บัญชี Omnibus คืออะไร | BI Opinion

บรรณรงค์ พิชญากร
กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง

omnibus

การเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ กับสถาบันการเงินนั้น โดยทั่วไปประเภทบัญชีมีทั้งแบบเปิดตรง และแบบที่เรียกว่าประเภท Omnibus (ออมนิบัส) แล้วบัญชีแบบออมนิบัสนี่มันคืออะไร

ก่อนอื่นการเปิดบัญชีแบบเปิดตรง คือ การเปิดบัญชีที่เปิดเผยรายละเอียดของเจ้าของบัญชีอย่างเรา ๆ กับสถาบันการเงินเลย เช่น เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร หรือซื้อกองทุนรวมโดยตรงกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)​ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า และสถาบันการเงินจะเป็นแบบ 1-1 ซึ่งก็มีความสะดวกหากท่านติดต่อสถาบันการเงินนั้น ๆ เพราะท่านจะต้องมีการเปิดบัญชี และทำการยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินนั้น ๆ รู้จักมักจี่กันไป และสามารถทำธุรกรรมกันไปตามขอบเขตที่สถาบันการเงินนั้นมีการให้การบริการ หรือท่านอาจคุ้นกับการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายกองทุนรวมกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่เป็นตัวแทนสนับสนุนการขายของหลาย ๆ บลจ. ที่ทำให้ท่านติดต่อที่บริษัทหลักทรัพย์เดียว แต่สามารถซื้อขายกองทุนรวมได้ของหลายสถาบันการเงิน 

แต่กรณีหลังในอดีตก็ยังมีปัญหายุ่งยาก คือ ถ้าจะซื้อหลาย ๆ บลจ. ก็อาจต้องกรอกฟอร์มขอเปิดเลขที่ผู้ถือหน่วยของหลายบลจ. แบบฟอร์มซื้อขายก็ต่างกันไป เพราะมันเป็นการเปิดตรงกับบลจ. โดยผ่านบล. ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสนับสนุนการขายเท่านั้น ทำให้ผู้ลงทุนมักบ่นถึงความไม่สะดวก แม้ระยะหลังทั้งอุตสาหกรรมก็มีพัฒนาบริการระบบงานกลางระหว่าง บริษัทนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนและบลจ. โดยครอบคลุมตลอดกระบวนการซื้อขายกองทุนรวม แต่ก็ยังมีปัญหาหยุมหยิมเรื่อยมา เช่น ถ้าท่านเปลี่ยนที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์แทนที่จะแจ้งกับบล. ที่ท่านใช้บริการทีเดียวจบไม่ได้ เพราะท่านอาจต้องทำเอกสารอีกชุด เพื่อเข้าระบบกลางดังกล่าวอีก ทำให้เป็นการยุ่งยาก และบริการหลายอย่างก็ยังอาจทำให้เป็นระบบออนไลน์ไม่ได้ นอกจากนี้ท่านอาจได้รับเอกสารแต่ละบลจ. ที่ท่านซื้อกองทุนรวมของเขาวุ่นวายไปหมด แต่กลับไม่มีที่ไหนให้ภาพรวมการลงทุนของท่านได้

ภาพจาก Shutterstock

ทางออกจึงเป็นการเปิดให้ลูกค้าสามารถใช้บริการออมนิบัส ซึ่งก็คือการเปิดบัญชีกับสถาบันการเงินใด ๆ ที่ท่านติดต่อนั้นเช่นกัน แต่สถาบันการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของท่านในการกระทำการต่าง ๆ โดยท่านไม่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานใด ๆ ที่ต้องไปดำเนินการต่อ เพื่อท่านในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้วุ่นวาย และข้อมูลของท่านก็จะถูกรักษาความลับ ไม่ถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งบัญชีออมนิบัสที่ว่านี่ก็มีการมานานแล้ว โดยเฉพาะกับธุรกรรมที่ท่านต้องทำผ่านตัวแทนนายหน้า เช่น บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบล. ที่ท่านเปิดบัญชีเขาจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับท่าน และก็มีการเปิดบัญชีให้กับท่าน เพื่อเป็นการรับฝากทรัพย์สินให้ด้วย   

สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม ท่านก็สามารถเลือกเปิด “บัญชีซื้อขายกองทุนรวมแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน” เพื่อให้ท่านสามารถติดต่อกับสถาบันการเงินที่ท่านใช้บริการเพียงแห่งเดียว เพื่อให้เป็นตัวแทนทำการแทนท่านในเรื่องอื่น ๆ ที่ท่านมอบหมายไว้ในสัญญาตอนเปิดใช้บริการ และเมื่อท่านจะสอบถามข้อมูล, ทำรายการซื้อขายหลักทรัพย์, จ่ายเงินค่าซื้อขาย, ติดตามข้อมูลผลการดำเนินงาน, เปลี่ยนแปลงข้อมูลที่อยู่ในการติดต่อของท่าน, ยืนยันตัวตน ฯลฯ ก็ทำเพียงแห่งเดียวจบและทำตามวิธีหรือระบบใด ๆ ตามที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ท่านเปิดบัญชีด้วยได้เลยที่เดียว ไม่ต้องทำตามหลายแบบฟอร์มใช้งานหลายระบบ วิ่งติดต่อหลายที่ตามแต่ละสถาบันปลายทาง นอกจากนี้บัญชีออมนิบัสยังมีความจำเป็นสำหรับธุรกรรมที่ต้องการมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ท่านต้องการ เช่น การเปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคล เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนบริหารเงินลงทุนให้ และสุดท้ายแล้วบัญชีประเภทนี้ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวไม่ต้องการให้ข้อมูลส่วนตัวของท่านถูกส่งต่อกระจายไปด้วย 

SET Streaming Investing
ภาพจาก Shutterstock

จุดอ่อนของบัญชีออมนิบัส คือ ใช้กับธุรกรรมการลงทุนที่ท่านต้องการสิทธิลดหย่อนทางภาษีไม่ได้ ซึ่งก็คือการลงทุนในกองทุนรวม RMF, LTF, SSF ที่ บลจ. ผู้บริหารกองทุนเหล่านี้ต้องการข้อมูลและทราบรายละเอียดที่แท้จริงของผู้ถือหน่วยเป็นข้อมูลเพื่อยื่นให้กับภาครัฐฯ เพื่อรับรองสิทธิ์ลดหย่อนทางภาษีให้กับท่าน ดังนั้นหากท่านประสงค์จะลงทุนในลักษณะนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องเปิดบัญชีแบบตรง คือ เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของท่านเพื่อสร้างเลขที่ผู้ถือหน่วย เพื่อใช้อ้างอิงให้กับบลจ. อยู่

การเก็บทรัพย์สินของท่านในบัญชีออมนิบัสจะไปอยู่ในนามของสถาบันการเงินนั้น ๆ ที่แยกต่างหาก เพื่อระบุว่าเป็นทรัพย์สิน “ของลูกค้า” ไม่ปะปนกันกับทรัพย์สินที่เป็นของสถาบันการเงินนั้น ๆ และมีระบบงานที่มีการตรวจสอบที่รัดกุมทั้งภายใน และจากหน่วยงานกำกับภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนได้ ดังนั้นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาก็คือ ท่านควรเลือกสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง, ฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง, มีการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานและเชื่อถือได้ เพื่อให้ท่านสามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจและสบายใจ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา