เงินรางวัลเพิ่ม-แบรนด์สินค้าทั่วไปเริ่มสนับสนุน ทำธุรกิจทีม E-Sport เติบโตก้าวกระโดดในไทย

ก่อนหน้านี้การทำทีมเพื่อแข่งขันเกมอาจเริ่มจากใจรัก และอยากให้คนอื่นเห็นว่าเกมก็มีสาระ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่อีกต่อไป เมื่อการทำทีมแข่งขันเกม หรือเรียกแบบทางการว่า ทีม E-Sport กลายเป็นอีกโอกาสทางธุรกิจที่น่าจับตามอง

LYNX TH ทีม E-Sport น้องใหม่ของไทย

การแข่งขันเกมที่ไม่ได้บ้านๆ เหมือนในอดีต

เมื่อ 5-6 ปีก่อน การแข่งขันเกมอาจดูบ้านๆ และมีเงินรางวัลเพียงเล็กน้อย เพราะแข่งขันกันด้วย Passion หรือความหลงไหลในการเล่นเกมล้วนๆ แต่ด้วยปัจจุบันกระแส E-Sport นั้นถาโถมมาจากทั่วโลก ทำให็ประเทศไทยก็เจอกับกระแสนี้เช่นกัน จนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาวงการ E-Sport ในประเทศไทยก็แทบจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

กฤษฎา เจียรวนนท์ ผู้บริหาร และเจ้าของทีม LYNX TH หนึ่งในทีม E-Sport น้องใหม่ของไทย เล่าให้ฟังว่า เงินรางวัล และรายการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนหลายๆ คนเริ่มมองเห็นโอกาสทำธุรกิจทีม E-Sport ประกอบกับฐานผู้ชมที่ล้วนเป็นกลุ่ม Millennial ก็ทำให้แบรนด์สินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มไอทีเทคโนโลยีเริ่มเปิดใจสนับสนุนมากขึ้น

กฤษฎา เจียรวนนท์ ผู้บริหาร และเจ้าของทีม LYNX TH

“กลุ่มสินค้า FMCG ก็เปิดใจบ้างแล้ว แต่ยังไม่มาก และถึงการแข่งขัน กับเงินรางวัลจะเพิ่ม แต่ส่วนนี้ก็ยังไม่สามารถ Cover ค่าใช้จ่ายของนักกีฬา และการบริหารทีมได้ แต่ทิศทางมันเริ่มมา ทำให้หากได้รับการสนับสนุนที่ชัดเจน โอกาสทำกำไรจากธุรกิจทีม E-Sport ในประเทศไทยก็มีค่อนข้างสูง และเริ่มมีบางทีมที่สามารถเริ่มยืนระยะได้นาน”

แข่งเป็นทีม และต้องจ้างอย่างน้อยค่าแรงขั้นต่ำ

ทั้งนี้ทีม E-Sport ที่เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ดในประเทศไทย บางทีมอาจยังไม่มีการบริหารที่เป็นรูปแบบบริษัท ทำให้ตัวนักกีฬาค่อนข้างไม่มีอนาคตเหมือนกีฬาอื่นๆ และการจะจูงใจให้นักกีฬาระดับที่แข่งขันได้มาอยู่กับทีม อย่างน้อยต้องจ่ายเป็นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเกิดความยั่งยืนในธุรกิจนี้

รายการ ESL หนึ่งในการแข่งขัน E-Sport ที่ใหญ่ที่สุด

“ตอนนี้มันต้องจ่ายเป็นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมาให้แค่ 4,000-5,000 คงไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าไม่ได้ให้อนาคตเด็กจริงๆ ทำให้เวลาคิดค่าใช้จ่ายต่อเดือนเช่นทีม DOTA 2 อย่างน้อยต้องมีนักกีฬา 5 คน ก็ตกคนละเกือบหมื่น ไม่รวมผู้จัดการทีม และค่าบริหารอื่นๆ ซึ่งในยุคนี้การหารายได้เข้ามา Cover ค่าใช้จ่ายมันไม่ได้ยากขนาดนั้นแล้ว”

สำหรับทีม LYNX TH ก่อตั้งมา 2 เดือน ปัจจุบันเซ็นสัญญานักกีฬา Full-Time เข้าสังกัดแล้ว 2 คน เพื่อแข่งขันเกม DOTA 2 รวมมูลค่าสัญญากว่า 1 ล้านบาท (ไม่เปิดเผยระยะเวลา) ส่วนเป้าหมายของทีมในปีนี้คือเซ็นสัญญานักกีฬาทีม DOTA ให้ครบทุกตำแหน่ง รวมถึงเกม CSGO ให้ครบทุกตำแหน่งเช่นกัน

สองนักกีฬาที่ได้เซ็นสัญญารวมกันมูลค่ากว่าล้านบาท

มองไปทีละรายการ เน้นความยั่งยืนของทีม

“เรามองการแข่งขันทีละรายการ เพราะด้วยเราเป็นทีมเล็ก ทำให้กำลังในการดึงดูดนักกีฬาตัวเก่งๆ เข้ามาในทีมก็ยากกว่า ดังนั้นเพื่อความไม่กดดัน เวลาแข่งรายการเล็ก ก็อาจวางเป้าหมายแค่ติดท็อป แต่ถ้ารายการใหญ่คงแค่ผ่านรอบคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันก็แข่งมาประมาณหนึ่งแล้ว แต่ถือเป็นการทดลองทีมมากกว่า”

ส่วนเรื่องการลงทุนนั้น LYNX TH เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวในระยะเวลาเพียง 2 เดือน เนื่องจากแผนต่างๆ เช่นการคัดนักกีฬา และการเจรจากับพาร์ทเนอร์ในการเข้ามาสนับสนุนทีมทำได้เร็วกว่าที่กำหนด ยิ่งในปีที่ผ่านมามีความชัดเจนเรื่องการก่อตั้งสมาคม E-Sport ยิ่งทำให้โอกาสของธุรกิจนี้เปิดกว้าง และต้องรีบคว้าเอาไว้

เกมแนว MOBA ที่เป็นที่นิยมแข่งขัน // ภาพโดย Pablo029 (Own work) [CC BY-SA 4.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons
ขณะเดียวกันทางทีมยังมองเรื่องการสร้างงานให้กับนักกีฬา เพื่อให้พวกเขาสามารถไปทำงานในอาชีพอื่นๆ ได้หลังจากเลิกเป็นนักกีฬา เช่นรับตำแหน่งในการบริหารทีม ควบคู่ไปกับการแข่งขัน ในทางกลับกันการทำตลาดทีม E-Sport ที่เน้นการแข่งขันคนเดียวยังไม่น่าเป็นที่สนใจนัก เพราะการบริหารค่อนข้างเสี่ยงจนเกินไป

สรุป

การทำทีม E-Sport ในยุคนี้ถือเป็นอีกโอกาสสำคัญในการเข้าไปลงทุน เพราะแบรนด์สินค้าต่างๆ เริ่มให้ความสนใจในการแข่งขันเกมมากขึ้น ผ่านการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Millennial ได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเป็นธุรกิจ ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ ดังนั้นการบริหารอย่างถูกต้อง และทำให้มันเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ก็ยังจำเป็นอยู่ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา