“พันธุ์บุรีรัมย์” มหกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์ครั้งแรกในประเทศไทย ที่มี “เนวิน ชิดชอบ” เป็นหัวหอกในการจัดงาน เรียกว่าประสบความสำเร็จ ด้วยตัวเลขผู้เข้าร่วมงานตลอด 3 วันในการจัดงานกว่า 150,000 คน สร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่กว่าหลายสิบล้านบาท เป็นตัวสะท้อนความสนใจของประชาชน และผู้ป่วยที่ต้องการเสาะหาข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์
มากกว่าความรู้ด้านกัญชา คือโอกาสการเข้าถึง
ตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2562 รอบๆ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีประชาชนผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับกัญชาเป็นจำนวนมาก มารับฟังข้อมูลทางด้านวิชาการ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ นักกฎหมายรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการนำกัญชาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการวิธีการสกัดกัญชาให้เป็นยามาใช้เพื่อรักษาโรค
ทีมงาน Brand Inside ที่เข้าสังเกตการณ์พบว่า ผู้ป่วยแต่ละรายที่เข้ามาร่วมงาน ต่างมีความหวังในการใช้กัญชา เพื่อรักษาโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ โดยประชาชนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ สามารถแจ้งการครอบครองกัญชา โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ มาให้บริการตลอดทั้งวัน ซึ่งผู้แจ้งครอบครองกัญชาจะต้องมีใบรับรองแพทย์ และเอกสารแสดงการครอบครองต้นกัญชา น้ำมันกัญชา หากไม่มีใบรับรองแพทย์ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่และแจ้งความประสงค์ได้ ภายในงาน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำจนได้ใบรับรองแพทย์ และถือครองได้
นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ผู้ที่ขอความประสงค์ในการแจ้งครอบครองกัญชาในการรักษาทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เป็นมะเร็งมากที่สุด นอกจากนี้ยังมี หอบหืด ปวดข้อ ปวดระบบประสาท พาร์คินสัน และอีกกลุ่มไม่แสดงอาการรุนแรง เช่น โรคเครียด ไมเกรน เป็นต้น
ตลอดระยะเวลางานทั้ง 3 วัน มีจำนวนผู้มายื่นขอครอบครองกัญชา ยอดทะลุถึงหมื่นราย ในขณะที่มีผู้ผ่านเกณฑ์การยื่นขอจดครอบครองกัญชา มีจำนวน 4,397 ราย ซึ่งถือว่าทางสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ก็เข้มงวดกับการให้เอกสารที่สามารถครอบครองกัญชา
กัญชา : ซุปเปอร์ไฮเวย์ แก้โรค แก้จน
เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เจ้าของสถานที่ในการจัดงาน “พันธุ์บุรีรัมย์” และยังเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญที่ร่วมรณรงค์และต่อสู้ เพื่อให้กัญชาถูกกฎหมาย กล่าวว่า ยังมีคนอีกเป็นล้านที่ต้องการใช้กัญชาในการรักษาโรค แต่ยังเข้าไม่ถึง ด้วยความที่หายาก และเป็นสารเสพติดประเภท 5 ผิดกฏหมาย แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้ยื่นแจ้งครอบครองนิรโทษกรรมถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 ก็ยังมีความเป็นห่วงว่าหลังจากนั้นประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาในการรักษาโรคจะต้องดำเนินการอย่างไร สามารถครอบครองและใช้ได้โดยไม่ผิดกฏหมาย
“อยากเรียกร้องให้นายกฯ ออก ม.44 ปลดล๊อคให้กัญชาเสรี ให้แต่ละครอบครัวปลูกและใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ไม่เกิน 6 ต้น เป็นการเปิดเสรีแบบมีขอบเขตกติกา ชาวบ้านใช้เกณฑ์ปลูกใช้ทางการแพทย์ ส่วนภาคธุรกิจใช้อีกเกณฑ์หนึ่งที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาล กัญชา คือซุปเปอร์ไฮเวย์ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศแก้โรค เจ็บป่วยและแก้จนได้ ถ้าปลูกขายได้ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ มากขึ้นเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รัฐบาลมีรายได้เพิ่มตาม รัฐบาลออก ม.44 เรื่อง ทีวีดิจิทัลได้กัญชาก็ต้องออกได้”
คำถามมากมายในประเด็น “กัญชาเสรี” ใครได้ประโยชน์
เนวิน ย้ำถึงประเด็นที่มีหลายคนตั้งประเด็นเรื่องของผลประโยชน์แอบแฝงในการผลักดันเรื่องกัญชาอีกว่า ก่อนที่ความเข้าใจไม่ถูกต้อง เนื่องจากคิดไปเอง หรือ การตีความผิด และการใช้ข้อความอันจำกัดในการสื่อสาร จะถูกขยายผลไปมากกว่านี้ ผมขอชี้แจงว่า แนวคิดสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีการผูกขาด มีเป้าหมายที่ประโยชน์ของประชาชน เป็นหลัก คือ
- ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ครอบครัว และ โรงพยาบาลของรัฐบาล
- ลดภาระงบประมาณของบัตรทอง 30 บาท
- สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ที่จะร่วมโครงการปลูกกัญชา เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตยารักษาโรค ทั้งแพทย์แผนไทย และแผนปัจจุบัน ตามเงื่อนไขกฎหมายกำหนด กัญชาเพื่อการแพทย์ ในทัศนะของผม จึงเป็นทั้งยาแก้อาการของโรคที่เป็น และ เป็นยาแก้จน ได้ด้วย
หากการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ของภาคประชาชน ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ มีการออกกฎหมายมารองรับให้ทำได้ อย่างมีคุณภาพ และควบคุมมาตรฐานได้ จะช่วยลดภาระรัฐบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ลดค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการแพทย์ ลดปริมาณงาน และ ลดค่ายารักษาโรค ในส่วนของประชาชน จะลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลได้บ้างบางส่วน
การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ของภาคประชาชน ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะเป็นประโยชน์ทั้งกับรัฐ และ ประชาชน และขอย้ำว่าจะเป็นการสร้างเสริมคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ใช้บัตรทอง 30 บาท ได้อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อจำนวนผู้ป่วยไปโรงพยาบาลน้อยลง
ปลูก “กัญชา” ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
การปลูกกัญชาที่เห็นได้ทั่วๆ ไป เช่นปลูกในกระถาง หรือสวนหลังบ้าน ผลผลิตที่ได้จะเป็นเพียงแค่ส่วนของใบเท่านั้น ที่สามารถเอาไปแปรรูปได้ ซึ่งจะได้เพียงสาร THC ที่ช่วยในการทำให้ผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้บรรเทาอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น แต่แท้ที่จริงแล้ว ส่วนของ “ยอดดอกกัญชา” และ “เกษรกัญชาตัวเมีย” ที่มีปริมาณของสาร THC และ CBD ที่สูงที่สุด ซึ่งสาร CBD นี้ถูกนำไปใช้ในการรักษามะเร็งได้หลายชนิด
ซึ่งการปลูกกัญชา ที่ได้ผลผลิตที่ ดอกกัญชา มากที่สุด ต้องปลูกในอุณหภูมิ 22-24 องศาเซลเซียส และต้องได้รับคลื่นแสงที่มี spectrum ที่เหมาะสมในการทำให้ต้นกัญชาผลิดอกได้ ส่วนพันธุ์กัญชาทั่วๆ ไป จะให้ผลผลิตดอกกัญชาอยู่ที่ 7 เดือน ส่วนพันธุ์กัญชาที่ที่ให้ผลผลิตเร็วที่สุด เป็นพันธุ์ที่นิยมในการเพาะปลูก ให้ผลผลิตประมาณ 4 เดือน
“หลักๆ เลยคือการลงทุนเรื่องของอุปกรณ์ ที่ต้องมีห้องที่เปิดแอร์ได้ตลอดเวลาที่ทำการเพาะปลูก และที่สำคัญแสง LED โทนไฟสีม่วงที่เปิดใส่ต้นกัญชา จะต้องเป็นแสงในช่วง spectrum ช่วงที่เข้มข้นมากๆ แต่ไม่มีคลื่นความร้อน ซึ่งต้นกัญชาชื่นชอบเป็นอย่างมาก ถึงจะผลิดอกออกมาให้เก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งหากเริ่มต้นปลูกเริ่มต้นที่ 6 ต้น ประเมินค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 70,000 บาท ซึ่งต้นทุนที่แพงอยู่ที่ LED ที่ใส่ส่องต้นกัญชา และค่าไฟจากการเปิดแอร์ตลอดเวลา” แหล่งข่าวของผู้เข้าร่วมงานให้ข้อมูลกับทาง Brand Inside
การจะปลูกกัญชา ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถึงอย่างไร ประเด็นแรกสุดที่ต้องคำนึงคือ เรื่องของกฎหมาย และการผลักดันกัญชาเสรีให้เกิดขึ้น และต้องย้ำว่าการใช้เป็นไปเพื่อทางการแพทย์เป็นหลัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา