เข้าตลาดหลักทรัพย์แบบ Direct Listing | BI Opinion

ปกติเรามักได้ยินว่า ธุรกิจเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วมักจะสนใจการ “นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์” เป็นทางเลือกของการระดมทุนเพื่อไปขยายกิจการและได้ประโยชน์จากการที่หุ้นของกิจการจะสามารถมีตลาดกลางที่เปลี่ยนมือซื้อขายกันได้โดยมีสภาพคล่องซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็นของกิจการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วย

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ว่านั้นปกติจะมีขั้นตอนหลักๆ สองส่วนด้วยกัน ขั้นตอนแรกจะเป็นกระบวนการเสนอขายหลักทรัพย์เพื่อเป็นการระดมทุนจากผู้ลงทุน หรือเรียกกันว่า “ตลาดแรก” เพราะเป็นการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกผ่านกระบวนการจองซื้อผ่านสถาบันการเงิน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้เสนอขายหลักทรัพย์นั้นๆ และขั้นตอนที่สอง คือการนำหุ้นที่ระดมทุนได้แล้วนั้นไปจดทะเบียนให้ซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเรียกกันว่า “ตลาดรอง” เพราะเป็นตลาดของการซื้อขายเปลี่ยนมือกันภายหลังตลาดแรก

ภาพจาก Shutterstock

แต่หลายๆ ท่านที่ติดตามข่าวตลาดทุนทางฟากอเมริกาอาจได้ยินวิธีการเข้าตลาดแบบใหม่ที่เรียกว่า Direct Listing ที่บริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพใหญ่ๆ ของโลกได้เริ่มทำกันโดยบริษัทแรก คือ Spotify Technology S.A. ที่เป็นผู้พัฒนาแอปฯ ฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง Spotify ที่เราคุ้นหูใช้งานกันอยู่เนี่ยแหละครับที่ได้เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กในปี 2018  ด้วยวิธีดังกล่าว และล่าสุดอีกบริษัทที่ได้เข้าตลาดไปแบบนี้ คือ Slack Technologies, Inc. ผู้พัฒนาแอปฯ Slack ใช้ส่งข้อความพูดคุยทำงานร่วมกันในองค์กร ซึ่งได้ใช้วิธีดังกล่าวเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กในกลางปี 2019 นี้เอง แล้ววิธีการเอาหุ้นเข้าตลาดแบบ Direct Listing นี้คืออะไรล่ะ

การเอาหุ้นเข้าตลาดแบบ Direct Listing ก็คือการนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีการเสนอขายหุ้นใหม่ เพื่อการระดมทุนจากบุคคลทั่วไปผ่านผู้รับประกันการจำหน่ายหรือตัวแทนเสนอขายหุ้น คือ ไม่มีการทำ Initial Public Offering หรือ IPO ที่เราคุ้นหูกัน แต่จะเป็นนำหุ้นเดิมให้เข้าทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์จึงเรียกได้ว่าเป็นการทำ Public Listing เฉยๆ ดังนั้น เมื่อหุ้นนั้นๆ ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว คนที่มีหุ้นจะได้ขายก็คือผู้ถือหุ้นเดิมของกิจการนั้นๆ ส่วนผู้ซื้อก็จะเป็นใครก็ได้ที่เป็นผู้ลงทุนทั่วไปที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นในตลาดฯ และประสงค์จะเข้ามาถือหุ้นนั้นๆ ซึ่งเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการซื้อขายได้แล้วก็จะมีคำสั่งซื้อขายทั้งสองฝ่ายมะรุมมะตุ้มกันเอาเองเพื่อจะหาจุดสมดุลว่าราคาที่เหมาะสมจะเป็นอย่างไร ดังนั้นราคาจึงถูกกำหนดเองโดยหลักอุปสงค์อุปทานอย่างแท้จริง

ภาพจาก Shutterstock

ดังนั้น วิธีการเข้าตลาดแบบนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่ไม่ต้องการระดมทุนเพิ่มเติมเพราะการขายหุ้นแบบนี้ถ้าจะไปใช้เพื่อการระดมทุนอาจจะลำบากหน่อยเพราะมีความไม่แน่นอนสูงในขณะที่กิจการอาจต้องการระดมเงินทุนที่แน่นอนไปใช้ขยายกิจการ นอกจากนี้วิธีนี้ยังอาจเหมาะกับบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีความน่าเชื่อถือมากพอควรเพราะไม่เช่นนั้นผู้ลงทุนในตลาดหุ้นที่ไม่รู้จักอาจจะไม่สนใจเข้ามาซื้อขายหุ้นก็ได้  และอาจเหมาะกับบริษัทที่อาจเคยมีการระดมทุนจาก Venture Capital หรือผู้ร่วมทุนอื่นๆ ที่ได้ถือหุ้นกันนอกตลาดมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วที่ต้องการตลาดรองในการขายเงินลงทุนผ่านช่องทางตลาดหุ้นเมื่อบริษัทที่ลงทุนมีความพร้อมเป็นบริษัทมหาชนแล้ว ผู้ลงทุนเองก็ควรต้องพอมีความรู้ที่จะประเมินว่าราคาเหมาะสมของหุ้นควรเป็นเท่าไร ดังนั้นวิธีการเข้าตลาดหุ้นแบบนี้จึงอาจไม่ได้เหมาะกับธุรกิจส่วนใหญ่ที่ต้องการเข้าตลาดหุ้นเพื่อการระดมทุนและไม่ได้มีลักษณะเฉพาะดังกล่าว

ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ในบ้านเรายังไม่ได้เปิดอนุญาตสำหรับบริษัทที่อยากนำหุ้นเข้ามาจดทะเบียนให้ซื้อขายได้เฉยๆ แบบ Direct Listing นะครับ เพราะเรายังมุ่งให้การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องของการระดมทุนมากกว่าการสร้างสภาพคล่องการซื้อขายแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีการจะอนุญาตให้ใช้วิธี Direct Listing ได้กับหลักทรัพย์ในบางประเภท เช่น กองทุนรวม ETF ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ (Derivative Warrants) และตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา