Low Rate, Low Growth แล้วไปลงทุนอะไรดี | BI Opinion

คอลัมน์ Wealth Insight

เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มหันมาดำเนินนโยบายผ่อนคลายด้วยการลดดอกเบี้ยจนดอกเบี้ยในตลาดต่ำมาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเติบโตของยอดขายและกำไรกระเตื้องได้สักเท่าไหร่ แต่เหมือนเป็นการช่วยชะลอไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวเสียมากกว่า การเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัทส่วนใหญ่ก็เลยมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำ

สภาวะตลาดในช่วงนี้สำหรับพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯให้ผลตอบแทน 1.9% แต่ช่วงที่ผ่านมาเคยให้ผลตอบแทนต่ำกว่า 1.5% ซึ่งถือว่าต่ำมาก หากลบกับเงินเฟ้อแล้วจะเหลือดอกเบี้ยที่แท้จริงเพียงนิดเดียว ข้ามมาที่ประเทศเยอรมนี พันธบัตรเยอรมนีอายุ 10 ปีให้ผลตอบแทนที่ติดลบมาพักใหญ่แล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ราว -0.4% พันธบัตรของญี่ปุ่นอายุ 10 ปีก็ให้ผลตอบแทนที่ติดลบเช่นกัน -0.15% ประเทศเหล่านี้คือประเทศพัฒนาแล้วและเป็นผู้นำของเศรษฐกิจโลก มาดูที่ประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่แข็งแรงกันบ้าง พันธบัตรอิตาลีอายุ 10 ปีให้ผลตอบแทนเพียง 0.8% ประเทศที่เคยมีปัญหาทางเศรษฐกิจจนเกือบจะโดนไล่ออกจาก EU อย่าง Greece ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีก็ต่ำเพียง 1.57% เท่านั้น

ในฐานะนักลงทุนหากเราอยู่ในยุค Low Rate – Low Growth แล้ว เราควรจะมีการปรับพอร์ตโฟลิโอการลงทุนอย่างไรดี?

ภาพจาก Shutterstock

ในทางทฤษฎีรวมไปถึงการปฏิบัติด้วย นักลงทุนอาจจะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมาเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มากขึ้นโดยไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีอายุหุ้นกู้ยาวหน่อยและมีเครดิตเรทติ้งในระดับลงทุนได้ ที่เรียกกันว่า Investment Grade อัตราผลตอบแทนประมาณ 3.4% หรืออาจจะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมาอีก ไปลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งที่ต่ำกว่าระดับลงทุนได้ (High Yield Bond) ที่ปัจจุบันให้อัตราผลตอบแทน 6.0% แต่แน่นอนว่าความเสี่ยงก็สูงขึ้นเป็นเงาตามผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาเช่นกัน

การเกิดขึ้นของ Inverted Yield Curve ทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเกิดการถดถอย ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง หุ้นกู้แบบ High Yield จะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเทขาย หรือแย่กว่านั้นคือบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้ และถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นจริงๆ มันจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมา นักลงทุนจะกลัวหุ้นกู้แบบ High Yield บริษัทที่ฐานะทางการเงินแข็งแรงจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมยากเพราะนักลงทุนกลัวไปแล้ว พอไม่มีเงินกู้สำหรับทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัท ธุรกิจก็อาจจะสะดุดและทำให้เศรษฐกิจหดตัวกันเข้าไปใหญ่

ภาพจาก Shutterstock

จากทางเลือกที่มี เลยยังทำให้พันธบัตรที่มีอายุยาวได้รับความนิยมจากนักลงทุนสูง ถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำ แต่มันก็ให้ความปลอดภัยสูง และมีความเป็นไปได้ที่ FED อาจจะลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ ก็ยิ่งทำให้มีกระแสเงินไหลเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จนทำให้เกิด IYC ขึ้นมา ปัจจุบัน ราคาของพันธบัตร 10 ปีได้รวมการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยลงไปพอสมควรแล้ว ราคาปัจจุบันถือว่าค่อนข้างแพง ถ้าการลดดอกเบี้ยสามารถช่วยให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆดีขึ้น ราคาของพันธบัตรอาจจะปรับตัวลดลงได้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรตระหนักไว้เช่นกัน

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้กองทุนประเภทสร้างรายได้สม่ำเสมอ หรือ Income Fund หันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน หรือ MBS กันมากขึ้น ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่อยู่ในช่วงระหว่าง 3 – 5%

ภาพจาก Shutterstock

นอกจาก MBS แล้ว ปัจจุบันผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 2.1% อยู่ในระดับที่สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีของสหรัฐที่อยู่ 1.96%  ดังนั้น ทางเลือกในการลงทุนในหุ้นที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจต่ำ ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และมีงบดุลที่แข็งแกร่ง (หนี้น้อย) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเช่นกัน ซึ่งหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าวคือหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมอย่างสาธารณูปโภคผู้ให้บริการไฟฟ้าและประปา ผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์มือถือ หุ้นเหล่านี้จะมีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจต่ำและให้เงินปันผลที่ค่อนข้างน่าพอใจ

การลงทุนใน REITs ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากเช่นกัน อิงกับเรื่องภายในประเทศเป็นหลัก รายได้มีความผันผวนต่ำมาก เงินปันผลก็น่าพอใจ  REITs ในประเทศอย่างอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ให้ผลตอบแทนเงินปันผลในระดับมากกว่า 3% สำหรับ REITs ไทย ยังให้ผลตอบแทนในระดับมากกว่า 4% ซึ่งถือว่าดีมากกับภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้

ภาพจาก Shutterstock

สุดท้าย ทองคำ อาจจะเป็นสินทรัพย์ที่ดูแตกต่างจากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้มีกระแสเงินสดอะไรออกมาให้เห็น ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ พันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนติดลบมีอยู่ในปริมาณอันมหาศาล การลงทุนในทองคำก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากทองคำมีมูลค่าในตัวมันเอง และเป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารสามารถซื้อเข้ามาเก็บเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้ ในแง่ของนักลงทุนรายย่อย การลงทุนในทองคำสามารถช่วยทั้งในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตโฟลิโอ

แน่นอนว่าการลงทุนของนักลงทุนต้องมีการทำ Asset allocation ผ่านสินทรัพย์ต่างๆ ที่หลากหลายทั้งตามวัตถุประสงค์การลงทุนและระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ การปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนรวมโดยเพิ่มสินทรัพย์ต่างๆเข้าไปอย่างหุ้นกู้บริษัทเอกชนทั้งแบบ IG หรือ HY ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน หุ้นที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจต่ำ REITs รวมไปถึงทองคำ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนขึ้น อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรต้องคำนึงถึงการทำ Asset allocation ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามความสามารถที่รับความเสี่ยงได้ หากการเพิ่มสินทรัพย์ที่แนะนำเข้าไปแล้วทำให้ความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนมากเกินรับได้ก็ควรหลีกเลี่ยง และควรตรวจสอบพอร์ตการลงทุนอยู่เสมอๆ ว่าสัดส่วนสินทรัพย์ที่ลงทุนยังอยู่ในกรอบแผนการลงทุนที่ตั้งไว้หรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา