พ่อแม่มีหนี้ ลูกจะช่วยอย่างไร? รวมหนทางแก้หนี้หลักหมื่น หลักล้านผ่านสินเชื่อแบงก์

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องวางแผนการลงทุน แต่ถ้าทุกวันนี้รายได้ยังไม่พอใช้ จะไปออมได้ไง หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนรายจ่ายเยอะคือ “หนี้” ถ้าเป็นหนี้ที่เราวางแผนไว้แล้วและจ่ายได้ก็ดีไป

แต่วันดีคืนดี พ่อแม่ หรือคนที่บ้านโทรมาขอเงินไปใช้หนี้ และมันไม่ใช่ครั้งเดียวแถมยังเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราต้องทำอย่างไร วันนี้ Brandinside เลยสรุป 5 ขั้นตอน และรวบรวมทางเลือกในการบริหารหนี้สิน ให้การเงินคล่องตัวขึ้นกัน

ภาพจาก shutterstock

5 ขั้นตอนบริหารหนี้ให้ไม่พันคอ มีตังค์เหลือเก็บ

1.รู้ทุกเรื่อง เจาะทุกรายละเอียด เมื่อจู่ๆ คนที่บ้านโทรมาขอเงินไปใช้หนี้ ซึ่งบ่อยเหลือเกิน เราต้องเริ่มคุยกับคนที่บ้านแล้วว่า เกิดอะไรขึ้น และหาออกมาให้ได้ว่า หนี้ทั้งหมดมีอยู่เท่าไร ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย หนี้นอกระบบ หรือในระบบ (ต้องรู้กำหนดการคืนเงิน ดอกเบี้ย นิสัยใจคอเจ้าหนี้ ฯลฯ)

ด่านนี้จุดที่ยากที่สุดคือ การคุยกับผู้ใหญ่ ให้เปิดเผยความจริง หนี้จริงๆ ทั้งหมดออกมา เราต้องรู้จักนิสัยพ่อแม่เรา ว่าต้องคุยแบบไหนดี ให้ได้ข้อมูลครบทุกด้าน แน่นอนว่าเราไม่ควรต่อว่าท่าน เพราะการแก้ปัญหาหนี้ครอบครัวต้องร่วมใจ มีกำลังใจไปด้วยกัน

2. คำนวนทรัพย์สิน-หนี้สิน ถัดจากขาหนี้ เราต้องมาดูทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะบ้าน รถ ที่ดิน ทอง ฯลฯ เขียนออกมาให้ชัดเจน และเช็คก่อนว่า ของยังมีอยู่จริงๆ และมีมูลค่าในตลาดชัดเจน

ข้อนี้ควรแยกแยะทรัพย์สิน เป็นหมวดที่จำเป็นต้องเก็บต้องใช้ และสิ่งที่ตัดใจได้ง่าย ต้องไม่ลืมคำนวนรายได้ (ที่เป็นจริง) และรายจ่ายของคนในครอบครัวแต่ละเดือนด้วย เพราะเครียร์หนี้ได้ทุกคนต้องมีกินมีใช้ (แบบไม่เกินตัว)

Businessman working with notebook and modern laptop with business graph chart.business marketing,success and ideas concept

3. วางแผนการเงิน ส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นขั้นตอนแก้ปัญหาจริง เริ่มแรกคือดูก้อนหนี้แบ่งตามประเภท ดอกเบี้ย และกำหนดใช้คืน ที่สำคัญต้องบริหารหนี้สินและทรัพย์สินไปพร้อมๆ กัน ว่าเราจะคืนหนี้แบบไหน ซึ่งรายละเอียดแต่ละคนต่างกัน

อย่างถ้าลูกเป็นมนุษย์เงินเดือน 20,000 บาท พ่อแม่มีหนี้นอกระบบ 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 20%ต่อปี พ่อแม่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองแต่ไม่พอส่งหนี้ แต่มีบ้านราคา 2 ล้านบาท วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ ถ้าลูกอยากช่วยจ่ายหนี้ อาจซื้อบ้านจากพ่อแม่ 5 แสนบาท ซึ่งดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 4-6% เพื่อเอาเงินมาคืนหนี้นอกระบบ แต่ลูกก็ต้องจ่ายหนี้สม่ำเสมออย่างมีวินัย หรือ เคสอื่นที่หนี้เยอะจนรายได้ไม่พอจ่าย เราต้องเลือกก่อนว่าจะคืนหนี้ตัวไหน ต้องตัดขายทรัพย์สินบางอย่างไปเพื่อให้เราจ่ายหนี้แต่ละงวดน้อยลง

บางคนกู้ซื้อรถมา 2-3 คัน แต่ใช้อยู่คันเดียว แบบนี้ต้องขายออกไปเพื่อลดหนี้ ส่วนใครที่พ่อแม่มีหนี้นอกระบบ อาจต้องเปลี่ยนเป็นหนี้ในระบบเพื่อให้ดอกเบี้ยต่ำลง และเจรจาง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐก็พยายามช่วยประชาชนอย่างเราผ่านนโยบายกับแต่ละแบงก์เพียบ(อยู่ในหัวข้อถัดไป)

ส่วนคนที่พ่อแม่มีหนี้ธุรกิจ ต้องคิดแล้วว่า ธุรกิจที่ทำอยู่นั้นมีทางสว่าง มีการเติบโตไหม? ถ้าที่บ้านคุยกัน ตกลงแล้วว่าจะทำต่อก็ต้องหาต้นตอขอปัญหาให้เจอ (ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องการใช้เงินผิดที่ อย่างกู้เงินระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว หรือ กระแสเงินสดไม่ดี มียอดขายแต่ไม่มีกำไร) หรือการลดขนาดลง ก็ต้องตัดขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อเพิ่มกระแสเงินสด และความคล่องตัวในธุรกิจ

ภาพจาก Shutterstock

4. คุยกับแบงก์ คุยกับเจ้าหนี้ เมื่อวางแผนแล้วว่าจะเก็บทรัพย์สินอะไรไว้ ต้องเหลือเงินไว้ใช้จ่ายแต่ละเดือนอย่างไร ก็ถึงเวลาคุยกับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ถ้าเราเลือกจะย้ายหนี้นอกระบบมาในระบบ ก็ต้องเดินเรื่องขอสินเชื่อกับธนาคาร ส่วนเจ้าหนี้ต้องคุยว่าจะคิดดอกน้อยลงได้ไหม จ่ายหนี้อย่างไรได้บ้าง

5. มีวินัยทางการเงิน ทำให้ได้ตามแผน เมื่องานวางแผนแล้ว ต่อให้แผนดีแค่ไหน แต่ถ้าทั้งครอบครัวไม่ทำอย่างที่ตั้งใจไว้ ยังไงความซวยก็จะตามมา เช่น เปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นติดแบงก์โดยมีบ้านเป็นหลักประกัน ถ้าไม่จ่ายหนี้ทุกงวดบ้านก็โดนยึดไปอีก ที่สำคัญการเพิ่มรายได้ให้มากกว่ารายจ่าย ถึงดูยากแต่ก็ต้องช่วยกันทั้งครอบครัว

ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ หัวใจหลักคือการคุยกัน และแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น อาจจะต้องปรับเปลี่ยนแผน แต่ก็สามารถแก้ไขได้ทันเวลา

ภาพจาก shutterstock

เคลียร์หนี้หลักหมื่น หลักล้าน ผ่านคลีนิกแก้หนี้ และธนาคารออมสิน

ทางออกหนี้หลักล้านที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับคนที่มีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อไม่มีหลักประกันกับหลายสถาบันการเงิน สามารถใช้ คลีนิกแก้หนี้ (โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM) ได้ ว่าง่ายๆ ลูกหนี้ สามารถเข้าไปคุยกับ SAM ให้เขาเป็นตัวกลางไปเจรจากับเจ้าหนี้หลายๆ แห่งแทนลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้จะได้เงื่อนไขที่ดีกว่าการตระเวนไปเจรจากับแต่ละแบงก์เอง เช่น จ่ายหนี้แต่เงินต้นไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ค้างชำระ ฯลฯ

ทั้งนี้คนที่จะขอใช้บริการคลินิกแก้หนี้ได้ต้อง เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 65 ปี และมีหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันค้างเกินกว่า 3 เดือน กับธนาคารตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 และมียอดหนี้เฉพาะเงินต้นที่ค้างชำระรวมทุกสถาบันการเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท

ส่วนคนที่มีหนี้นอกระบบหลักหมื่นไม่เกิน 50,000 บาท สามารถเข้าไปที่สาขาของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และขอกู้ยืมเงินในโครงการแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งผ่านมติครม. มาเมื่อต้นปี  ในชื่อโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เงื่อนไขหลักๆ คือ ให้บุคคลธรรมดาขอสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 50,000 บาท  ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน  แต่ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563

สรุป

ก่อนจะเริ่มลงทุน เราต้องจัดการหนี้ที่มีอยู่ซะก่อน โดยเฉพาะหนี้ที่เราไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ แต่วันดีคืนดีต้องชดใช้แทนคนในครอบครัว ดังนั้นเพื่อวางแผนการเงินได้ดีขึ้น เราต้องรู้ทรัพย์สิน และหนี้สินทั้งหมดเพื่อนำมาแยกแยะสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตกับค่าใช้จ่ายออกมา

จุดสำคัญคือ การวางแผนว่าจะลดหนี้ หรือทำให้หนี้น้อยลงขณะเดียวกันก็ต้องใช้ชีวิตง่ายขึ้น และต้องมีวินัยทางการเงินทั้งบ้าน เพราะเราคนเดียวจะอุดหนี้ของทุกคนไม่ได้ตลอดไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา