ทำไมธนาคารออกบัตรฟรีค่าธรรมเนียม ? | BI Opinion

สงครามแบงก์หั่นค่าธรรมเนียมทำ “กำไร” หด แต่ปีนี้เปิดยังศึกใหม่

ต้นปี 2561 ธนาคารแห่กันลดค่าธรรมเนียม (Fee) การโอนเงิน เติมเงิน จ่ายบิล ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทลายกำแพงการโอนเงินข้ามแบงก์ ข้ามสาขา แน่นอนผลกระทบใหญ่มาโผล่ในปีนี้คือ “กำไร” ของแบงก์พาณิชย์ลดลงหลายพันล้านบาท (ส่วนที่ลดลงคือรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย) 

แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือยอดธุรกรรมการโอนเงินในช่องทางที่ฟรีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมีนัยสำคัญ ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตและมือถือ 451 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 67.26% จาก Q1/2018

แม้ว่าธนาคารจะไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นในทันที แต่พอคนหันมาใช้มือถือโอนเงินมากขึ้น ธนาคารรู้จักลูกค้าว่าโอนเงินไปไหน ให้ใคร จ่ายบิลอะไรบ้าง และมีข้อมูลเพื่อจะขายของ Cross-selling อย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ บัตรเครดิต เงินฝาก ฯลฯ ผ่าน Mobile Banking ได้ด้วย

แต่โจทย์ยากของแบงก์คือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้แบงก์เขาเป็นหลัก นอกจากเป็นทางผ่านในการโอนเงิน ดังนั้นต้องเพิ่มบริการไปอีก เพิ่มโปรโมชั่นเพื่อทำให้ลูกค้าเดิมใช้มากขึ้น และชวนให้ลูกค้าใหม่จากแบงก์อื่นกลายเป็นลูกค้าประจำมาใช้ชีวิตบน Platform ของแบงก์ให้ได้

นำสู่ Solution การจ่ายเงินรูปแบบใหม่ เช่น QRcode ขณะเดียวกันหันมาฟรีค่าธรรมเนียมการใช้ “บัตร” อย่างบัตรเครดิต บัตรเดบิต (ATM) บัตรเติมเงิน (PrePaid card) เพราะคนไทยคุ้นเคยมาก ปัจจุบันมีอยู่กว่า 70 ล้านใบ

ศึกใหม่! แบงก์ชิงตลาดบัตรรูดต่างประเทศ ปัญหาใหญ่ระบบไม่เสถียร

ช่วงนี้เห็นแบงก์แข่งกันทำ Rate แลกเงินต่างประเทศให้ใกล้เคียงกับร้านแลกเงิน และ “ฟรี” ค่าธรรมเนียมอัตราแลกเปลี่ยนที่เดิมคิดอยู่ 2.5% ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยออกไปเที่ยวนอกเยอะขึ้นปี 2562 นี้น่าจะเกินสิบล้านคน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะใช้เงินรวม 385,000 – 390,690 ล้านบาท ไม่ว่าแบงก์ไหนๆ ก็สนใจตลาดนี้ 

อย่าง บัตรเดบิต TMB All Free บัตรเครดิต TMB Absolute Visa Signature ล่าสุดมีบัตร PlanetSCB ซึ่งเหมือนกับ Krungthai Travel Card ที่ให้ลูกค้าแลกเงินต่างประเทศ สำหรับใช้จ่ายในต่างประเทศ ช้อปปิ้ง ฯลฯ ผ่านแอพฯ ธนาคารบนมือถือได้เลย จุดเด่นคือ ฟรีค่าธรรมเนียมการรูดใช้ในต่างประเทศ จากปกติที่คิดอยู่ 2.5% และเรทอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ถูกกว่าแลกหน้าเคาน์เตอร์แบงก์

แต่ปัญหาใหญ่ที่ลูกค้าเจอมา เช่น Krungthai Travel Card เมื่อระบบ Mobile Banking ของธนาคารล่มก็ไม่สามารถใช้ได้ (มีช่วงหนึ่งที่ธนาคารกรุงไทยระบบล่มบ่อยๆ) หรือ การตัดยอดเงินซ้ำซ้อน ส่วน TMB Absolute Visa Signature ปัญหาการอนุมัติช้า (บางราย 40 วันขึ้นไป) เงื่อนไขคะแนนค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญทั้ง 2 บัตรไม่สามารถรูดใช้งานได้บางร้านค้า ในบางประเทศเช่น ในสหรัฐ (จากกรณีที่เกิดขึ้นจริงกับคนรอบตัวผู้เขียน)

ส่วนเรื่อง Rate อัตราแลกเปลี่ยนถูกหรือไม่ บัตรทุกใบยังต้องอ้างอิง Rate จากธนาคาร (KTB, TMB) หรือ Visa ซึ่งลูกค้าอย่างเราควรเช็คก่อนใช้ถ้าอยากได้ Rate ที่ถูกจริงๆ

Photo : Shutterstock

ที่ผ่านมาฟรีค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเดบิต-เครดิต แบงก์ได้อะไร?

การลดหรือฟรีค่าธรรมเนียม “บัตร” ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น บัตรเครดิตมักฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า-ค่าธรรมเนียมรายปี (บางแบงก์ให้ฟรีเมื่อใช้จ่ายถึงวงเงินที่กำหนดไว้) ที่บัตรเครดิตฟรีค่าธรรมเนียม มีโปรโมชั่นได้ เพราะเขานำต้นทุนไปถัวเฉลี่ยส่วนอื่น เช่น ดอกเบี้ยบัตร ส่วนร้านค้า ฯลฯ ถือว่าต้องทำให้ครอบวงจรการใช้งานที่ง่ายขึ้นสำหรับลูกค้า ฝั่งธนาคารก็ได้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่สูงขึ้น หรือนำลูกค้าเปิดบัญชีของธนาคาร อย่างกรุงศรีคอนซูมเมอร์ สามารถเพิ่มลูกค้าให้เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ค่อนข้างมาก

ส่วน บัตรเดบิต ตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็นชิบการ์ด ค่าธรรมเนียมมักเริ่มต้นที่ 250 บาท ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าที่ได้ฟรีอยู่เสมอ คือ ลูกค้ากลุ่มเวลธ์ (Wealth) ที่มีเงินล้านฝากอยู่กับธนาคาร (AUM) เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยอดการใช้จ่ายค่อนข้างสูง หรือมีการลงทุนกับธนาคารอยู่แล้ว ธนาคารได้ความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น Cross-selling อย่างอื่นได้มากขึ้น

แต่ก็มีบัตรเดบิต TMB All Free ของธนาคารทหารไทย (TMB) ที่ฟรีค่าธรรมเนียมเพียบ เช่น ทำบัตรหายก็ออกบัตรใหม่ได้ฟรี ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีถ้าใช้งานตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็ฟรี (เช่น ซื้อกองทุนผ่านแบงก์, ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของ TMB ฯลฯ)

ธุรกิจตัวกลางอย่างธนาคาร ถ้าบริการไม่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคนี้ก็พร้อมจะเปลี่ยนไปหาแบงก์อื่นแทบจะทันที ดังนั้นการต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจรายย่อยทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก็ตอบโจทย์ใหญ่ของแบงก์ที่ต้องการเข้ามาอยู่ในทุก Moment ในชีวิตลูกค้า ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน

สุดท้ายแบงก์ยิ่งแข่งกันก็ยิ่งดี เพราะลูกค้าเราจะมีตัวเลือกมากขึ้นแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา