ช่องโทรทัศน์ปกติแล้วก็จะมีรายการหลากหลาย เพื่อรับต้องการผู้ชมทุกกลุ่ม แต่ตอนนี้การทำอะไรเพื่อตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่มไปเลยก็เริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนั่นอาจเป็นที่มาของการฉายละครย้อนหลังทั้งวันหยุดของช่อง One
ทั้งวันทั้งคืนเอาให้จบเป็นเรื่องๆ
ในประเทศไทยก็คงมีแต่ช่อง Mono 29 ที่ฉายภาพยนตร์ และซีรีส์ทั้งวัน ไม่ก็สถานีช่องข่าวต่างๆ ที่มีแต่รายการข่าวสาร ซึ่งรายแรกนั้นดูเหมือนจะค่อนข้างสำเร็จ เพราะสามารถครองเรตติ้งเฉลี่ยอันดับ 3 ของทีวีดิจิทัลไทยเอาไว้ได้ และมันก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยนั้นอาจชอบเปิดโทรทัศน์แช่เอาไว้เพื่อรับชมรายการประเภทเดียวเป็นเวลานานๆ
ยิ่งเป็นช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ การนอนเอกเขนกอยู่ในห้อง พร้อมเปิดแอร์เย็นๆ และนั่งดูโทรทัศน์ไปเพลินๆ ก็คงดีไม่น้อย ซึ่งเนื้อหารายการเหล่านั้นก็คงไม่พ้นภาพยนตร์ หรือซีรีส์ เพราะสามารถนั่งแช่ดูไปเรื่อยๆ จนหมดวันได้ไม่ยาก ดังนั้นจะดีกว่าหรือไม่ถ้าช่องทีวีดิจิทัลเอาความต้องการแบบนี้มาปรับเป็นกลยุทธ์การวางผังรายการ
และนั่นอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ช่อง One ของ “บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ” ปรับผังช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นการแพร่ภาพละครย้อนหลังทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะเป็นละครที่ฉายจบไปแล้ว หรือกำลังฉายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการทำแบบนี้นั้นมีมานานกว่า 1 ปีแล้ว
เรตติ้งขึ้นแบบไม่ต้องสงสัย เพราะเลิกดูไม่ได้
เมื่อการนำละครอย่าง “ชายไม่จริงหญิงแท้”, “บัลลังก์เมฆ”, “เธอคือพรหมลิขิต” รวมถึงละครกระแสแรงอย่าง “พิษสวาท” และ “เมีย 2018” มาฉายในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็ไม่แปลกที่ Rating ในช่วงนั้นของช่อง One จะพุ่งขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากรับชมแล้ว ก็ต้องรับชมต่อเรื่อยๆ ผ่านระยะเวลาการจบที่ชัดเจน
ยิ่ง Rating ดี โฆษณาก็เข้า และถือว่า Win-Win กับทุกฝ่าย ผ่านการที่ช่อง One ก็สามารถขายโฆษณาในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่อาจดูสำคัญน้อยกว่าวันปกติ รวมถึงแบรนด์สินค้าต่างๆ ก็สามารถยิงโฆษณาได้อย่างต่อเนื่องระหว่างที่ผู้บริโภครับชมละครต่างๆ รวมถึงผู้บริโภคก็ใช้เวลาในช่วงวันหยุดที่บางครั้งก็หารายการสนุกๆ ดูไม่ได้ด้วย
ล่าสุดในช่วงวันหยุดยาว 13-15 ต.ค. ทางช่อง One ก็ยังเดินกลยุทธ์นี้อยู่ ผ่านการฉายละคร “เนตรนาคิน” ที่ยังแพร่ภาพอยู่ตอนนี้ โดยการฉายจะเป็นการฉายย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ชมที่ไม่เคยติดตามเรื่องนี้มาก่อน สามารถรับรู้ถึงความสนุก และติดตามต่อได้ในวันธรรมที่ทางช่อง One จัดฉาย
อาจเป็นกลยุทธ์ใหม่ของช่องอื่นๆ ที่ทำตาม
ในอดีตรายการในวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็จะเป็นรายการเพลง, เอาภาพยนตร์ดีๆ มาฉาย หรือไม่ก็เป็นซีรีส์เรื่องพิเศษที่ทำเฉพาะเวลานั้นๆ ซึ่งมันอาจไม่ถูกจริตกับคนในยุคนี้แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างหารับชมได้บนอินเทอร์เน็ตทั่วไป แล้วทำไมคนถึงต้องมาดูละครย้อนหลังทางโทรทัศน์กันล่ะ
ส่วนตัวเชื่อว่าเวลาว่างๆ แล้วเกิดเปลี่ยนช่องไปเจอ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่สนุก หรือมีฉากที่ดึงดูด ก็น่าจะตรึงใจให้ผู้ชมนั้นหยุดการเปลี่ยนช่อง และยิ่งรู้ว่าละครเรื่องนี้ฉายแบบมาราธอน ก็ไม่แปลกที่จะยอมเปิดช่องเดียวเอาไว้ และนั่งดูไปเรื่อยๆ จนกว่าการฉายนั้นจะจบลง
ดังนั้นโอกาสที่ช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ จะเดินกลยุทธ์นี้บ้างก็มีโอกาสเหมือนกัน เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ยาก ยิ่งถ้าทางช่องมีละครดีๆ อยู่ในมือ การนำมาฉายแบบมาราธอนก็คงทำได้เหมือนกัน ส่วนถ้าช่องไหนไม่มี การซื้อซีรีส์ที่เนื้อเรื่องดำเนินแบบไม่จบในตอนมาฉาย ก็น่าจะเป็นอีกโอกาสสร้าง Rating ในช่วงวันนักขัตฤกษ์เช่นกัน
สรุป
กลยุทธ์ในการฉายเนื้อหาแบบมาราธอนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกลุ่มช่องเคเบิลทีวีก็มีกันมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์, ข่าว หรือกีฬา ดังนั้นการนำวิธีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับทีวีดิจิทัลก็คงน่าจะทำได้เหมือนกัน และมันน่าจะดีถ้าสามารถดึงผู้ชมให้อยู่ในช่องของเรานานๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา