ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของประเทศไทยในเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่มากจนเหมือนกรุงเทพฯ และเชียงใหม่มีหมอกลงตลอดเวลา ชวนดูงานวิจัยของสหราชอาณาจักร ที่แม้ฝุ่นจะไม่เกินค่ามาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด แต่คุณภาพอากาศก็มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพจิต
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และ Imperial College London ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่ศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและสุขภาพจิตของคนในสหราชอาณาจักรในระยะยาวลงในวารสาร American Medical Association Psychiatry
การวิจัยศึกษาภาวะซึมเศร้า (Depression) และการวิตกกังวล (Anxiety) ในประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหราชอาณาจักรเกือบ 500,000 รายในช่วงระยะเวลา 11 ปี ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศในระดับสูงกว่า มีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลมากกว่า แม้ว่าค่าคุณภาพของอากาศในพื้นที่จะไม่เกินมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนด
ในงานวิจัยนี้ ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 389,185 รายจากฐานข้อมูลด้านชีวิตการแพทย์ UK Biobank และให้คะแนนมลภาวะทางอากาศซึ่งรวมถึงค่าฝุ่น PM 2.5, PM 10 ค่าไนโตรเจนออกไซด์และไนตริกออกไซด์ในพื้นที่ที่กลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ ผลพบว่ามีผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า 13,131 รายและผู้ที่มีอาการวิตกกังวล 15,835 รายในช่วง 11 ปีที่ทำการศึกษา และเมื่อมลภาวะทางอากาศมีมากขึ้น ก็มีผู้ที่มีอาการผิดปกติด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นด้วย
งานวิจัยได้ถูกตีพิมพ์ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หลังจากรัฐบาลผ่านกฎหมายที่กำหนดค่าเพดานฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 2 เท่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด โดยรัฐบาลกำหนดเพดานความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ต่อปีอยู่ที่ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายในปี 2028 ขณะที่ WHO กำหนดให้อยู่ที่ 5 ไมโครกรัม
ทีมวิจัยระบุว่าหลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้มงวดกับการกำหนดค่าคุณภาพอากาศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องภาวะซึมเศร้าและคุณภาพอากาศยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลภาวะเกินขีดจำกัดคุณภาพอากาศของสหราชอาณาจักร
นอกจากนี้ เมื่อปี 2022 คณะกรรมการศึกษาผลกระทบของมลพิษทางอากาศในด้านการแพทย์เผยว่ามีหลักฐานที่รองรับว่ามลพิษทางอากาศมีผลต่อระดับความสามารถในการจดจำต่ำลงและโรคสมองเสื่อม
สิ่งที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นในสหราชอาณาจักรที่มีค่ามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองต่ำกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย หากลองเปรียบเทียบค่าฝุ่น PM 2.5 ในวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2023 เวลา 13.00 น.) ตามข้อมูลของ Air Quality Index กรุงลอนดอนมีค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 4.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ถือว่าอากาศดี) ขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 89.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่าลอนดอนเกือบ 20 เท่า และมากเป็นอันดับ 10 ของโลกตามมาด้วยเชียงใหม่ในอันดับที่ 11
ที่มา – The Guardian, IQAir
อ่านเพิ่มเติม
- 99% ของคนทั่วโลก สูดอากาศแย่เกินมาตรฐาน อาเซียนมลพิษหนักสุด WHO ชี้รับ PM2.5-NO2 เต็มๆ
- ทำไมฝุ่นพิษขนาดเล็ก PM 2.5 ถึงสร้างปัญหาใหญ่ให้สังคมไทย?
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา