ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาด OLED พบว่า ปี 2015 ความต้องการใช้จอภาพ OLED ทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 75% เนื่องจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนมาใช้จอภาพ OLED แทน LCD มากขึ้น ทาง SCB EIC มองว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของจอภาพ OLED โดยชิ้นส่วนที่ใช้กับเทคโนโลยี LED ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลิตจอภาพ LCD ที่ไทยมีความสามารถในการผลิตนั้นจะถูกลดการใช้งานลงและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี OLED และไทยยังไม่มีฐานการผลิต OLED ในประเทศอีกด้วย
สำหรับ OLED (Organic Light Emitting Diodes) เป็นเทคโนโลยีจอภาพแบบใหม่ที่มาแทนที่ LCD โดยจอภาพ OLED มีความบางกว่า มีความยืดหยุ่นสามารถพับงอได้ มีลักษณะคล้ายแผ่นฟิล์มที่มีสารอินทรีย์เป็นส่วนประกอบ และเมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้าก็จะสามารถเปล่งแสงได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งกำเนิดแสงของหลอดไฟ LED ที่ส่องจากด้านหลังของจอภาพ (LED-Backlight unit) และยังประหยัดพลังงานมากกว่า
ดังที่กล่าวไปแล้ว OLED ในปี 2015 เติบโต 75% โทรศัพท์มือถือ แบรนด์จีนหลายแบรนด์ เช่น Huawei, OPPO, VIVO และ ZTE และล่าสุด Apple ประกาศว่าจะเปลี่ยนมาใช้ด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดที่ใช้ OLED คือ Samsung
ตลาดโทรศัพท์มือถือนับว่ามีสัดส่วนความต้องการใช้มากที่สุดอยู่ที่ราว 65% ของความต้องการใช้ทั่วโลก รองลงมา คือ ตลาดโทรทัศน์ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 25% ซึ่ง EIC มองว่าความต้องการใช้ในตลาดโทรทัศน์ยังไม่มากในระยะนี้ เนื่องจากความต้องการของตลาดยังจำกัดในตลาดระดับบน และมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย โดยมี LG เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Samsung และ LG แล้ว ผู้ผลิตญี่ปุ่นและจีนหลายราย เช่น Japan Display, Sharp, BOE Technology Group และ Tianma Microelectronics ก็กำลังจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต OLED ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในระยะต่อไป
ภายในปี 2020 ไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี OLED ซึ่งเป็น disruptive technology โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนจอภาพโทรศัพท์มือถือ LCD ในไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากคาดการณ์ว่าจอภาพดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนมาใช้ OLED ทั้งหมดภายในปี 2020
ดังนั้น ชิ้นส่วนที่ใช้กับเทคโนโลยี LED ซึ่งเป็นพื้นฐานในการผลิตจอภาพ LCD อาทิ LED-Backlight unit และ LCD In-cell display ซึ่งปัจจุบันไทยมีฐานการผลิตอยู่ จะถูกลดการใช้งานลงและแทนที่ด้วยเทคโนโลยี OLED
นอกจากนี้ ราคาขายเฉลี่ยต่อ 1 ตารางเมตรของ OLED กำลังปรับลดลงมาใกล้เคียงกับ LCD โดยปัจจุบันห่างกันอยู่แค่ราว 10% และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย EIC มองว่าหาก Samsung มีการเปลี่ยนกลยุทธ์ในตลาดโทรทัศน์ โดยหันมามุ่งเน้นการผลิตโทรทัศน์ OLED มากขึ้น อาจจะส่งผลให้ผู้ผลิตโทรทัศน์ LCD รายอื่นๆ เปลี่ยนมาผลิตโทรทัศน์ OLED ตาม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบโทรทัศน์ LCD ในไทยจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในอดีตประมาณปี 1990 ผู้ผลิตจอภาพญี่ปุ่นหลายรายมีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีจอภาพ OLED แต่ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง จอภาพยังมีข้อเสียที่ต้องพัฒนาอีกมาก จึงยกเลิกการพัฒนาไป ซึ่งมีผลให้ไทยที่นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่น ไม่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตจอภาพ OLED
ปัจจุบันกำลังการผลิตและองค์ความรู้ด้าน OLED จึงอยู่ที่เกาหลีใต้เป็นส่วนใหญ่ EIC มองว่าการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีหน้าจอของไทยยังเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องมีการมุ่งเน้นเป็นสำคัญ เนื่องจากการผลิตจอภาพ LCD ของไทยในปัจจุบันไม่ใช่แค่ต้องเผชิญหน้ากับการคืบคลานเข้ามาแทนที่ของจอภาพ OLED เท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับการผลิตจอภาพ LCD ของจีนที่ต้นทุนถูกและคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย
ผู้ผลิตชิ้นส่วนและประกอบจอภาพ LCD ในไทยควรเตรียมแผนกลยุทธ์เพื่อที่จะลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต EIC แนะการกระจายโครงสร้างสินค้าไปสู่กลุ่มสินค้าใหม่ที่ยังมีอนาคตที่สดใสอยู่ เช่น หลอดไฟส่องสว่างแบบ LED อุปกรณ์ไฟอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ
อีกทั้ง ควรมองหาแนวทางในการที่จะเชื่อมโยงธุรกิจในไทยไปสู่จอภาพ OLED โลกด้วย โดยผ่านการร่วมลงทุน (JV) ควบรวมกิจการ (M&A) หรือเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ (supplier) ให้กับผู้เล่นรายใหม่ที่ผลิต OLED แล้ว เช่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน
Credit Image: wikipedia.org
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา