รัฐสภาไทยจัด Open Parliament Hackathon เปิดฐานข้อมูลทั้งหมดเป็นครั้งแรก หวังต่อยอดไปหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในอนาคต

ปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ “หมออ๋อง” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวงาน Open Parliament Hackathon 2024 ที่รัฐสภาไทยจะเปิดข้อมูล Open Data เป็นครั้งแรก เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจะจัดงานในวันที่ 6-7 ส.ค. 2567 และเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาจะเปิดให้นอนค้างคืนได้!

มาร่วมกันทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากขึ้น เข้าถึงได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ร่วมกัน สมัครได้ที่นี่ รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 500 คน ซึ่งปัจจุบันมีสมัครเข้ามามากกว่า 250 คนแล้ว

Open Parliament Hackathon 2024

หมออ๋อง บอกว่า รัฐสภามี 4 หน้าที่หลัก คือ 1. ออกกฎหมาย, 2. ผ่านงบประมาณประจำปี, 3. ติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาล และ 4. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ต้องมีการประเมินผลด้วยว่าทำหน้าที่ทั้ง 4 ได้ดีหรือไม่ ใช้งบประมาณกว่า 6,500 ล้านบาทต่อปี มีเจ้าหน้าที่กว่า 4,000 คน มี สส.​และ สว. สามาถผ่านกฎหมายที่แก้ปัญหาให้กับประชาชนออกมามากน้อยแค่ไหน เช่นปีนี้มีกฎหมายออกมาแค่ 2 ฉบับ คุ้มค่างบประมาณจากภาษีประชาชนแล้วหรือยัง

Open Parliament Hackathon 2024

การทำ Open Data ในครั้งนี้คาดหวังว่าจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความโกรธเกรี้ยวและเปลี่ยนเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนจะได้รู้ว่า รัฐสภามีข้อมูลอะไรบ้าง มีโครงการอะไรที่จะดำเนินการ ใช้งบประมาณเท่าไร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของปีนี้คือ จากงบประมาณรวม มีสัดส่วนเป็นงบด้านไอทีประมาณ 1,000 ล้านบาท พบว่ามีอย่างน้อย 4 โครงการที่ไม่มี หรือ มีประโยชน์น้อยมาก และมูลค่าโครงการสูงด้วย (ตามรูป)

Open Parliament Hackathon 2024

ทั้ง 4 โครงการนี้สั่งระงับไปเรียบร้อยแล้ว และการทำ Open Data จะทำให้เห็นโครงการอื่นๆ อีกว่ามีอะไรบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไร และจะเปิดไปจนถึงโครงการปี 68-70 ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัท Startup ไทยเห็นโครงการ และเตรียมตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนารัฐสภาให้ดีขึ้น เชื่อว่าแค่งบประมาณด้านไอที 1,000 ล้านบาทต่อปี สามารถเปลี่ยนให้รัฐสภาไทย เป็น Digital Parliament ได้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ในอนาคต

“การเปิด Open Data จะสร้างความโปร่งใส ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ได้เห็นว่า โครงการไหนใช้เงินเท่าไร มันสมเหตุสมผลหรือไม่ และเมื่อรัฐสภาทำแล้ว จะเกิด​​ Snow Ball ไหลไปสู่หน่วยงานรัฐอื่นๆ”

ในงาน Open Parliament Hackathon 2024 จะมีกิจกรรมดังนี้

  • ร่วมสร้างสรรค์บริการดิจิทัลจากข้อมูลเปิดของรัฐสภา
  • นำเทคโนโลยี AI, Big Data และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการทำงานของรัฐสภา
  • รับคำแนะนำจาก Tech Mentors และ Parliament Mentors ระดับประเทศ
  • เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับระบบการเมืองไทย

ด้านณัฐพงษ์ บอกว่า การทำ Open Data ศึกษาจากกฎหมายของเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่หน่วยงานภาครัฐพัฒนาเป็นดิจิทัลมากที่สุดของโลก ระบุว่าฐานข้อมูลของรัฐบาลถือเป็นข้อมูลสาธารณะ ทุกอย่างเปิดให้เข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการร่วมกันพัฒนาระบบของประเทศอย่างกว้างขวาง ขณะที่ของประเทศไทยข้อมูลทุกอย่างถูกปิด ถ้าอยากเข้าถึงต้องร้องขอเข้ามา ใช้เวลานาน ถือเป็นส่ิงที่ต้องแก้ไข

Open Parliament Hackathon 2024

สำหรับรัฐสภาไทย มีข้อมูล 4 ระบบ 4 ระบบ มีทั้งกระบวนการงานสภา, บันทึกรายงานการประชุม (ย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นรัฐสภาไทยปี 2475 แต่อยู่ในรูปเอกสารสแกน ถ้าเป็น Full-text จะมีตั้งแต่ราวปี 254x เป็นต้นมา), คลังความรู้ของสภา และเอกสารงบประมาณ โดยข้อมูล 3 ส่วนแรกลอง Dump Database ออกมาแล้วมีขนาดประมาณ 500MB สามารถเอาไปใช้งานด้านต่างๆ ได้อีกมาก

Open Parliament Hackathon 2024

ณัฐพงษ์ ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น รัฐสภาเยอรมนี ที่มีคลิปบันทึกการพูดของ ส.ส. ทุกคนไว้ทั้งหมด และสามารถทำ Full Text Search ค้นหาสิ่งที่ ส.ส. ค้นนั้นพูดไว้ด้วย Keyword มีรูปแบบวิดีโอที่ดูได้ทันที เป็นเครื่องมือตรวจเช็ค Digital Footprint ชั้นดี ใช้จับโกหกนักการเมืองได้ ส่วนไอเดียสิ่งที่น่าทำกับข้อมูลเปิดของรัฐสภาไทย เช่น

  • ระบบวิเคราะห์งบประมาณของรัฐสภา ว่าจ่ายค่าไฟเท่าไร ค่าอาหารเท่าไร แล้วได้กฎหมายกี่ฉบับ
  • ลองเอาบันทึกการประชุมสภาย้อนหลังมาวิเคราะห์ข้อความ ทำ Word Cloud ดูว่ารัฐสภาไทยพูดเรื่องอะไรกันบ่อยที่สุด
  • เอาเอกสารงบประมาณมาประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชัน

Open Parliament Hackathon 2024

Open Parliament Hackathon 2024

หลังจากจบกระบวนการ Hackathon แล้ว โครงการผลักดันรัฐสภาให้เปิดกว้างยังไม่จบลง เพราะไอเดียต่างๆ จะถูกรวบรวมและเสนอเข้าอนุกรรมการด้านไอทีของรัฐสภาอีกที หากมีไอเดียที่น่าสนใจและพัฒนาต่อ ก็จะพัฒนาเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2568-2570 มี TOR ตามระบบ และเชื้อเชิญให้บริษัทสตาร์ตอัพไทยมาแข่งขันกันรับงานไป รัฐสภาจะได้ระบบไอทีที่โดนใจประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ ส่วนสตาร์ตอัพไทยก็จะได้งานภาครัฐไปหล่อเลี้ยงให้ตัวเองเติบโตขึ้นพร้อมกัน

Open Parliament Hackathon 2024

ณัฐพงษ์ เรียกแนวคิดการจ้างบริษัทสตาร์ตอัพไทยว่า Thai-first ควรให้โอกาสบริษัทผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถ มากกว่าการจ้างบริษัท “ขาประจำ” ที่รับงานภาครัฐอยู่บ่อยๆ ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส เผยแพร่ให้คนรู้จักเยอะๆ เน้นการแข่งขัน ไม่ให้ล็อคสเปกได้ โดยตรงนี้พาร์ทเนอร์กับ DEPA ที่มี บัญชีบริการดิจิทัล (Thailand Digital Catalog) รวมรายชื่อบริษัทไทยที่ให้บริการด้านดิจิทัล และสมาคม Thai Startup ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทสตาร์ตอัพจำนวนมากอยู่แล้ว

Open Parliament Hackathon 2024

หมออ๋อง บอกว่าการผลักดัน Open Parliament เป็นภารกิจที่รัฐสภาต้องทำในระยะยาว อย่างน้อยถึงปี 2570 และจะยังเดินหน้าต่อไป แม้พรรคก้าวไกลถูกยุบในวันที่ 7 สิงหาคม เพราะเป็นภารกิจของข้าราชการรัฐสภาด้วย ส่วนณัฐพงษ์บอกว่าถึงแม้พรรคถูกยุบ ตนเองยังมีสถานะเป็น ส.ส. และเป็นบอร์ดไอทีของรัฐสภาเช่นเดิม ก็จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอน อีกทั้งในงาน Hackathon ครั้งนี้ยังมี ส.ส. ของพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าร่วมด้วยเช่นกัน เป็นวาระร่วมของสภามากกว่าจะเป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา