไทยที่กำลังชุมนุมเรียกร้องอยู่

Nikkei Asia รายงาน ก่อนหน้านี้ที่มีกลุ่มประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ฯ เรียกร้องให้คนไทยร่วมกันถอนเงินจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ที่ 23.38% จำนวนหุ้น 793,832,359 หุ้น ส่งผลให้หุ้นร่วงลงมา 6% นับตั้งแต่มีการเริ่มประท้วงในเดือนกันยายนเป็นต้นมา 

ทั้งนี้ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่อย่าง Foodpanda ที่เคยลงสื่อโฆษณาในสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอเนื้อหาเห็นอกเห็นใจต่อรัฐบาลก็ยังต้องระงับการโฆษณาลงเพื่อลดผลกระทบจากการบอยคอตต์ของประชาชนไปด้วย นอกจากนี้ การปิดสถานีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เพื่อปิดช่องทางเดินทาง ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเข้าร่วมประท้วง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักไปด้วยชั่วขณะ สถานการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้รัฐบาล

ทวีตข้อความจาก Jorge Silva ช่างภาพ Reuters ที่ได้รางวัล Pulitzer ในปี 2020

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เซ็นทรัลลาดพร้าวที่ปิดห้างสรรพสินค้าก่อนเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง เซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า หนึ่งในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ก็ปิดก่อนเวลาเช่นกัน เจ้าของร้านอาหารรายหนึ่งระบุว่า เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงมา ยอดขายตกอยู่ที่ 60-80% (การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของเจ้าของร้านอาหารตามที่ Nikkei Asia รายงาน ไม่ได้ระบุว่ายอดขายตก เกิดจากรีบปิดร้านก่อนเวลาปิดปกติจึงทำให้ยอดขายตก หรือไม่มีคนเข้าร้านจึงทำให้ยอดขายตก) ขณะที่ห้างโตคิวก็ปิดก่อนเวลา 4 ชั่วโมงในวันศุกร์และวันเสาร์ซึ่งก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาประท้วงบริเวณหน้า MBK Center ด้วย

ทวีตข้อความจากเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมคือจุดต่ำสุดของรัฐบาลนี้ จากนั้นเขาได้ทวีตจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เรียกร้องให้แถลงการณ์เพื่อมิให้ใช้กำลังปราบปรามผุ้ชุมนุมอีก

ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวราว 20% ของ GDP การจูงใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนประเทศก็จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้บ้าง รัฐบาลก็เริ่มผ่อนปรนการมาเข้าพักของชาวต่างชาติในไทยบ้างแล้วตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทั้งนี้ เจ้าของโรงแรมที่พักในกรุงเทพฯ ระบุว่า การที่ตำรวจเข้าจัดการประชาชนที่ออกมาประท้วงด้วยความรุนแรงนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ขณะที่สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ระบุกับ Bangkok Post ว่า ความกังวลเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะจบลงเมื่อไร เขาแนะนำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ไปก่อนจนกว่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นทั้งการเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ 

ทวีตข้อความจาก Mathias Peer จากสำนักข่าวประเทศเยอรมนี ระบุว่า ช่วงที่พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามาในช่วงปี 2014 เคยให้คำสัญญาว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน 6 ปีต่อมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์สลายการชุมนุมผู้ประท้วงอย่างสันติด้วยความรุนแรง แถมผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยมัธยม

หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังสลายการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาประท้วงเรียกร้อง 3 ข้อตามที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามประชาชนนั้น ไม่ได้ทำให้ประชาชนออกมารวมตัวกันเพื่อชุมนุมในจำนวนที่ลดน้อยลง 

ยิ่งรัฐปราบปราม กลับยิ่งทำให้พลังเงียบหรือคนที่เฝ้าดูสถานการณ์อย่างเดียวให้ความสนใจเข้าร่วมชุมนุมและติดตามสถานการณ์การประท้วง และเห็นใจผู้ร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ร่วมชุมนุมเป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปีและยังเป็นการรวมตัวเพื่อเสนอข้อเรียกร้องด้วยมือเปล่า ปราศจากอาวุธ มีเพียงหมวกกันน็อคและร่มที่ไว้กางกันฝนขณะชุมนุมเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น

การใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมจึงไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับใครนอกเสียจากตอกย้ำภาพลักษณ์ของภาครัฐตลอดจนผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ไร้ความชอบธรรม ตอกย้ำภาพลักษณ์รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

องค์กรระหว่างประเทศจับตา เคลื่อนไหวอย่างสันติ ไม่ใช่อาชญากรรม

Mary Lawlor ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรู้สึกตกใจต่อการจับกุมคุมขังและคดีอาญาต่อผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ

Clement Voule ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิในการชุมนุมระบุว่า ติดตามสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิด เรียกร้องให้ไทยเลี่ยงการใช้กำลังต่อผู้ที่ประท้วงอย่างสงบ

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประเทศไทย เรียกร้องให้หยุดปราบ หยุดจับกุมฝ่ายประชาธิปไตย หยุดปิดกั้นสื่อ

Amnesty Thailand องค์การนิรโทษกรรม ประเทศไทย

Bob Menendez วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปราบปรามทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขและเรียกร้องให้ปล่อยนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย

ภายหลังการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฎภาพการสลายชุมนุมไปทั่วโลก ส่งผลให้สื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์ชุมนุมและรายงานข้อมูลหลายแห่งถูกคำสั่งให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระกระทบต่อความมั่นคงของรัฐฯ ดังนี้ Voice TV, สื่อออนไลน์ Voice TV, ประชาไท Prachatai.com, The Reporters, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH

จากนั้น FCCT สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ออกมาเรียกร้องว่าเสรีภาพสื่อเป็นสิ่งสำคัญต่อสังคมประชาธิปไตย สื่อมวลชนควรได้รับอนุญาตให้รายงานสถานการณ์ดังกล่าวโดยปราศจากการสั่งแบน การระงับ การเซ็นเซอร์ และการดำเนินคดีใดๆ

ขณะที่ Amnesty International องค์การนิรโทษกรรมสากล ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และหยุดแบนสื่อทั้งหมด ให้อิสรภาพสื่อในการนำเสนอข้อมูลโดยปราศจากการข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้กลัวด้วยกำลังทหาร

*ล่าสุด เมื่อบ่ายนี้* ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เรื่องขอปิดแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ที่ยื่นไว้ เนื่องจากคำร้องดังกล่าวไม่แสดงเหตุชัดเจนในความผิดและรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองสื่อในการเสนอข่าว คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ที่มา – Nikkei Asia, SET, BBC, ข่าวสด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา