15 ข้อคิดจากหนัง “Poisoned: The Dirty Truth About Your Food” เปิดแฟ้มคดีเหยื่อจากอาหารและพืชผักปนเปื้อน ถ้าคุณปล่อยให้การผูกขาดทางตลาดเติบโต คนที่เสี่ยงภัยก็คือประชาชน
หากคนทำธุรกิจอาหารหวังแต่จะกอบโกยรายได้และกำไร โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ความเสี่ยงภัยก็จะตกอยู่ที่ชะตาชีวิตผู้บริโภคหรือประชาชน
หนังสารคดีด้านอาหารที่ทนายของเหยื่อถึงกับเอ่ยปากว่า “เขาเคยคิดว่า การยึดเงินจำนวนมากๆ จากผู้ประกอบการที่ทำผิดต่อผู้บริโภคน่าจะทำให้พวกเขาเข็ดหลาบ และไม่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำซากอีก แต่ความจริงก็คือ ไม่ใช่เลย จนทุกวันนี้คนที่ทำผิดต่อประชาชน ไม่รับผิดชอบต่อสังคมในการทำธุรกิจยังคงเป็นเช่นนั้นเหมือนเดิม”..
แถมมีหลายคนล้มตายแลกกับชีวิตของนักธุรกิจที่สะเพร่า หวังแต่จะทำรายได้และสร้างกำไรแต่กลับได้รับโทษจากการคร่าชีวิตผู้คนที่น้อยนิด ทนายคนเดียวกันนี้ ก็ยังสู้เหมือนเดิมเหมือนในยุคที่เขาเริ่มต่อสู้ ปัจจุบันก็ยังต่อสู้อยู่
นี่คือหนังที่สะท้อนมุมมองประเด็น “Foodborne illness” หรือโรคภัยทางสุขภาพที่เกิดจากอาหารเป็นพิษ เรื่องนี้จะเข้ามาเปลี่ยนมุมมองด้านอาหารให้กับผู้คนอย่างถอนราก ถอนโคน และทำให้ผู้คนรู้จักป้องกันตัวจากอาหารที่เลือกทานมากขึ้น และนี่คือ 15 ข้อคิดที่ได้จากหนังเรื่องนี้
1.) หนังเล่าเรื่องผ่าน Bill Marler ทนายความด้านความปลอดภัยทางอาหารที่สู้เพื่อเหยื่อยาวนาน 30 ปี เมื่อเขาเดินเข้าห้างและสำรวจอาหารที่วางอยู่บนชั้นเพื่อจัดจำหน่าย เขาสามารถบอกได้เลยว่า อาหารประเภทไหนปนเปื้อนจนทำให้ผู้บริโภคทานเข้าไปแล้วเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต และอาหารเหล่านั้นอาจเป็นเหตุให้บริษัทถูกฟ้องได้
ไม่ว่าจะเป็นผักกาดโรเมน, คอส ผักยอดฮิตที่คนชอบทาน ผลไม้หั่นชิ้นพร้อมทาน, สตอร์วเบอร์รี่, แอปเปิล, มะเขือเทศ, หัวหอม, อาหารสำหรับทารกแรกคลอด, เนื้อสัตว์, ไข่ .. อาหารสารพัดอย่างสามารถปนเปื้อนได้ทั้งนั้น จนคุณต้องประหลาดใจและต้องตะโกนถามออกมาดังๆ ว่า เราสามารถทานอะไรได้บ้างเนี่ย!! มีอะไรปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคบ้าง?
2.) ใครบ้างที่สามารถเป็นเหยื่อจากประเด็นนี้ได้? จริงๆ แล้วก็คือทุกวัย ทุกผู้ ทุกคน แต่เด็กเล็กจะอันตรายมากเพราะเปราะบางกว่าวัยอื่นๆ
3.) เอกสารมหาศาลที่พยายามยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองนั้น ถ้ามันมีความจริงที่เป็นข้อบกพร่องซ่อนอยู่ อย่าคิดว่าฝั่งตรงข้ามจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ เมื่อคนมีความมุ่งมั่นมากพอที่จะตามหาความจริง ต่อให้มีเอกสารกองจนล้นตู้และเป็นไปได้ยากที่คนจะสนใจ ในความเป็นจริงก็คือ มันสามารถอ่านได้ สืบค้นต่อได้ โดยเฉพาะกับคนที่เอาจริง คนที่ต้องการปกป้องผู้อื่นและไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเลวร้ายซ้ำอีก
4.) ถ้าต้องการช่วยเหลือผู้คนในสังคมให้ปลอดภัยจริงๆ ต้องมีความอดทนมากพอที่จะตามหาความจริง แม้ว่าจะต้องใช้เวลาเนิ่นนาน แต่ถ้าในที่สุดแล้วปลายทางสามารถแก้ปัญหาได้ระยะยาว ก็เป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่า
5.) อาหารคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องกินอาหารเพื่อประทังความหิว ทำให้ร่างกายแข็งแรงจากสารอาหารนั้น ทำให้มีแรงพอจะทำงาน จะเรียน จะใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะด้านอาหาร มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม อย่าหวังแต่ผลกำไร กอบโกยรายได้ จนไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิตจากการกินอาหารเหล่านั้น อาหารสร้างชีวิตแต่ก็ทำลายชีวิตได้เหมือนกัน
6.) ความเจ็บปวดสามารถสรรค์สร้างและทำลายผู้คนได้ เมื่อผู้คนสามารถหันหลังให้ความเจ็บปวดได้เมื่อไร หรือทำความเข้าใจหรือทนอยู่กับความสูญเสียได้เมื่อไร ความเจ็บปวดจะเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้ผู้คนเหล่านั้นลุกขึ้นสู้และปกป้องไม่ให้คนอื่นที่เหลือในสังคมต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เหมือนที่พวกเขาเคยเผชิญ
7.) การเข้าใจกระบวนการได้มาซึ่งอาหาร หรือกรรมวิธีในการได้อาหารนั้นมา สำคัญมาก เพราะมันสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเชื้อโรคจะแทรกซึมมากับอาหารแต่ละประเภทได้อย่างไร เราจะป้องกันตัวเองอย่างไรได้บ้าง
8.) การให้ความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล เอกชน ผู้เคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องที่เกี่ยวข้อง สำคัญมาก รัฐจะเดินหน้าอย่างไรถ้าไม่ฟังเสียงสะท้อนจากสังคม การร่วมกันแก้ปัญหาต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อทำให้ประชาชนปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังและไม่เอารัดเอาเปรียบประชาชนเพียงเพื่อหวังกอบโกยแต่เพียงผลกำไรจากผลประกอบการเท่านั้น
9.) อย่าคิดว่าอาหารแปะป้ายออร์แกนิกส์แล้วจะการันตีว่าอาหารชนิดนั้นปลอดภัย 100% ขณะเดียวกัน เชื้อโรคไม่ได้แฝงมากับเนื้อสัตว์เท่านั้น พืชผัก หรือไข่ก็ได้รับผลกระทบได้มากพอๆ กัน
10.) การมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำอาหารอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรู้แหล่งที่มาของการผลิตอาหารเหล่านั้นด้วย ต้องดูข่าวประกอบ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อมีเรื่องใดเกี่ยวพันกับอาหารที่เราชอบทาน เราจะได้มีความรู้ปกป้องตัวเองจากอันตรายที่มาจากอาหารได้ เรื่องนี้ เห็นภาพได้ชัดเจน เมื่อนึกถึงช่วงโควิดที่มีการใช้มาตรการควบคุมไวรัสเข้มข้น เพราะเชื้อโรคข้ามพรมแดนได้
11.) การจดบันทึก โดยเฉพาะข้อมูลอาหารที่เราทาน ทั้งเนื้อสัตว์ น้ำดื่ม ผักสด และผลไม้เหล่านี้มีความสำคัญและจำเป็นต่อสุขภาพทั้งนั้น ควรจดบันทึกช่วงเวลาที่ทานอย่างละเอียด มันช่วยทำให้เราตรวจสอบสาเหตุของโรคย้อนหลังได้ ถ้าเป็นไปได้ ควรจดบันทึกทันทีหลังทานอาหาร เพื่อจะได้ไม่ลืม
ย้ำว่า ควรจดว่าทานอะไรไปบ้าง ทานช่วงเวลาไหน ร้านอะไร เหล่านี้ล้วนเป็นประวัติบันทึกสำคัญที่อาจช่วยชีวิตตัวเองและคนอื่นๆ ได้
12.) กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิมากพอที่จะปกป้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง ถ้ามีใครสักคนตั้งใจกระทำผิดจนคร่าชีวิตผู้อื่นจากความโลภและความประมาท ไม่ใส่ใจความปลอดภัยในชีวิตของผู้อื่น ผู้คนเหล่านั้นต้องได้รับโทษทัณฑ์มากพอที่จะชดใช้ความสูญเสียต่อผู้อื่นได้
แน่นอน คนที่พยายามต่อสู้เพื่อค้นหาความจริง ก็ต้องพยายามมากพอที่จะสละเวลาและทุ่มเทอย่างเต็มที่ด้วย หลายต่อหลายครั้ง เราจะเห็นเจ้าหน้าที่รัฐตอบคำถามสื่อแบบเห็นช่องโหว่ของปัญหาอยู่ทนโท่ แต่ก็ดันไม่มีใครพยายามจะออกกฎหมายให้ครอบคลุมหรือป้องกันปัญหาได้ ถ้าไม่มุ่งมั่น ยืนหยัดในการแก้ปัญหา ความยุติธรรมก็ไม่มีทางเกิดขึ้น
13.) ธุรกิจใดก็ตาม ยิ่งมีคู่แข่งในตลาดน้อยรายเท่าไร ยิ่งสะท้อนความผูกขาดทางตลาดมากเท่านั้น นั่นหมายความว่า ชีวิตประชาชนก็แขวนอยู่บนรายได้และผลกำไรของคนทำอุตสาหกรรมที่มีตัวเลือกในตลาดน้อยเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
สิ่งสำคัญก็คือ ถ้าเราต้องพึ่งพาอาหารจากที่ใดก็ตาม เราจำเป็นต้องรู้ว่าแหล่งผลิตหลักคือใคร เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มทางเลือกความปลอดภัยให้ชีวิต อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เราต้องดูให้ชัดว่าข้อมูลการผลิตอาหารที่ดูหลากหลายแบรนด์ แต่จริงๆ แล้วมาจากแหล่งผลิตเดียวกันหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งมีโอกาสผูกขาดตลาดมากเท่าไร ก็สามารถแตกแบรนด์แยกย่อยได้มากเท่านั้น แม้จะดูว่ามีหลายแบรนด์ แต่จริงๆ แล้ว ก็คือแบรนด์ย่อยที่แยกออกมาจากธุรกิจรายใหญ่แห่งหนึ่งหรือสองแห่งเท่านั้น เป็นต้น
14.) ธุรกิจที่มีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้คนตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีข้อดีที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ ขณะที่องค์กรมั่นใจว่าเราทำถูกต้อง ปลอดภัย 100% แล้ว ในความเป็นจริงอาจมีข้อบกพร่องแฝงอยู่ การเปิดกว้างให้คนพิสูจน์ ช่วยปิดช่องโหว่ที่เรามองไม่เห็น ขณะเดียวกันก็ทำให้เราสามารถพัฒนาจุดด้อยให้ดีขึ้นได้
15.) โรคระบาดระดับโลกอย่างโควิด-19 ช่วยทำให้เราเข้าใจเรื่องปนเปื้อน ติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากหนังเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นมาก ถ้ายังไม่เคยผ่านโควิดระบาดมาก่อน เราอาจไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจว่า เชื้อโรคส่งต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งง่ายๆ ผ่านพื้นผิววัสดุได้อย่างไร และคงไม่เข้าใจเท่าไรเกี่ยวกับการคงอยู่ของเชื้อโรคบนพื้นผิววัสดุที่ค้างเติ่ง คงที่เช่นนั้นเป็นเวลายาวนาน และยังแพร่เชื้อต่อได้อีกหลายทอด
ยิ่งอายุน้อยหรือแม้แต่อายุมากแล้วแต่ไม่เคยตรวจสุขภาพ ไม่เคยพบเห็นคนใกล้ชิดหรือคนที่แวดล้อมตัวเองต้องบาดเจ็บล้มป่วยจากอาหาร ก็จะไม่มีทางเข้าใจคนที่ช่างเลือกในการทานอาหารได้เลย ขณะเดียวกัน ก็จะไม่มีทางเห็นภาพหรือเข้าใจได้ว่า คนที่ป่วยจากอาหารนั้นมีอยู่มหาศาล
เรื่องอาหารนี้สร้างโรคภัยได้ทั้งที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังทานอาหารและเกิดขึ้นแบบสะสมผลระยะยาว รู้ตัวอีกทีก็ป่วยหนัก ซึ่งก็มีทั้งเกินจะเยียวยารักษาแล้ว และยังสามารถรักษาได้อยู่ แต่ใช้เวลานาน ไปจนถึงได้แต่ประคองอาการ ไม่มีทางหาย เป็นต้น
เรื่องอาหารเป็นพิษต่อร่างกายนั้น ต้องบอกว่า ไม่เจอกับตัวเองคงไม่รู้สึก เรื่องนี้ประสบการณ์สำคัญมาก แม้แต่คนที่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือเป็นนักกีฬาก็ยังไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการด้านอาหารประมาทในการส่งต่ออาหารไม่ปลอดภัยสู่ผู้อื่น คนที่แข็งแรงที่สุดก็สามารถล้มป่วยได้
ข้อมูลจาก CDC ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในทุกๆ ปี มีประชาชนล้มป่วยราว 48 ล้านคนจากภาวะอาหารเป็นพิษ ในจำนวนนี้ป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล 128,000 คน และเสียชีวิตราว 3,000 คน
อ้างอิง
Department of Health, CDC, [Netflix] Poisoned: The Dirty Truth About Your Food
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา