เมื่อพูดถึงสื่อเกี่ยวกับเกมในประเทศไทย ชื่อของ Online Station มักถูกพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเริ่มต้นในช่วงยุคเกมออนไลน์บูม มีหัวนิตยสารที่หลากหลาย แถมจัดกิจกรรมเกมต่าง ๆ ทำให้ตัวสื่อเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
แต่ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับกลุ่มเกมเมอร์มากขึ้น รวมถึงเกมต่าง ๆ เริ่มถูกนำไปต่อยอดในมุมธุรกิจ การจะอยู่แค่นิตยสารคงไม่พอ และอาจทำให้องค์กรล่มสลายเหมือนสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ
Online Station จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ พร้อมมุ่งสู่เอเจนซี่เกี่ยวกับเต็มรูปแบบ ซึ่งรายละเอียดการเปลี่ยนผ่านจะเป็นอย่างไร ร่วมกันหาคำตอบกับ ต่อบุญ พ่วงมหา กรรมการผู้จัดการ Online Station กันครับ
เปลี่ยนผ่านจากสิ่งพิมพ์สู่โลกออนไลน์
ต่อบุญ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน Online Station ทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมด ทั้งนิตยสารหัวที่พัฒนาขึ้นเอง และซื้อมาจากต่างประเทศ จึงมีทีมงานนักเขียน และออกแบบสิ่งพิมพ์จำนวนมาก แต่ด้วยโลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันผู้อ่าน รวมถึงตัวธุรกิจมากขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนตาม
“สิ้นปี 2559 เราตัดสินใจหยุดตีพิมพ์นิตยสาร Online Station รวมถึงสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เพื่อมุ่งไปที่โลกออนไลน์เต็มตัว โดยคงจุดเด่นเรื่องข่าวสารเกี่ยวกับเกมเช่นเดิม แต่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ก็ต้องมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะคนที่ทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์ก็ต้องไปทำหน้าที่อื่น ซึ่งอยู่ที่เขาจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนก็อยู่ต่อ ไม่เปลี่ยนก็ต้องจากลา”
การเปลี่ยนผ่านนี้ Online Station ไม่ใช่แค่เอานิตยสารขึ้นมาอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ยังเดินหน้าธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจำหน่ายสินค้าออนไลน์, การรับทำโปรดักชันต่าง ๆ รวมถึงร่วมมือกับหลากหลายแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับบริษัทจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่ Content and Media Business เต็มตัว
เดินหน้าเป็นเอเจนซีเกี่ยวกับเกมครบวงจร
ปัจจุบัน Online Station แบ่งธุรกิจออกมาเป็น 4 ด้านประกอบด้วย
- Online Station สื่อเกี่ยวกับเกมที่สร้างรายได้จากการขายโฆษณา
- OSx Network ผู้ดูแลอินฟลูเอนเซอร์เกี่ยวกับเกม และความบันเทิงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ หลักพันคน
- Thailand Game Show มหกรรมเกมที่ให้ผู้อ่าน, อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงค่ายผู้ผลิตเกม และสินค้ามาเจอกัน
- OSolution เอเจนซีเกี่ยวกับเกมครบวงจร ตอบโจทย์ลูกค้าทุกอุตสาหกรรมด้วย 3 ธุรกิจข้างต้น
“ตอนนี้เรามี 4 ธุรกิจ ตัว Online Station คือธุรกิจดั้งเดิมของเรา และเป็นผู้นำในตลาดนี้ เช่นเดียวกับ OSx Network ที่เราเป็นผู้นำด้วยฐานอินฟลูเอนเซอร์เกี่ยวกับเกมหลักพันคน เป็นเบอร์ 1 ทั้งฝั่ง YouTube และ Facebook Gaming ทั้งตอนนี้ยังขยายไปในความบันเทิงอื่น ๆ เช่น กีฬา และไลฟ์สไตล์ด้วย”
การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ทำให้ Online Staion ในปี 2564 มียอดขาย 800 ล้านบาท มาจากธุรกิจ OSx Network 50%, OSolution 40% และ Thailand Game Show 10% โดยธุรกิจ Online Station จะถูกนับอยู่ใน OSolution และในปี 2565 ทุกธุรกิจยังมีแนวโน้มเติบโตตามอุตสาหกรรมเกมที่เติบโตเช่นกัน
ขณะเดียวกัน Online Station มีแผนจำหน่ายฟอร์แมตรายการต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นเองใน YouTube และ Facebook ให้กับผู้สนใจในต่างประเทศ ผ่านการร่วมมือกับ True Digital Group ที่มีสาขาในฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา และจีน ถือเป็นการเติบโตอีกขั้นของสื่อเกมสัญชาติไทย
อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นหัวหอกธุรกิจ
“มูลค่าตลาดเกมเติบโตเป็นเลขสองหลักทุกปี ถ้าเราอยู่แค่สื่อเกมก็คงสูญเสียโอกาสการเติบโต และเราค่อนข้างโชคดีที่เป็นพาร์ตเนอร์ในการดูแลรายได้คนทำ YouTube รายแรก ๆ ของไทย จากช่วงแรกมีคนในสังกัด 3-5 คน ตอนนี้เรามีเป็นพันคน และ 70% ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม ส่วนบน Facebook Gaming ตอนนี้เรามีราว 200 คน”
อินฟลูเอนเซอร์ระดับเรือธงของ Online Station คือ Zbing z. มียอดผู้ติดตาม 16.7 ล้านคน มากที่สุดในไทย และบริษัทมีการต่อยอดด้วยการนำเจ้าของช่องจากคนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP ผ่านการสร้างตัวละครเสมือน หรือเป็นพรีเซนเตอร์ในสินค้าต่าง ๆ ถือเป็นการสร้างรายได้อีกทางของอินฟลูเอนเซอร์ที่มีฐานผู้ชมจำนวนมาก
กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจ OSx Network สามารถสาร้างรายได้จากกลุ่มแบรนดสินค้าเกี่ยวกับเกม และสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอย่างละครึ่ง จากเดิมที่ 90% ของรายได้จะมาจากแบรนด์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกม โดยการเซ็นสัญญาสนับสนุนระยะยาว หรือ Sponsorship คือวิธีที่แบรนด์ในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเกมให้ความสนใจ
เลิกขายเป็นชิ้น ๆ แต่ขอเสนอเป็นโซลูชัน
“ถึงเราจะเปลี่ยนแค่ไหน แต่ลูกค้าเวลาเข้ามาก็มองเราแค่เกมอยู่ดี ทำให้เราต้องเสนอกลับไปว่าเราทำได้ทุกอย่างตั้งแต่จัดการแข่งขัน, ทำตลาด หรือสร้างการรับรู้ให้กับเกมที่จะมาเปิดให้บริการ จากเดิมที่เราขายเป็นโปรดักต์ เช่น แบนเนอร์ หรือจะใช้อินฟลูเอนเซอร์คนไหน”
ทั้งนี้ Online Station เป็นบริษัทในเครือ TRUE และอยู่ระหว่างร่วมมือกับกันตนา และ IconSiam เพื่อสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ต ใช้สำหรับการแข่งขัน และจัดอีเวนต์ต่าง ๆ เพิ่มความครบวงจรในการทำธุรกิจเอเจนซีเกี่ยวกับเกมครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีค่ายเกมจากต่างประเทศเริ่มติดต่อเข้ามาให้บริษัทรับผิดชอบการทำตลาดมากขึ้น
ปัจจุบัน Online Station มีพนักงานราว 130 คน มีทั้งคนที่อยู่ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์ที่ปัจจุบันไปดูแลเรื่องการรายงานข้อมูล เช่น ข้อมูลการรับชมของอินฟลูเอนเซอร์ และการวางแผนการใส่โฆษณาในแต่ละวีดีโอ เป็นต้น รวมถึงมีคนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลเรื่องการพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์ให้เติบโตไปด้วยกัน
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา