เปิดมุมมองภาคเอกชนฝ่าสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว

“กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” คงเป็นนิยามที่เหมาะสมของภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ผลัดกันแสดงอาการรุนแรงยิ่งขึ้น อาทิ สงครามการค้า การเมืองระหว่างประเทศ ค่าเงินผันผวน เศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดการลงทุนผันผวน ฯลฯ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แม้ภาครัฐจะทยอยออกนโยบายทางการเงิน การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มาอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะที่สัมผัสได้ว่า “ชะลอตัว” 

นอกจากนี้คาดว่าเรายังต้องอยู่กับปัจจัยลบและความไม่แน่นอนไปอีกระยะหนึ่ง คำถามที่สำคัญคือเศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านความไม่แม่นอนนี้ไปได้หรือไม่ ?

“เป็นเรื่องยากที่เราจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นด้านบวกได้ แต่สิ่งที่อยากเห็นมากขึ้นจากรัฐบาลคือการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้มากขึ้น” ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) แชร์มุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนของของประเทศในฐานะนักลงทุนต่างชาติ

เรื่องที่เป็นความกังวลของคนทั้งโลกขณะนี้คือ “สงครามการค้า” ในมุมของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ มองว่าสงครามการค้ายังคงอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 ปี และเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการพยายามสร้างเศรษฐกิจให้โตในประเทศ ด้วยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภคที่ทางรัฐบาลได้ดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือเรื่องการส่งออกที่ติดลบอย่างน้อย 2-3% ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยในตอนนี้ ยังไม่เห็นนโยบายชัดเจนที่จะเข้ามาแก้ปัญหา เข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่ทางรัฐบาลไทยหรือผู้ประกอบการไทยจะต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทั้งโลก การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน น่าจะเป็นทางออกที่จะบรรเทาปัญหาได้ดีที่สุด 

“การลงทุนภาครัฐเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่การลงทุนภาครัฐอย่างเดียวถือว่าเป็นส่วนน้อยของจีดีพีทั้งประเทศเรายังต้องการการเดินหน้าของการลงทุนทางฝั่งเอกชนด้วย” 

ที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐในการแก้ปัญหาเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีนโยบายปรับลดดอกเบี้ยที่คาดว่าจะต่ำลงไปอีกนาน แต่ก็ยังไม่เห็นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ที่จะใช้ประโยชน์จากการที่ดอกเบี้ยต่ำมาลงทุน  สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่าการลงทุนในประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็น ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นปัญหามากขึ้นในไทย

“เรากำลังอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ข้างนอกประเทศ สิ่งดีที่สุดที่เราจะทำได้เราต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน และธนาคารพาณิชย์ ให้ประเทศเดินต่อไปได้ เช่น รัฐบาลไทยต้องสร้างเสถียรภาพทางการเมือง  ผลักดันนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตมาไทย ภาคเอกชนก็ต้องยกระดับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทางธนาคารพาณิชย์ก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคมากที่สุด” 

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน สมิทธ์ พนมยงค์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า “ดอกเบี้ยขาลงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน”

โอกาสที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจยังมีความเป็นไปได้สูง ผู้ประกอบการที่มองว่าสงครามการค้าจะเกิดขึ้นระยะยาว ก็จะย้ายฐานการผลิต หรือหยุดการสั่งซื้อ ชะลอการใช้เงิน ชะลอการลงทุน แต่ในทุกวิกฤติ   ก็ยังมีโอกาส เช่น ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ

ส่วนในด้านการลงทุนบริษัทยังคงมีการลงทุนอยู่ต่อเนื่อง มีโครงการเรื่อยๆ หากเราชะล่าใจไม่ปรับตัว กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็อาจจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หากมองในมุมค่าเงิน โดยดูจากประเทศเพื่อนบ้าน เกาหลี มาเลเซีย อินโด อินเดีย ทุกค่าเงินอ่อนตามหยวนไปหมด แต่ค่าเงินไทยเรายังแข็งอยู่ ทำให้สินค้าประเทศไทยราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง 

อย่างไรก็ตามในมุมของผู้ประกอบการมองว่า การดำเนินนโยบายโดยรอให้ตัวเลขมันไม่ดีก่อน แล้วค่อยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นั้น อาจจะแก้ปัญหาได้ไม่ทันการ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมองภาพให้ออก ปรับตัวให้ถูกและมองหาโอกาสในการลงทุน นโยบายของรัฐการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจับจ่ายในประเทศ ก็จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในการตัดสินใจลงทุนเพิ่มในระยะยาว

“ในฐานะของตัวแทนภาคเอกชนก็อยากจะเชิญชวนทุกคนพยายามหาโอกาสในการลงทุน ในยุคที่มีประชากรมีอายุยืนขึ้น พอมรดกตกมาถึงรุ่นลูก ก็ไม่มองหาการลงทุนแล้ว จึงอยากให้ทุกคนทำตัวให้หนุ่มสาวอยู่เสมอ มองหาการลงทุนตลอด เราควรจะต้องทำอะไรให้เราอยู่รอดได้ ยกตัวอย่าง เช่น การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนของหลายผู้ประกอบการ ประเทศที่เค้าย้ายไปก็จะได้รับอานิสงส์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค หันมานิยมสินค้า สุขภาพ  กีฬา สั่งอาหารทางอนไลน์ ก็ยังคงมีหลายธุรกิจที่ยังคงเติบโต อยู่ที่เราจะหามุมมอง ถ้าเรายังคงลงทุนอยู่ก็จะช่วยเศรษฐกิจตรงนี้ด้วย”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา