รู้จักกับร้านสะดวกซัก ธุรกิจร้านซักผ้าแบบใหม่ ที่แม้แต่ร้านซักรีด ก็เอาผ้ามาฝากซักได้

รู้จักกับธุรกิจร้านสะดวกซัก ร้านซักผ้าแบบใหม่ ไม่เหมือนเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญแบบที่คนคุ้นเคย ที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาความขี้เกียจซักผ้าตากผ้าของคน แม้แต่ร้านซักรีดก็เอาผ้ามาฝากซักได้

เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ หนึ่งในสิ่งที่เรามักเห็นกันจนชินตาในสังคมเมืองใหญ่ หรือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง โดยเฉพาะในพื้นที่คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ หอพัก และบ้านเช่า ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องซักผ้าได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านพื้นที่ หรือความสะดวกเมื่อต้องการย้ายที่พักบ่อยๆ

รูปแบบเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่เราเห็นกันส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องซักผ้าฝาบนขนาดไม่ใหญ่ และมีเครื่องหยอดเหรียญติดตั้งเสริมไว้ด้านข้าง ตั้งอยู่ที่บริเวณต่างๆ มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้อยู่อาศัยในละแวกนั้น

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน มีรูปแบบเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน นั่นคือร้านสะดวกซัก (Laundromat) ที่ไม่ได้ใช้เครื่องซักผ้าฝาบนแบบเดิมๆ เหมือนที่เราเห็นในเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ แต่สามารถทำได้ทั้งซัก และอบผ้า รวมถึงมีพื้นที่นั่งคอยไว้ให้บริการ

ร้านสะดวกซักในประเทศญี่ปุ่น ภาพโดย Ian Valerio จาก Unsplash

ซึ่งความจริงแล้ว ร้านสะดวกซักไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศแต่อย่างใด เพราะหากดูตามซีรีส์ หรือรายการทีวีต่างประเทศ ร้านสะดวกซักเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ส่วนในประเทศไทย คำว่าร้านสะดวกซักเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

ร้านสะดวกซัก ธุรกิจที่แก้ปัญหา Pain Point การซักผ้า

กวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้บริหารของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก Otteri Wash & Dry เล่าให้ฟังถึงตลาดร้านสะดวกซักในประเทศไทยว่าเกิดขึ้นมาจาก Pain Point ความขี้เกียจของคน ที่อยากได้ความสะดวกสบายในการซักผ้า

เพราะการซักผ้าจำเป็นต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง ทั้งซัก ทั้งตาก ซึ่งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญแบบเดิมจะต้องใช้เวลานาน คือเมื่อซักเสร็จแล้วก็ต้องนำผ้าไปตากให้แห้งอีกหลายชั่วโมง รวมเวลาการซักผ้าตากผ้า อาจต้องใช้เวลานานนับ 7 ชั่วโมง

เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญแบบเดิม ใช้เวลาซักนานกว่าเครื่องซักผ้าของร้านสะดวกซักที่ใช้เครื่องแบบอุตสาหกรรม

แต่ร้านสะดวกซักอย่าง Otteri มีจุดเด่นเหนือเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญแบบเดิมๆ คือ ความรวดเร็วในการซักอบที่เพราะใช้เครื่องซัก และเครื่องอบผ้าแบบเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรม หรือโรงแรม ทำให้สามารถซักผ้าเสร็จภายในเวลา 30 นาที หากอบผ้าต่อก็ใช้เวลาเพียง 30 นาที เช่นเดียวกัน

ดังนั้นภายในเวลา 1 ชั่วโมงก็ทำให้ผ้าแห้งพร้อมใส่แล้ว เป็นการแก้ไข Pain Point การซักผ้า ตากผ้าที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง ให้เสร็จพร้อมใส่ได้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ส่วนในมุมของผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก ก็มีข้อได้เปรียบที่ดึงดูดให้มีผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักมากยิ่งขึ้น นั่นคือ การมีต้นทุนน้อย ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานเพื่อเฝ้าร้าน ไม่ต้องสต็อกสินค้า ต้นทุนจึงมีเพียงค่าน้ำ และค่าไฟเท่านั้น รวมถึงยังเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับในปัจจุบัน กวิน เล่าว่า ร้านสะดวกซักในประเทศไทย มีอยู่ราวๆ 1,000 สาขาทั่วประเทศ ส่วนร้านสะดวกซักของ Otteri เอง มีอยู่ประมาณ 350 สาขาในปัจจุบัน โดยมีทั้งสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ และสาขาที่ลงทุนเองในสัดส่วน 1 ใน 5 ของจำนวนสาขาทั้งหมด โดยสาขาที่เป็นแฟรนไชส์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.2 ล้านบาท

ลูกค้าของร้านสะดวกซัก แม้แต่ร้านซักรีดยังมาใช้บริการ

ร้านสะดวกซักที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน มักอยู่ในทำเลที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น จุดที่มีหอพัก หรืออพาร์ทเมนท์ เป็นต้น โดยลูกค้าหลักของร้านสะดวกซัก Otteri กวินเล่าว่า มีทั้งกลุ่ม B2B และกลุ่ม B2C

ลูกค้ากลุ่ม B2B คือลูกค้าที่ทำธุรกิจในระแวกนั้น ทั้งร้านนวด ร้านทำเล็บ ที่ในแต่ละวันเมื่อปิดร้านแล้วก็จะนำผ้าที่ใช้ให้บริการมาซักกับร้านสะดวกซัก นอกจากนี้สิ่งที่น่าแปลกใจคือ มีลูกค้าที่เปิดกิจการร้านซักรีดมาใช้บริการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการนำผ้านวม หรือผ้าห่มผืนใหญ่ๆ ที่ลูกค้านำมาจ้างซัก นำมาซักที่ร้านสะดวกซักอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเครื่องซักและเครื่องอบผ้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของร้านสะดวกซัก สามารถช่วยลดระยะเวลาการตากผ้าที่มีความหนาอย่างผ้านวมได้มาก แทนที่จะต้องรอหลายๆ วัน ก็ทำให้ผ้าแห้งพร้อมส่งคืนลูกค้าในวันเดียว

ส่วนลูกค้ากลุ่ม B2C หรือว่าลูกค้าที่เป็นคนทั่วไป จะมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

    • ลูกค้าที่เป็นประชากรแฝง ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่หอพักให้เช่า ดังนั้นจึงไม่ซื้อเครื่องซักผ้า เพราะความสะดวกในการย้าย
    • นิสิต นักศึกษา ที่เข้ามาอยู่ในหอพัก
    • นักท่องเที่ยว ที่เคยใช้บริการร้านสะดวกซัก (Laundromat) ในต่างประเทศอยู่แล้ว
    • คนทั่วไปตามหมู่บ้าน หรือชุมชนที่ไม่มีพื้นที่สำหรับตากผ้า เพราะใช้พื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ไปแล้ว

นอกจากนี้เมื่อถามว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ซบเซา มีผลอย่างไรกับธุรกิจร้านสะดวกซัก กวินตอบว่า เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดี มีหลายคนที่ตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องซักอบผ้าเอาไว้ใช้งานเอง เพราะเครื่องซักอบผ้ามีราคาแพง

เครื่องซักอบผ้าฝาหน้าแบบ 2 in 1 ที่ขายอยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่มีราคาสูง ประมาณ 27,000 บาท จึงทำให้มีคนบางส่วนที่ตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องซักอบผ้าเพื่อใช้งานเองที่บ้าน แต่เลือกที่จะนำผ้ามาซักอบกับร้านสะดวกซักก็มีเช่นกัน

สถานการณ์ธุรกิจร้านสะดวกซัก ในช่วงโควิด-19 ระบาด

แน่นอนว่าธุรกิจทุกๆ ประเภทย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างแน่นอน ซึ่งธุรกิจร้านสะดวกซักก็ได้รับผลกระทบไปด้วย แม้จะไม่จำเป็นต้องปิดร้าน เพราะร้านสะดวกซักจัดอยู่ในกลุ่มบริการเกี่ยวกับความสะอาดและสุขอนามัย ซึ่งสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ก็ต้องมีการปิดร้านในช่วงเวลาเคอร์ฟิว

แต่โควิด-19 ก็กระทบทำให้รายได้หายไปเฉลี่ย 20% ขึ้นอยู่กับทำเล เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีผู้มาใช้บริการน้อย เพราะมหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอน และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถนำผ้ามาซักได้ในเวลากลางคืน เพราะมีการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งกลางคืนคือช่วงเวลาที่ลูกค้าของร้านสะดวกซักมาใช้บริการมากที่สุด แต่หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวแล้วรายได้ก็กลับมาสู่สถานการณ์ปกติในเวลาเพียง 2 เดือน

สรุป

ธุรกิจร้านสะดวกซักถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ในฐานะรูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั่วไปที่ต้องการทำความสะอาดเครื่องแต่งกายเป็นประจำ แต่ด้วยชีวิตที่เร่งรีบ ไม่มีเวลาที่จะรอเสื้อผ้าแห้ง กว่าจะได้ใส่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ร้านสะดวกซักทำให้เสื้อผ้าพร้อมใส่ได้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้รูปแบบการอยู่อาศัยของคนในเมืองใหญ่ก็มีส่วนเช่นกัน ทั้งการอยู่ในหอพัก บ้านเช่า เป็นประชากรแฝงในกรุงเทพฯ ทั้งคนที่มาเรียน และคนที่มาทำงาน ไม่ได้อยากซื้อเครื่องซักผ้าเป็นของตัวเอง เพราะไม่มีพื้นที่ ไม่สะดวกเวลาขนย้าย แถมเครื่องซักผ้าที่ซักอบได้ในตัวก็มีราคาแพง อาจไม่คุ้มค่าที่จะเสียเงินก้อนใหญ่ สู้เก็บเงินไว้ใช้บริการร้านสะดวกซักได้หลายๆ ครั้งดีกว่า

ดังนั้นแล้วร้านสะดวกซักจึงกลายเป็นการทำธุรกิจที่ปรับตัว จากการทำเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญแบบเดิมๆ เพื่อให้เหมาะสมกับวิธีชีวิตของคนในเมืองที่มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา