ปฏิเสธไม่ได้ว่า One Piece คือการ์ตูนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และในไทย เพราะด้วยระยะเวลาตีพิมพ์ที่ยาวนานถึง 20 ปี ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกวัย จนแบรนด์สินค้าต่างเลือกใช้ One Piece เพื่อเป็นเครื่องมือการตลาด
ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมที่สุด
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า One Piece นั้นตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนมาตั้งแต่ปี 2540 และถึงปัจจุบันก็ยังไม่จบ แถมมีอนิเมชั่นตั้งแต่ปี 2542 พร้อมภาพยนตร์ รวมถึงเกม และสื่อบันเทิงอื่นๆ จึงไม่แปลกที่ระยะเวลากว่า 20 ปีนี้จะทำให้คนอายุตั้งแต่หลักไม่ถึงสิบขวบจนราว 50 ปีต้องรู้จัก และผูกพันกับลูฟี่ รวมถึงเพื่อนๆ โจรสลัดทั้งหลาย
สำหรับในไทย One Piece ก็น่าจะเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเ เพราะปัจจัยเรื่องระยะเวลาของการดำเนินเรื่อง และการถูกนำอนิเมชั่นไปฉายในฟรีทีวีมาตลอด 20 ปีที่ดำเนินเรื่องเช่นกัน จากจุดนี้เองทำให้แบรนด์สินค้าค่อนข้างเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของคาแรคเตอร์ One Piece และตัดสินใจนำมาเป็นเครื่องมือในการทำตลาด
พนิดา เทวอักษร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีม เอกซ์เพรส จำกัด (DEX) ผู้ดูแลธุรกิจลิขสิทธิ์ One Piece ในไทย เล่าให้ฟังว่า หากรวมมูลค่าสินค้า และบริการที่ใช้ตัวละคร One Piece เป็นเครื่องมือในการทำตลาด เช่นการมีลวดลาย One Piece บนเสื้อ, บัตรเดบิต หรืออื่นๆ จะอยู่ที่ 650 ล้านบาทในปีนี้
650 ล้านบาทไม่ได้มาง่ายๆ และยังโตต่อเนื่อง
“DEX ได้สิทธิ์ในการทำตลาดอนิเมชั่น, ภาพยนตร์, สินค้า Merchandise รวมถึงการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ One Piece ซึ่งที่ผ่านมาความต้องการของแบรนด์ต่างๆ ในการนำตัวละคร One Piece ไม่ว่าจะเป็นลูฟี่, ซันจิ, โซโล และอื่นๆ ไปเป็นส่วนหนึ่งในสินค้า และบริการยังเพิ่มขึ้นตลอด แม้จะเป็นการเพิ่มช้าๆ แต่เป็นการช้าแบบยั่งยืน”
ปัจจุบันมีแบรนด์ที่ทำตลาดในไทยติดต่อใช้ลิขสิทธิ์ตัวละคร One Piece กับ DEX ประมาณ 15-20 ราย เช่นสาหร่ายเถ้าแก่น้อย, สินค้าเด็กโคโดโม ของกลุ่มไลออน, แบรนด์เสื้อผ้า Era-won และธนาคารกสิกรไทยเป็นต้น เมื่อเยอะขนาดนี้ One Piece จึงน่าจะเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดคาแรคเตอร์การ์ตูน 3,000-4,000 ล้านบาทในไทย
“ปี 2563 DEX คาดว่าจะมีแบรนด์ที่ใช้ตัวการ์ตูน One Piece ช่วยทำตลาดถึง 40 ราย เนื่องจากเตรียมเจรจากับกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยวเพิ่มเติม และถ้าเทียบ One Piece รวมถึงตัวการ์ตูนญี่ปุ่นอื่นๆ กับการ์ตูนจากฝั่งสหรัฐอเมริกา ก็ต้องบอกว่าสหรัฐอเมริกานั้นหวือหวากว่า แต่ทางการ์ตูนญี่ปุ่นจะค่อยๆ โตแบบยั่งยืน”
DEX กับการเติบโตตามตลาดคาแรคเตอร์
ส่วนทาง DEX นั้นปัจจุบันบริการจัดการลิขสิทธิ์นอกจาก One Piece อยู่คืออุลตร้าแมน, มาสค์ไรเดอร์, กันดั้ม, โดโมะคุง และ The SALADs การ์ตูนที่ทางบริษัทผลิตขึ้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากมีแบรนด์ต่างๆ ติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ทางบริษัทจะได้ส่วนแบ่งประมาณ 10-15% ของยอดมูลค่านั้นๆ
“ถ้าแบ่งตามการ์ตูนเรื่องต่างๆ ที่ DEX ถือไว้ One Piece คิดเป็นรายได้ครึ่งหนึ่งของบริษัทในปีนี้ หรือประมาณ 150 ล้านบาท จากรายได้ทั้งหมด 300 ล้านบาท และเราคิดว่าตลาดคาแรคเตอร์ปีนี้น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อทุกคนเครียด เศรษฐกิจไม่ดี การมาดูการ์ตูน หรือได้สีสันจากคาแรคเตอร์ต่างๆ ก็คงดีไม่น้อย”
ทั้งนี้ DEX เตรียมจัดงาน One Piece 20th Anniversary in Thailand เพื่อฉลองครบรอบ 20 ปีอนิเมชั่นของ One Piece โดยปีนี้จะจัดทั้งหมด 4 ที่ จากปกติงานประจำปีจะมีเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ DEX ยังเตรียมจัดงานวิ่ง One Piece ภายในปีนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมเกี่ยวกับ One Piece ทั้งหมดบริษัทลงทุนกว่า 15 ล้านบาท
สรุป
ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปเท่าไร การตลาดที่ใช้คาแรคเตอร์การ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์มักจะส่งผลดีให้กับแบรนด์สินค้า และบริการที่เลือกใช้ ดังนั้นหากคิดอะไรไม่ออกวิธีนี้ก็เป็นอีกตอบ แต่ก่อนเลือกใช้ต้องคิดให้ดีก่อนว่าผลิตภัณฑ์เราเหมาะกับคาแรคเตอร์เหล่านั้นหรือไม่ เพราะถ้าไม่ มันก็อาจไม่สำเร็จเสมอไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา