PayPal จัดโครงการบ่มเพาะธุรกิจฟินเทค พร้อมฝากถึงสตาร์ทอัพไทยต้องคิดให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่

ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ PayPal จัดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทัพสายฟินเทค แต่ในปีนี้ PayPal เดินทางมาที่ประเทศไทยเพื่อชักชวนให้สตาร์ทอัพคนไทยสมัครเข้าโครงการเป็นครั้งแรก ไปดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง

ครั้งที่ 3 ของโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ Paypal

โครงการบ่มเพราะสตาร์ทอัพสายฟินเทคของ PayPal เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016 ก่อนหน้านี้ สตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะทุกรายสามารถระดมทุนมาได้สำเร็จ 100% ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่ 2 ของโครงการ มี 3 ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้เข้ามาในโครงการบ่มเพาะคือ Jumper.ai, Chynge และ Policypal ต่างก็ประสบความสำเร็จทั้งหมด

หน้าตาผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจฟินเทคกับ Paypal ในปีที่ 2
หน้าตาผู้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจฟินเทคกับ Paypal ในปีที่ 2

ในปี 2018 PayPal เดินทางมาประเทศไทยเพื่อชักชวนสตาร์ทอัพสายฟินเทคในไทยโดยเฉพาะ ส่วนหนึ่งเพราะ PayPal เล็งเห็นว่า ไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสตาร์ทอัพมากด้วยศักยภาพ เพียงแต่ยังขาด ecosystem และการบ่มเพาะที่ดี ในครั้งนี้ PayPal จึงต้องลงมาชักชวนด้วยตนเอง

PayPal บอกว่าการสมัครเข้าโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพฟินเทคจะได้รับการสนับสนุนในด้านค่าใช้จ่ายของโครงการ และการใช้งานพื้นที่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ ของออฟฟิศ PayPal ในสิงคโปร์ แต่สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่สิงคโปร์ แต่ละทีมจะต้องดูแลในส่วนนี้ด้วยตนเอง

บรรยากาศออฟฟิศ Paypal ที่สิงคโปร์
บรรยากาศออฟฟิศ Paypal ที่สิงคโปร์
  • โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพฟินเทคของ PayPal จะใช้เวลา 9 เดือน (อย่างครั้งนี้เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมปี 2018 โครงการจะสิ้นสุดในมีนาคมปี 2019)
  • PayPal จะคัดเพียง 3 สตาร์ทอัพสายฟินเทคจากทั่วโลกเท่านั้นที่จะได้เข้าร่วมโครงการ แต่โดยหลักๆ จะเน้นไปที่สตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะจะได้ทำงานร่วมกับทีมงานของ PayPal สิงคโปร์ รวมถึงพาร์ทเนอร์อื่นๆ
  • เมนเทอร์ในโครงการเป็นผู้เชี่ยวชาญในสายฟินเทคอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงมีผู้บริหารระดับสูงของ PayPal จะเข้ามาร่วมด้วย
  • หากธุรกิจประสบความสำเร็จในแง่การนำไปใช้งาน PayPal จะให้ทดลองนำไปใช้จริงกับลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 200 ล้านราย

อ่านแค่คุณสมบัติของโครงการบ่มเพาะอาจจะไม่พอ Brand Inside มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ร่วมจัดโครงการ 2 คนคือ Jerry Tso หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของ PayPal สิงคโปร์ และ Chandra Tjan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Alpha JWC ที่เพิ่งเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ PayPal เพื่อร่วมส่งเสริมโครงการบ่มเพาะในครั้งนี้

Jerry Tso หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของ Paypal สิงคโปร์
Jerry Tso หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของ Paypal สิงคโปร์

“สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพ อย่ากลัวที่จะเสี่ยง จงทำให้มันเป็นจริง”

Jerry เริ่มต้นจากการเล่าให้ฟังว่า “เราเห็นสตาร์ทอัพในหลายที่มีศักยภาพ อย่างในไทยหลายรายมีทักษะที่สูงมาก แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ พวกเขาเหล่านี้เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

“ในโครงการของเรา เราเป็นมากกว่าผู้บ่มเพาะและจัดหาแหล่งเงินทุนให้ เพราะสิ่งสำคัญของสตาร์ทอัพคือการทำธุรกิจอย่างไรให้ยั่งยืน ผมคิดว่ามีอยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง–อยู่ที่วิธีคิดของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ว่ามองธุรกิจของตัวเองอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าสัมพันธ์กับข้อสอง–นั่นคือทำอย่างไรให้ธุรกิจของคุณมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม แค่นั้นคุณก็จะอยู่ได้”

“แม้ว่าการเดินหน้าธุรกิจในสายฟินเทคจะเป็นอะไรที่ยังท้าทาย (โดยเฉพาะในปัจจุบัน) ทั้งข้อกำหนด-กฎหมายจากทางภาครัฐในแต่ละประเทศ แต่ผมอยากบอกว่า ในการทำงานร่วมกับ PayPal เราพร้อมสนับสนุนทุกเรื่อง และที่สำคัญอยากบอกกับสตาร์ทอัพไทยว่า คุณมีศักยภาพ อย่ากลัวที่จะเสี่ยง จงทำให้มันเป็นจริง

โครงการของ PayPal ในแต่ละปี จะคัดทีมเข้ารอบในโครงการเพียงแค่ 3 ทีมเท่านั้น เพราะ PayPal บอกว่าขอเน้นคุณภาพ ไม่ต้องการปริมาณ ในปีนี้ลองลุ้นดูว่าจะมีสตาร์ทอัพไทยสายฟินเทคเข้าร่วมบ้างหรือไม่

Chandra Tjan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Alpha JWC
Chandra Tjan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Alpha JWC

“สตาร์ทอัพไทยต้องคิดให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ 

Chandra เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Alpha JWC บริษัทลงทุนจากอินโดนีเซีย แต่มีเครือข่ายลงทุนอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เขาคือคนที่บอกว่า “Fintech is the next big thing”

“ผมทำธุรกิจล้มละลายในปี 2010 แต่หลังจากกลับมาตั้งตัวพร้อมทั้งก่อตั้งบริษัทลงทุนในปี 2016 ผมก็เน้นลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เช่น Tokopedia และ Traveloka แต่ในตอนนี้ผมพูดได้เลยว่า ฟินเทคคือเรื่องใหญ่ที่กำลังจะมาถึง และเราต้องให้ความสนใจโดยเร็วในปัจจุบัน”

“ในปีนี้ Alpha JWC เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ PayPal เราพร้อมที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพสายฟินเทค ทั้งในด้านการลงทุนและการสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางในระดับภูมิภาค”

“เท่าที่ผมได้สังเกตสตาร์ทอัพในไทย ผมมองว่าสตาร์ทัพไทยต้องคิดให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ อย่าติดกรอบเรื่องพื้นที่แบบเดิมๆ ทำธุรกิจต้องไปไกลมากกว่าประเทศที่ตัวเองสังกัด เราต้องคิดถึงเพื่อนบ้าน ภูมิภาค และในระดับโลก ผมอยากทำงานกับสตาร์ทอัพที่มีความหลงใหลในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่”

ซ้าย-Chandra Tjan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Alpha JWC ขวา-Jerry Tso หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของ Paypal สิงคโปร์
ซ้าย-Chandra Tjan ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทลงทุน Alpha JWC ขวา-Jerry Tso หัวหน้าฝ่ายพัฒนาของ Paypal สิงคโปร์
  • อย่างไรก็ตาม โครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของ PayPal ในครั้งนี้จะเปิดรับสตาร์ทอัพฟินเทคจากทั่วโลกจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้เท่านั้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา