ข่าวใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้เห็นองค์กรใหญ่ปรับลดพนักงาน ปรับโครงสร้างธุรกิจให้คล่องตัว เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทิศทางนี้สะท้อนให้เห็นถึง “คน” ที่มีอยู่ ไม่สามารถเอามาลงทุนต่อได้ องค์กรต้องมีวิธีการสรรหาเชิงรุก เพื่อให้ได้บุคลากร Skill สูงๆ
ปรับลดคน เข้าสู่ยุค Digitalization
ข่าวเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรของบริษัทใหญ่ๆ เรื่องปรับลดพนักงาน หรือลดจำนวนสาขาเริ่มมีให้เห็นช่วงหลายปีมานี้ เพราะธุรกิจได้ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยี การเข้ามาแทนที่ของดิจิทัล ในต่างประเทศจะเห็นชัดเจนในธุรกิจรีเทล มีการปิดสาขา ลดจำนวนพนักงานกันมากมาย
ในประเทศไทยเองเริ่มเห็นสัญญานในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เป็นข่าวใหญ่เมื่อ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เตรียมปรับลดทั้งสาขาและพนักงานภายใน 3 ปี สาขาจะลดลงจาก 1,153 สาขาเหลือ 400 สาขา และลดจำนวนพนักงานจาก 27,000 คน เหลือ 15,000 คน ซึ่งปกติมีพนักงาน Turn Over ประมาณ 3,000 คนต่อปี จึงจะใช้การลดรับพนักงานใหม่เป็นหลัก
เช่นกันกับ dtac ที่มีแผนลดพนักงานเหลือ 4,000 คนภายในปี 2563 แต่รับเพิ่มฝ่ายดิจิทัล 200 คน ส่วน Fujifilm ลดพนักงาน 10,000 คน และควบรวมธุรกิจ Xerox มาอยู่ภายใต้การดูแล
หลายเหตุการณ์ได้สะท้อนได้เห็นถึงอะไรบ้างในตลาดแรงงาน “ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ได้อธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่า
“ทิศทางที่องค์กรปรับลดมากขึ้น แสดงว่าคนที่เขามีอยู่เอาไปลงทุนต่อไม่ได้”
นัยยะสำคัญที่แฝงก็คือองค์กรมีบุคลากรที่ขาดทักษะอยู่มาก ไม่ตอบสนองต่อการปรับตัวขององค์กรที่จะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ ทำให้ HR ต้องมีการสรรหาแบบเชิงรุกมากขึ้น
“การปรับลดคนขององค์กรจะเข้าสู่ยุค Digitalization มากขึ้น ถ้าไม่ปรับตัวพนักงานที่มี Skill ล้าหลังก็จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI กับหุ่นยนต์เริ่มเข้ามาแล้ว ถ้าไม่ปรับองค์กรก็จะมีแต่บุคลากรที่ขาดทักษะ แต่ก่อนฝ่าย HR ในบ้านเรามีแต่การตั้งรับ ตั้งรับว่าจะมีอะไรเข้ามาแล้วปรับตัว แต่ตอนนี้ต้องเป็นเชิงรุก ต้องสรรหาให้เข้มข้นขึ้น พนักงานเองก็ต้องพัฒนาตัวเองหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอเพื่อให้อยู่ในองค์กรให้ได้”
ธนาคาร-รีเทล ถูกเทคโนโลยีกระทบหนัก
จะเห็นว่าวงการที่มีการปรับตัวอย่างหนัก ส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ในยุคนี้ธนาคารก็สามารถทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนได้ จึงเห็นมีการปรับลดคน และสาขาลงหลายราย และเริ่มเข้าสู่ยุค Cashless Society แล้ว
อีกธุรกิจหนึ่งก็คือรีเทล เป็นการเข้ามาของอีคอมเมิร์ซที่มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค หน้าร้านเองก็มีเทคโนโลยีเข้ามาทุกอย่างสามารถเป็นอัตโนมัติได้ ในต่างประเทศมีเปิดโมเดลร้านค้าไร้แคชเชียร์ก็มี แสดงว่าในอนาคตไม่จำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับคนแล้ว
ถึงแม้ว่าในไทยจะยังไม่เห็นชัดเจนมากในกลุ่มรีเทล เพราะคนไทยยังชอบเดินห้างฯ ชอบที่จะสัมผัสสินค้า ไปทำธุระ ทานอาหารกับครอบครัว แต่ใช่ว่าอนาคตจะไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามยังมีตำแหน่งงานอีกหลายตำแหน่งที่ยังขาดแคลนในตลาดแรงงานอยู่ทุกปี เชื่อว่าหุ่นยนต์ก็ยังมาแทนที่ไม่ได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นนี้ ได้แก่ พนักงานขาย, ช่างงานฝีมือ, วิศวกร, นักบัญชี, สถาปนิก, นักสำรวจ และพยาบาล แต่ก็ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้มี Skill เหนือเทคโนโลยีให้ได้
รวมถึงตำแหน่งกลุ่ม “งานบริการ” หรืองานที่ใช้ Emotional หนักๆ เน้นสื่อสาร เน้นคุยกับลูกค้าก็ยังคงมีความสำคัญ หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำงานได้ซับซ้อนมากได้ขนาดนั้น
ลงลึกถึงระบบการศึกษาไทย
ปัญหาเรื่องพนักงานขาดทักษะในองค์กรนี้ ดร.ศิริยุพาได้บอกว่ามาจาก “ระบบการศึกษา” ในไทยด้วย ไม่สามารถผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงานได้ จึงได้เห็นโรงเรียนเฉพาะทางเกิดขึ้นมากมาย
“ระบบการศึกษาไทยไม่ได้โยงกับระบบเศรษฐกิจมานานแล้ว นึกอยากจะสอนอะไรก็สอน ไม่ได้ดูความความต้องการของตลาดผลออกมาก็คือไม่สามารถป้อนตลาดแรงงานได้ดีเท่าที่ควร มีตัวเลขว่า 16% ของคนตกงานมาจากปริญญาตรี”
“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจึงได้เห็นการเปิดตัวของโรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนสายอาชีพโดยตรง หรือโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ของกลุ่ม CP หรือมหาลัยเนชั่นของกลุ่มเนชั่น ที่ต้องการผลิตบุคลากรป้อนให้กับองค์กรโดยตรง ใส่หลักสูตรว่าองค์กรต้องการอะไรบ้าง”
“ถ้าเมืองไทยอยากจะเป็น Hub เรื่องการท่องเที่ยว หรือเรื่องการแพทย์จริงๆ ควรมีการปั้นบุคลากรที่เฉพาะอุตสาหกรรมโดยตรง ปั้นให้มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ให้มี Skill เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และเหนือกว่าเทคโนโลยี” ดร.ศิริยุพากล่าวทิ้งท้าย
สรุป
- ตลาดแรงงานในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ 40 ล้านคน ในช่วงอายุ 15-65 ปี มีความเสี่ยงที่จะตกงานจากเทคโนโลยีอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Blue Collar หรือกลุ่มใช้แรงงาน เพราะเครื่องจักรสามารถทำทดแทนได้ หนทางเดียวคือต้องมีการพัฒนาตัวเองให้มี Skill หลายๆ ด้าน ดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด
- ทิศทางขององค์กรใหญ่ในปรับโครงสร้างองค์กรคงมีให้เห็นอีกเรื่อยๆ อาจจะปรับใหญ่ หรือปรับเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นเรื่องสะเทือนวงการ ชี้ให้เห็นถึงการขยับตัวให้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ถ้าไม่ปรับก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะองค์กรก็ต้องมี “คน” ไว้เพื่อ “ลงทุน” ต่อได้ในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา