เมื่อบรรจุภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่ห่อสินค้า แต่ต้องเป็นมิตรกับโลกพร้อมให้ข้อมูลจัดการขยะกับผู้บริโภค

ในอนาคตคุณค่าของบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อจะไม่ใช่แค่การปกป้องสินค้าหรือนําพาสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอีกต่อไป เพราะทั่วโลกต่างให้ความสําคัญกับการปกป้องโลกใบนี้ 

ปัจจุบันจึงเกิดเป็น “Circular Economy” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน กลายเป็นแกนสําคัญของการดําเนินธุรกิจในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

แนวคิดที่เปลี่ยนไปของการสร้างบรรจุภัณฑ์

นายสินชัย เทียนสิริ ผู้อํานวยการสถาบันรหัสสากล (GS 1) อดีตผู้อํานวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เล่าว่า ในยุคแรกบรรจุภัณฑ์เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง (Linear Economy) เนื่องจากทรัพยากรยังมีเพียงพอ จนมาถึงยุคก่อให้เกิดปัญหาขยะจึงเป็นการใช้แล้วนําไปรีไซเคิล (Recycle Economy) 

แต่ขณะเดียวกันกระบวนการรีไซเคิลย่อมมีต้นทุน หากพิจารณาแล้วว่าสิ่งนั้นไม่คุ้มค่าก็จะถูกทิ้งภาระให้โลกบําบัดต่อไป จนปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสําคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทําให้เกิดแนวคิด 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle 

นอกจากนี้นายสินชัยยังได้เสนอให้สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในการร่วมจัดการบรรจุภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าไปต่างประเทศต้องไม่มองแค่ฟังก์ชันการปกป้องสินค้า แต่จะทําอย่างไรให้ปกป้องสินค้าและปกป้องโลกได้ด้วย 

เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศให้ความสําคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก บางประเทศกําหนดเป็นมาตรการการนําเข้าสินค้าเลยทีเดียว ซึ่งในอนาคตประเด็นนี้อาจจะกลายเป็นกําแพงทางการค้าได้

การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องเพิ่มมูลค่า

นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทย (ATSI) ได้ให้ข้อคิดเห็นสําหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็น Smart Packaging ที่สร้างคุณค่าเพิ่มมากกว่าการบอกข้อมูลสินค้า เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ของธุรกิจและต่อผู้บริโภค โดย Smart Packaging นั้นมี 2 ประเภท คือ

  • Active Packaging มักใช้กับสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งจะช่วยยืดอายุบนชั้นวางสินค้าให้ยาวนานขึ้น เช่น การใช้วัสดุที่ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร 
  • Intelligent Packaging เพื่อสื่อสารกับลูกค้า เช่น สื่อสารด้วยตัวชี้วัด (Indicator) ที่เป็น สีเพื่อบอกถึงความสด ความสุก สําหรับการรับประทาน ทั้งการให้และรับข้อมูลด้วย QR Code, RFID หรือ NFC และเพื่อส่งเสริมด้านการตลาด ช่วยสร้างประสบการณ์กับผู้บริโภค หรือกิจกรรมร่วมสนุกต่างๆ 

แนวทางการดำเนินงานของแบรนด์เพื่อสิ่งแวดล้อม

แบรนด์ระดับโลกอย่างเนสท์เล่ (Nestlé) ได้เริ่มปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อลดภาระของโลกแล้วในหลายๆ ประเทศ 

นายจิรพัฒน์ ฐานสันโดษ Market Packaging Manager, Indochina บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย จํากัด เล่าว่า แบรนด์มีความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อม 2 เรื่อง คือ ลดการสร้างมลพิษต่อโลกให้ได้ 100% ในปี 2050 และเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ให้สามารถนํากลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ทั้งหมดในอีก 4 ปีข้างหน้า ในข้อสองนี้ได้แบ่งออกเป็น 5 แนวทางการดําเนินงาน คือ

  • Reduce ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จําเป็นและลดปริมาณพลาสติกมากเท่าที่เป็นไปได้ เช่น ตัดสีฟ้าอ่อนบนขวดที่เป็นภาพจําของแบรนด์ออก หรือการลดใช้สีที่ฝาถ้วยไอศกรีมเพื่อรีไซเคิลง่ายขึ้น
  • Reuse & Refill ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบของการใช้แล้วทิ้ง
  • Alternative Materials การหาวัสดุทดแทนอื่นๆ ที่สามารถนําไปรีไซเคิลได้ 
  • Infrastructure การมองหาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีการนําไปรีไซเคิลอย่างจริงจัง
  • Behavior Change การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งด้านการส่งเสริม การโปรโมท การให้ความรู้ เพื่อนำไปสู่การแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิด Circular Economy ที่แท้จริง 

เมื่อการดูแลและปกป้องโลกเป็นปัจจัยสําคัญของการบริโภคสินค้าทั่วโลกในขณะนี้ ผู้ส่งออกไทยควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และหีบห่อให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้จะต้องใช้เวลาและงบประมาณในการเริ่มต้น แต่ผลที่ได้รับคือธุรกิจจะสามารถดําเนินต่อไปได้ในระยะยาว และส่งออกได้อย่างยั่งยืน

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา