สินค้าต่างชาติทะลักแสนล้าน ไปรษณีย์ไทยบอก 70% บนอีคอมเมิร์ซ ไม่ใช่สินค้าไทย

คุณคิดว่าของที่ซื้อๆ กันทุกวันนี้บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นสินค้าจากไทยกี่เปอร์เซ็นต์?

ไปรษณีย์ไทย

‘ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยว่า หนึ่งในความเสี่ยงจากนโยบายระหว่างประเทศที่ไปรษณีย์ไทยต้องจับตามองคือ ‘นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทน’ (Reciprocal Tariff) หรือกำแพงภาษีของทรัมป์

นโยบายนี้อาจส่งผลต่อการขนส่งระหว่างประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งปัจจุบัน ใน 1 ปี สินค้าข้ามพรมแดนที่เข้าไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว โดย 70% ของผลิตภัณฑ์ที่ขายตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นมาจากต่างชาติ 

ยิ่งกรณีของ Temu คือนำเข้า 100% เลยด้วยซ้ำ

ดนันท์มองว่า จากเดิมที่หลากหลายประเทศเคยส่งออกให้สหรัฐฯ ก็คงต้องหาที่ทางระบายใหม่ จนอาจทำให้มีสินค้าต่างชาติทะลักเข้าไทยเยอะ กลายเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ

จากวิกฤตนี้ ‘ไปรษณีย์ไทย’ มีบทบาทอย่างไร มาดูกัน

กำแพงภาษีกระทบอีก สินค้าทะลักไทยมากขึ้น

ไปรษณีย์ไทย

แน่นอนว่า หากกำแพงภาษีของทรัมป์กระทบการขนส่งทั่วโลก ไปรษณีย์ไทยคือหนึ่งในผู้เล่นที่อาจโดน

ดนันท์อธิบายว่า เมื่อร้านต่างๆ ในไทยขายไม่ได้ Volume ที่ไปรษณีย์ไทยถือกับลูกค้าเหล่านี้ก็จะน้อยลง 

และถ้าคุณคิดว่า แต่อย่างน้อยบริษัทขนส่งต่างๆ ก็ยังส่งสินค้าต่างชาติได้หรือเปล่า? 

ดนันท์บอกไว้เลยว่า ถ้าให้หวังพึ่งสินค้าที่ทะลักมาจากต่างประเทศคงไม่ได้ เพราะมันไม่ง่ายขนาดนั้น และไม่รู้ว่าพวกเขาจะมั่นคงกับเราขนาดไหน 

“เราจะเป็นแค่คนรอรับของไปส่งไม่ได้ เราต้องทำมากกว่านั้น” ดนันท์กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ไปรษณีย์ไทยจึงวางกลยุทธ์รองรับความเสี่ยงกลุ่มธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME และอีคอมเมิร์ซที่อาจได้รับผลกระทบด้านการส่งออก ผ่านการ

  • ร่วมมือกับ ‘สหภาพสากลไปรษณีย์’ และ ‘การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน’ เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดีขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการขนส่งไปยังปลายทางต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ
  • ผลักดันศักยภาพธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก ด้วยการร่วมมือกับ ‘eBay’ และ ‘Amazon FBA’ ในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน รวมถึงจัดตั้ง ‘Regional Post Alliance’ เพื่อสร้างพันธมิตรอันแข็งแกร่งประจำภาคขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยเชื่อมเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

ไปรษณีย์ยังตั้งใจนำจุดแข็งหรือทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว มาสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจอย่างรอบด้านในปีนี้ ประกอบด้วย

  1. บริการส่งด่วน EMS ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ต้องการความรวดเร็วและเชื่อถือได้ ผ่านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกล
  1. บริการขนส่งที่ครอบคลุมธุรกิจอย่างครบวงจร โดยตอนนี้ บริการของไปรษณีย์ไทยครอบคลุมทั้งการขนส่งสิ่งของขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ยา นมแม่ สินค้าการเกษตร และปลาสวยงาม ซึ่งดนันท์มองว่า กระบวนการส่งสิ่งของต่างๆ มันไม่เหมือนกัน ถ้าปรับตัวไม่ได้ ก็จบ 
  1. บริการทางการเงิน ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรด้านการเงินในการเป็น ‘ตัวแทนธนาคาร’ เพื่อให้บริการด้านนี้อย่างครบวงจร
  1. การให้บริการกลุ่มค้าปลีกในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การค้นคว้าข้อมูล เลือกซื้อสินค้า หรือ ชำระเงิน รวมถึงมีแพลตฟอร์ม ‘Thailand Post Mart’ ซึ่งเป็นการเอาสินค้าจากทั่วประเทศมาจำหน่ายกว่า 20,000 รายการ
  1. ขยาย ‘Postman Cloud’ ซึ่งเป็นการต่อยอดเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ เพื่อสร้างอรรถประโยชน์แก่สังคม เช่นปีนี้ พวกเขาก็ได้ร่วมงานกับสำนักสถิติแห่งชาติในการสำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะกว่า 4 ล้านครัวเรือน
  1. มุ่งสู่ ‘Information Logistics’ ด้วยการอัปเกรดฟีเจอร์ ‘Digital Postbox’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการติดตามสถานะเอกสาร และทำศูนย์ไปรษณีย์ที่เป็น Full Automation โดยดนันท์เผยว่า ปี 2025 เป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนโฉมเป็น Tech Post แบบเต็มรูปแบบ

ไปรษณีย์ไทยคว้าใจ Gen Z แถมไตรมาสแรก รายได้พุ่งเกือบ 6 พันล้านบาท

ในช่วงเวลาเช่นนี้ อนาคตของไปรษณีย์ไทยจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครทราบ แต่ในไตรมาสแรกของปี 2025 ดนันท์เล่าว่า บริษัทสามารถทำรายได้รวมๆ กว่า 5,945 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 11.83%

สำหรับกำไรก็โตขึ้นเช่นกัน โดยสามารถทำกำไรกว่า 534 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรก ปี 2024 ราวๆ 227% 

ความสำเร็จนี้ ดนันท์เผยว่า มาจากปัจจัยสองอย่างคือ จำนวนการขนส่งและรายได้ต่อชิ้นที่มากขึ้น

นอกจากนั้น ถ้าคุณยังติดภาพจำไปรษณีย์ไทยเป็นบริการเก่าแก่ ไม่ทันสมัยโดนใจวัยรุ่น อาจต้องคิดใหม่ เพราะล่าสุดงานวิจัย ‘Gen Z Top Brand 2025’ โดย INTAGE Thailand พบว่า Gen Z มองไปรษณีย์ไทยเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ จนเกิดเป็นภาพจำ “พี่ไปรฯ คือคนรู้ใจ”

ไปรษณีย์ไทยกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ตนยืนหนึ่งในกลุ่มลูกค้า Gen Z ไม่ใช่แค่เพราะความรวดเร็วหรือจำนวนสาขาที่ครอบคลุม แต่คือ ‘หัวใจของการขนส่ง’ ที่ส่งต่อความรู้สึกดีๆ ไปพร้อมพัสดุด้วยต่างหาก

ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของไปรษณีย์ไทยในปัจจุบันจะดำเนินการไปด้วยดี ทั้งนี้ ดนันท์บอกว่า รู้สึกมาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่วางใจ เพราะมีความไม่แน่นอนอีกมหาศาล ซึ่งต้องแข่งกับผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บริษัทไม่สามารถหยุดนิ่ง แล้วทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ได้

ในส่วนของกำแพงภาษีที่ดนันท์กล่าวไปก็เช่นกัน โดยไปรษณีย์ไทยยืนยันว่าจะติดตามความเสี่ยงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

อนาคตของ SME ไทย และบริการโลจิสติกส์ในไทยจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นคนที่อยู่รอด คงได้แต่เอาใจช่วยกันไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา