ข้อคิดจากหนังเรื่อง Mask Girl หนังที่สะท้อนสังคมที่มักจะยึดติดกับภาพลักษณ์มากซะจนในที่สุดก็ทำลายฝันของเด็กคนหนึ่งจนสูญสิ้น
หนังสะท้อนมุมเหงาของเด็กที่หัวใจแตกสลายและกลายเป็นปมจนโต
ก่อนอื่นต้องปรบมือให้กับการคัดเลือกตัวแสดงแต่ละช่วงวัยไปจนถึงบุคลิกลักษณะของตัวละครที่เหมือนกับหลุดออกมาจาก Webtoon จริงๆ เหมือนมาก บวกกับการเล่าเรื่องสไตล์เกาหลีที่มีอารมณ์ครบรส เดินเรื่องไว และหดหู่ได้ขั้นสุด
เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนแค่ผลลัพธ์จากการที่ผู้คนถูกบูลลี่หรือถูกกระทำให้เจ็บปวดซ้ำๆ จนโต แต่ยังสะท้อนความคาดหวังของสังคม บรรทัดฐานเรื่องภาพลักษณ์ และยังมีมิติสังคมในที่ทำงาน ไปจนถึงสังคมโซเชียลมีเดีย นี่มันหนังสะท้อนความเหงาของผู้คนในโลกที่เสียงดังรอบทิศทางโดยแท้! และนี่คือข้อคิดที่ได้จากหนังเรื่องนี้
(1.) อย่าปล่อยให้ความฝันถูกทำลาย ถ้าฝันนั้นไม่ได้ทำร้ายใคร จงหาทางทำฝันให้เป็นจริง แม้ฝันนั้นจะมีอุปสรรคอยู่มาก แต่ความเสียใจของผู้คนมักเกิดจากการเสียดายที่ไม่ยอมลงมือทำตามฝัน มากกว่าจะเสียใจจากการลงมือทำไปแล้ว
(2.) ถ้าขาดความมั่นใจเรื่องไหน พยายามค่อยๆ ฝึกฝน ค่อยๆ เพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองทีละนิด ทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน จนเกิดความมั่นใจด้วยตัวเอง อย่าปล่อยให้คนอื่นมาคอยรับรองตัวเองจนเกิดความมั่นใจ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า คนที่รับรองจนทำให้เราเกิดความมั่นใจ ไม่ได้มีเป้าหมายแอบแฝงต่อการปฏิสัมพันธ์กับเรา
(3.) ถ้าอยากรู้จักโลกที่ลูกอยู่และเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น รวมถึงมองเห็นปัญหาที่ลูกพบเจอ จำเป็นต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ลูกทำและสิ่งที่ลูกเป็น สิ่งที่ลูกคลุกคลีอยู่
(4.) บาดแผลในชีวิตของใครหลายๆ คน บางทีก็เริ่มต้นมาจากครอบครัว
(5.) เมื่อทำลายชีวิตใครไปแล้วจนทำให้เกิดบาดแผลชีวิตคนคนนั้นไปแล้ว แค่ทำดีชดใช้อาจยังไม่มากพอ แต่ต้องระวัง (ตัว) ให้ดี เพราะขณะที่คุณเฝ้าเพียรทำดีเพื่อชดเชย ชดใช้ เขาอาจแค่รอจังหวะเอาคืนคุณ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่
ง
(6.) ครุ่นคิดและพิจารณาให้ดีเวลายื่นมือให้ความช่วยเหลือใคร บางทีผู้รับก็แค่ต้องการรับประโยชน์จากคุณตลอดไป ยิ่งนานวันก็กลายเป็นว่าคุณต้องให้เขามากยิ่งขึ้นไปอีก ราวกับเป็นหนี้ที่ต้องคอยชดใช้ แต่จริงๆ แล้วเขาอาจเป็นแค่คนเห็นแก่ตัวคนหนึ่ง คุณไม่ผิดถ้าจะเหนื่อยกับคำว่าให้และจงเรียนรู้ที่จะให้อย่างพอดี แล้วหันกลับมาดูแลตัวเองบ้าง
(7.) เพื่อนที่จริงใจ ปกป้องกัน ช่วยเหลือกันเมื่อยามลำบาก ไม่ทำร้ายกันลับหลัง ไม่ทำร้ายกันเพื่อเอาตัวรอด มีจำนวนน้อยๆ หรือมีแค่เพียงคนเดียวในชีวิตก็เพียงพอแล้ว แต่อาจจะต้องตามหาทั้งชีวิต เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบเจอคนจริงใจและไม่นึกถึงแต่ตัวเองเช่นนั้น
(8.) เกลียดผู้ใหญ่แบบใด โตไป อย่าเป็นแบบนั้น
(9.) การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งของเรา อาจกระทบต่อผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ จงระวังการกระทำของตัวเองให้ดี จงหลีกเลี่ยงที่จะไปสร้างประสบการณ์เลวร้ายในชีวิตคนอื่น
(10.) ชีวิตในโรงเรียนถ้าไม่ดีไปเลย ก็กลางๆ หรือไม่ก็อาจทำให้เด็กนักเรียนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่โหดร้าย เมื่อมีหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ควรถามไถ่ เอาใจใส่เด็ก เพื่อสำรวจหาความผิดปกติ หากเขาถูกรังแก ถูกกลั่นแกล้งจะได้หาทางแก้ไขหรือป้องกันได้
(11.) อย่าแก้ปัญหาด้วยการทำผิดหรือสร้างปมปัญหาเพิ่ม จงหาทางแก้ปัญหาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ
(12.) การมอบความจริงใจให้ใคร อย่าคิดว่าจะได้รับความจริงใจตอบกลับเสมอไป เรื่องนี้ค่อนข้างโหดร้ายโดยเฉพาะการสะท้อนมิติความสัมพันธ์ จงเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจตัวเองให้มาก อย่าหวังว่าการทำดีต่อผู้อื่นจะได้รับการสะท้อนกลับด้วยความดีเช่นกัน จงเป็นเพื่อนแท้กับตัวเองให้ได้ จะได้ไม่คาดหวังในตัวผู้อื่น มากไป ขณะเดียวกัน จงเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวให้เป็น จะได้ไม่เหงา!
- คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้มองประเทศตัวเองเหมือนนรก อยากย้ายออกจากประเทศมากถึง 75%
- Hell Joseon หรือ นรกโชซอน คำติดปากที่คนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ใช้เรียกประเทศตัวเอง
อ้างอิง Netflix: Mask Girl, Webtoon
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา