จดหมายเปิดผนึกจากผู้ว่าแบงก์ชาติถึงรัฐมนตรีคลัง: เตรียมขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

หลังขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.75% เป็น 1% เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดแบงก์ชาติส่งจดหมายเปิดผนึกเพื่อชี้แจงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมมาณการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าซึ่งเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ภาพจากธนาคารแห่งประเทศไทย

กระทรวงพาณิชย์ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 6.41% ทำให้ 12 เดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5.23% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปัจจุบัน กนง. ได้ประชุมเมื่อ 28 กันยายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 3.9% สูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมาย

แบงก์ชาติชี้แจงปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการ 12 เดือนข้างหน้าสูงกว่ากรอบเป้าหมาย ดังนี้

มาจากปัจจัยภายนอก

อัตราเงินเฟ้อ 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่ากรอบเป้าหมายเกิดจากแรงกดดันด้านอุปทานเป็นหลัก โดยปัจจัยที่เป็นอุปทานจากต่างประเทศเกิดจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นมาก มีผลทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตาม

ปัจจัยภายใน

ขณะที่ปัจจัยอุปทานจากภายในประเทศ เกิดจากโรคระบาดสุกร ทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นมากตามอุปทานที่ลดลง ขณะที่ราคาอาหารสดหมวดอื่นๆ ก็ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.41%

กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 และมีแนวโน้มทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงดังนี้

หนึ่ง ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่อาจลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปทานน้ำมันโลกที่อาจเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐฯ

สอง ราคาอาหารสดที่คาดว่าจะไม่ปรับขึ้นสูงเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากอุปทานเนื้อสุกรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและต้นทุนปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกลดลง

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้กลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวและปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา – BoT

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา