จดหมายเปิดผนึกจากชาวนา: ชัยชนะที่รอคอยกว่า 19 ปี, 66 วันที่มีทางด่วนเป็นหลังคา

หลังจากที่มีกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยออกมาเรียกร้องกันมาอย่างยาวนานถึง 2 เดือนเศษเพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือ ให้สถาบันการเงินชะลอการฟ้องบังคับคดี ลดหนี้ ปลดหนี้สำหรับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรคเหลือไม่เกิน 25% ตาม พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟู และขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) จากนั้น ทางเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก มีเนื้อหา ดังนี้

จดหมายเปิดผนึก

จดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

กว่า 66 วันที่มีทางด่วนเป็นหลังคา ไม่เคยมองเห็นฟ้าใสอย่างบ้านเราที่จำต้องจากมา เพื่ออนาคตของลูกหลานที่อยู่เบื้องหลังจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ หนี้สินของพวกเราทุกคนที่มากันเป็นหนี้ที่พวกเรารับช่วงมาจากพ่อ-แม่หลังจากที่ท่านทำนาไม่ไหวแล้ว จนมาถึงรุ่นเราก็ยังใช้หนี้ไม่หมด หนำซ้ำยังเพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นเท่าตัว กระทั่งถ้าขายที่นาใช้หนี้ก็อาจใช้ได้ไม่หมด ไม่มีพ่อ-แม่คนใดที่ต้องทนเห็น “หนี้” ต้องเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน

farmer ชาวนา

พวกเราต้องจากบ้านมาอย่างไม่รู้อนาคตว่าจะได้กลับเมื่อใด จะสำเร็จหรือไม่ หากไม่สำเร็จชีวิตที่เหลืออยู่จะไปต่ออย่างไร “ไม่สำเร็จเราจะไม่กลับบ้าน” คือคำประกาศของแกนนำในที่ประชุมหลังมีมติให้เข้ากรุงเทพ ฟังครั้งแรกพวกเราก็รู้สึกหดหู่อย่างไรชอบกลอยู่ แต่เมื่อคิดทบทวนถึงอดีตที่พวกเราลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องมาตลอดระยะเวลากว่า 19 ปี มันก็คงต้องเป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีครั้งใดเลยที่เราจะได้อะไรดีๆ ในชีวิตโดยที่ไม่พึ่งตนเอง หลายสิบปีที่ผ่านเราเคยเชื่อคนที่มาสัญญากับเราถึงหัวบันไดบ้าน แต่ชีวิตไม่เคยมีอะไรดีขึ้นเลย หนำซ้ำพวกเรายังถูกคนที่ปากกินข้าวจากหยาดเหงื่อแรงงานเราด่าเราว่าเป็นหนี้เพราะขี้เกียจ เอาเงินไปกินเหล้า กัดปลา ตีไก่ จัดงานแต่งงานลูกสาวบวชลูกชายกันใหญ่โต ใช้เงินไม่เป็น ไม่รู้จักทำบัญชีครัวเรือน ฯลฯ สารพัดจะกล่าวหา ซึ่งเบื้องหลังของคำกล่าวเช่นนี้ก็คือ “การปัดความรับผิดชอบนั่นเอง” ทำไมไม่พูดเช่นนี้ตอนที่ไปยกมือไหว้พวกเราถึงหัวบันไดบ้านเล่า

พวกเราต้องจำทนต่อความเจ็บปวดต่อคำพูดเหล่านั้นมานานแสนนาน จนเมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา เมื่อพวกเราได้เรียนรู้ถึงอานิสงส์ของการรวมกลุ่มกันของชาวนาอย่างพวกเราที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการรวมกลุ่มกัน ชุมนุม เดินขบวน เรียกร้องสิทธิ์จะเป็นไปได้ หนำซ้ำยังมีแต่ความหวาดกลัวอีกต่างหาก แต่เมื่อทางเลือกทุกทาง ทางออกทุกช่องของพวกเรามันตีบตันไปหมด มันก็กลายเป็นแรงผลักสลัดความกลัวทุกอย่างให้ต้อง “ไปตายเอาดาบหน้า” 

19 ปี ที่เราต้องเรียกร้องสิทธิ์ของเราให้รัฐบาลแก้ปัญหาตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้แล้ว พวกเราต้องชุมนุม เดินขบวน นับครั้งไม่ถ้วน 19 ปีที่แล้วมาพวกเราไม่เคยได้รับการต้อนรับจากชาวกรุงเทพเลย แม้กระทั่งสายตาที่จ้องมองพวกเรา มันก็เป็นสายตาของการหมิ่นแคลน ดูถูก เหยียดหยาม เหมือนพวกเราไม่ใช่คน ยามเมื่อเราต้องเดินขบวนอย่างสงบเสงี่ยมเจียมตนโดยใช้ทางเดินเท้ากับ 1 ช่องจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหารถติดก็ยังไม่วายถูกชาวกรุงเทพเปิดกระจกบีบแตรด่าว่าพวกเรา ยามเมื่อพวกเราต้องข้ามถนนนก็ถูกบีบแตรด่ากันอึงคะนึงลั่นไปหมด บางครั้งถึงขั้นขับฝ่ากลางขบวนพวกเราอย่างกับบ้านเมืองไม่มีกฎหมาย จนเราต้องใช้การ์ดตั้งเป็นกำแพงมนุษย์ป้องกันให้พวกเราข้ามถนน 

เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

เหล่านี้คืออดีตอันขมขื่นและเจ็บปวด “ทำไมคนไม่เท่ากัน” หรือพวกเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ หรือเงินภาษีของพวกเราไม่ได้ใช้ในการพัฒนาเมืองนี้ประเทศนี้ หรือกรุงเทพเป็นเมืองต้องห้ามสำหรับพวกเราคนยากคนจน “หนี้ก็สร้างกันขึ้นมาเองแล้วทำไมไม่มีมีปัญญาใช้หนี้เอง ทำไมต้องเอาภาษีของคนทั้งประเทศไปแก้ปัญหาคนที่ไม่มีวินัยทางการเงินแบบนี้” หรือ “รู้อยู่แล้วว่าทำนาขาดทุน ทำไมไม่ไปทำอาชีพอื่น” หากพวกเราถามกลับบ้างว่า “แล้วประเทศนี้มีทางเลือกอื่นให้กับผู้คนอย่างพวกเรามากนักหรือ” การเปลี่ยนอาชีพไม่ง่ายเหมือนผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้านะ หรือหากพวกเราน้อยใจเลิกปลูกข้าวกันสัก 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ พวกท่านอาจหลงลืมไปก็ได้ว่า “ปากที่ท่านทั้งหลายด่าว่าพวกเรา ท่านก็ต้องกินข้าวจากพวกเราอย่างน้อยก็วันละ 3 มื้อ” เหล่านี้เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวของพวกเราตลอดระยะเวลากว่า 19 ปี

การใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนหน้ากระทรวงการคลังเป็นสถานที่ชุมนุมของพวกเรา เนื่องเพราะมันเป็นภาพจำในอดีตที่เจ็บปวด ขมขื่นนี้ ทั้งที่มันเป็นสถานที่ที่อาจไร้แรงกดดัน ไร้ผู้คนที่จะให้ความสนใจ แต่เราจำเป็นต้องใช้เพราะพวกเราไม่มีอุปกรณ์อะไรมากนักก็ต้องอาศัยทางด่วนแทนหลังคา เราไม่ต้องการให้คนกรุงเทพก่นด่าเราเหมือนที่ผ่านมา ทั้งที่เรายากลำบากกว่าเมื่อพวกเราต้องการเพียงคำตอบว่าเรื่องของพวกเราไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องเดินเท้าไม่ต่ำกว่า 8 กม. ไปทวงถาม ซึ่งไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เป็นทุกครั้งที่ต้องการคำตอบ 66 วัน เราต้องเดินทางเท้าหลายสิบ กม.

66 วัน นานไหมสำหรับปัญหาของพวกเราที่หมักหมมมาหลายสิบปี กว่าสองชั่วอายุคน ตอบได้ว่าไม่นานเลยเมื่อผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้ แต่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่างหากที่ควรจะถามตัวเองว่า มันถูกต้องแล้วหรือ มันยุติธรรมหรือไม่ที่ปล่อยให้พวกเราต้องมานอนข้างถนนถึง 66 วัน

เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้มิใช่อยู่ที่ “หนี้สินของพวกเราได้รับการตัดดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดทิ้งไป แล้วลดเงินต้นคงค้างอีกครึ่งหนึ่ง ให้ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้คืนครึ่งหนึ่งของเงินต้นคงค้างเป็นเวลา 15 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ยและค่าปรับ รวมทั้งยุติการดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งปวงตลอดระยะเวลานั้น” 

ความสำเร็จที่แท้จริงคือ การที่พวกเราได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะคนกรุงเทพ โดยที่พวกเราไม่ได้ดิ้นรนร้องขอด้วยภาพจำในอดีตที่ต้องสงบเสงี่ยมเจียมตนของพวกเรา เป็นครั้งแรกที่ขบวนการชาวนาไทยถูกหยิบยกเป็นประเด็นรณรงค์ใน change.org โดยที่พวกเราก็ไม่เคยรู้จัก พวกเราเขียนประเด็นในการรณรงค์ไม่เป็น ผู้ดูแลเว็บไซต์ก็กรุณาช่วยปรับแต่งให้ พวกเราเล่นโซเชียลมีเดียไม่เป็น ก็ได้ลูกหลานเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วยกันโพสต์ ช่วยกันแชร์ กระจายไปทั่ว จนมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนเกือบ 40,000 คน ซึ่งรายชื่อผู้สนับสนุนเหล่านั้นได้ถูกส่งต่อถึงมือรัฐบาลแล้ว 

ความสำเร็จนี้จะไม่เกิดขึ้นได้ หาก 66 วันนี้ไม่ได้รับการเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งมีเนื้อหาของความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจพวกเราปนเปอยู่หลายส่วนของบรรดาสื่อหลักทั้งหลายทุกแขนงที่เสนอข่าวอย่างต่อเนื่องและไม่ตัดตอนตลอดระยะเวลาดังกล่าว

ความสำเร็จนี้จะไม่เกิดขึ้นได้ หาก 66 วันนี้ ไม่มีข่าวจากลูกหลานสื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลายที่มีการโพสต์ การแชร์ และการเข้ามาเก็บภาพบรรยากาศในที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่องทุกวัน ทรัพยากรทั้งหลายที่จำเป็นต่อการชุมนุมและชีวิตมนุษย์หลั่งไหลมาทุกวันจนเกินพอ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทั้งสดทั้งสำเร็จรูป ผ้ากันแดด ผ้าปูนอน มุ้ง กระทั่งหมอน ยารักษาโรคที่พวกเรายากลำบากเพราะแพ้อากาศกรุงเทพก็ไม่เคยขาดแคลน ยากันยุงทั้งจุดทั้งทา หน้ากากอานามัยเหลือเฟือจนต้องแจกให้กลับไปใช้ที่บ้าน บะหมี่สำเร็จรูปที่ไม่ต้องต้มน้ำซึ่งราคาสูงมีมามากมายจนกลายเป็นอาหารเช้า ฯลฯ และที่สำคัญคือ “น้ำดื่ม” ที่ไม่เคยขาดแคลนเลยตลอดระยะเวลา 66 วัน ทราบจากบรรดาลูกหลานว่า มีการโพสต์ การแชร์ การเข้าดู กว่าล้านครั้ง

เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย

สิ่งสำคัญที่สุดของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นี้คือ การที่พวกเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาตัวเองแต่เพียงลำพังเหมือนเช่นอดีตอันขมขื่นปวดร้าวอีกต่อไปแล้ว สายตาคนกรุงเทพที่เพ่งมองพวกเราเปลี่ยนไปแล้ว ผู้คนที่เอาของมาให้ สายตาของพวกท่านเหล่านั้นไม่ได้มองพวกเราด้วยความสงสาร สมเพชเวทนาในความจน-ความทุกข์ แต่มันเป็นสายตาประกอบคำพูดที่เข้าใจปัญหาของพวกเรา เห็นอกเห็นใจพวกเรา สนับสนุนการต่อสู้ของพวกเรา สะท้อนจากสิ่งของที่เอามาให้ไม่ใช่ของเก่าเหลือใช้เตรียมทิ้ง แต่เป็นของใหม่ มีราคาเสมือนหนึ่งเพิ่งออกจากห้างสรรพสินค้าก็ตรงมาที่ชุมนุม สะท้อนถึงเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ “คนเท่ากัน” ที่ท่านมอบให้เรา และไม่ใช่เอามาจำนวนเล็กน้อยเพื่ออะไรสักอย่าง แต่ขนมากันอย่างเต็มกำลังความสามารถ น้ำดื่มไม่ต่ำกว่ารายละ 10 แพ็ค กระทั่งเป็นร้อยหลายร้อยแพ็คต่อราย ข้าวกล่องไม่ต่ำว่ารายละร้อยกระทั่งหลายร้อยกล่อง ผ้ากันแดด-รองนอน ไม่มาเป็นเมตรแต่มาเป็นม้วน เป็นพับ สิ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาเป็นโหล เป็นกุรุส รถยนต์ที่ขนของมาให้กว่าร้อยละ 80 ราคาเกิน 1 ล้านบาท ประการสำคัญ ไม่ใช่เอามาให้แล้วกลับ แต่มาคุยกับพวกเรา ถามปัญหาพวกเรา ซึมซาบความทุกข์ยากเดือดร้อนของพวกเรา โดยไม่มีอาการรังเกียจเดียดฉันท์ในกลิ่นกายของพวกเรา 

กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไปแล้ว เรามีความสุขแล้วกับการมากรุงเทพแม้ว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราจะไม่คุ้นเคย แต่หัวใจพวกเรากลับพองโต ไม่ว่าพวกเราจะเดินไปไหน หรือนั่งพักริมทางเท้า รถยนต์ที่ผ่านไป-มามีแต่เปิดกระจกทักทาย ชูมือสัญลักษณ์ให้พวกเราสู้อย่าท้อถอย เราข้ามถนนกันได้อย่างสบายใจไม่มีเสียงบีบแตรด่าอีกแล้ว มีแต่ผู้คนเปิดกระจกให้คุณตาคุณยายเดินตามสบายไม่ต้องรีบร้อน เป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี เช่นกันที่ในวันที่เราต้องกลับบ้านมีผู้คนมาส่งพวกเรามากมาย เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นคุณตา คุณยาย ยกมือไหว้ลูกหลานแทนหัวใจที่แสดงความขอบคุณ

ทั้งหมดคือสิ่งที่พวกเราอดทนรอคอยมากว่า 19 ปี ที่หวังว่าสักวันหนึ่งผู้คนของประเทศนี้ แผ่นดินนี้ จะเข้าใจปัญหาของพวกเรา ผู้คนบนแผ่นดินนี้มีหลากหลายกลุ่มปัญหา แต่ละกลุ่มปัญหาก็ต่อสู้ดิ้นรนกันไปตามวิถีทาง แต่พวกเราเชื่อว่า มันจะไม่มีทางสำเร็จ ไม่ยั่งยืน ขจัดรากเหง้ารากฐานของปัญหาได้เลย หากไม่เกิดจากพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันของสังคม พูดไปก็คงไม่พ้นต้องวนเวียนซ้ำซาก แต่อยากบอกผู้คนบนแผ่นดินนี้ว่า บทเรียน 66 วัน พวกเรามีแต่หัวใจที่พองโต สดชื่น ดวงตาที่พร่ามัวเพราะหยาดน้ำใสที่หล่อเลี้ยงไม่ขาดหายในน้ำใจของผู้คนบนแผ่นดินนี้ ไม่สามารถสรรหาคำขอบคุณใดมากล่าวได้อีกแล้ว นอกจากพวกเราขอให้สัญญาว่า เมื่อพันธนาการแห่งหนี้สินที่เปรียบเสมือนตุ้มถ่วงอันหนักอึ้งของพวกเราถูกปลดเปลื้องแล้ว พวกเราจะใช้ชีวิตที่เหลือแม้เพียงน้อยนิดแต่เป็นชีวิตที่เห็นอนาคต ไม่สิ้นหวังเหมือนอดีต ผลิตข้าวปลาอาหารที่มีคุณภาพ พวกเราจะลด ละ และเลิกใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เพื่อแทนคำขอบคุณต่อเหล่าท่านทั้งหลายที่กล่าวได้ไม่หมด

เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย
66 วัน (24 ม.ค. ถึง 30 มี.ค. 65) หน้ากระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่หก
วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 แรม 13 ค่ำ เดือนสี่ ปีฉลู 60 วันก่อนเริ่มฤดูการผลิตใหม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา